วันนี้ในอดีต

24 มกราคม วินสตัน เชอร์ชิล อดีตนายกของอังกฤษ ถึงแก่อสัญกรรม

24 มกราคม 2508 วินสตัน เชอร์ชิล (Winston Leonard Spencer-Churchill) ค.ศ.1874-1965 อดีตนายกรัฐมนตรีและรัฐบุรษของอังกฤษ ถึงแก่อสัญกรรม เมื่ออายุได้ 90 ปี

วินสตัน เชอร์ชิล

เซอร์วินสตัน เลนเนิร์ด สเปนเซอร์-เชอร์ชิล (Winston Leonard Spencer-Churchill) เป็นรัฐบุรุษชาวอังกฤษผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรสองสมัย ระหว่างปี 1940 ถึง 1945 และปี 1951 ถึง 1955 ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่าเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุคสงครามของศตวรรษที่ 20 นอกจากนี้

วินสตันยังเป็นทหารในกองทัพอังกฤษ, นักประวัติศาสตร์, นักเขียน, ตลอดจนศิลปิน เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม และยังเป็นบุคคลแรกที่ได้เป็น พลเมืองเกียรติยศแห่งสหรัฐอเมริกา ผู้คนมักนิยมเรียกเขาด้วยชื่อ “วินสตัน” แทนที่จะเรียกด้วยนามสกุล

วินสตันเกิดในตระกูลชนชั้นสูงที่สืบเชื้อสายมาจากดยุกแห่งมาร์ลบะระ สาขาหนึ่งของตระกูลสเปนเซอร์ บิดาของเขาคือ ลอร์ดรันดอล์ฟ เชอร์ชิล นักการเมืองผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีคลัง ส่วนมารดาของเขาคือ เจนนี จีโรม นักสังคมสงเคราะห์ชาวอเมริกัน ในขณะที่ยังเป็นทหารหนุ่ม เขาได้ปฏิบัติภารกิจในบริติชอินเดีย และซูดาน และในสงครามโบเออร์ครั้งที่สอง เขามีชื่อเสียงขึ้นมาจากการเป็นนักข่าวสงครามและเขียนหนังสือเกี่ยวกับปฏิบัติการของเขา

เขาเป็นผู้มีบทบาททางการเมืองแถวหน้ามาตลอดห้าสิบปี ได้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีมากมาย ก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเขาเป็นหัวหน้ากรรมการการค้า, รัฐมนตรีมหาดไทย, และรัฐมนตรียุติธรรม ระหว่างสงคราม เขายังคงดำรงตำแหน่งรัฐมนตรียุติธรรม จนกระทั่งความพ่ายแพ้ของอังกฤษในการทัพกัลลิโพลี

ทำให้เขาต้องออกจากคณะรัฐบาลและไปประจำการราชการทหารอยู่ที่แนวหน้าภาคตะวันตกในตำแหน่งผู้บัญชาการกองพันลูกเสือที่ 6 จนกระทั่งเขาได้กลับคืนคณะรัฐบาลในตำแหน่งรัฐมนตรียุทธภัณฑ์ รัฐมนตรีว่าการสงคราม และ รัฐมนตรีน่านฟ้า และในปี 1921-1922 เป็นรัฐมนตรีว่าการอาณานิคม และต่อมาในปี 1924-1929 เป็นรัฐมนตรีคลังหลวง โดยเขาได้กำหนดให้สกุลเงินปอนด์กลับไปอิงค่าทองคำเหมือนกับยุคก่อนสงคราม ซึ่งทำให้เกิดภาวะเงินฝืดแพร่ไปทั้งเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักร

ภายหลังห่างหายจากงานการเมืองไปในทศวรรษที่ 1930 วินสตันก็ได้กลับมาทำงานการเมืองอีกครั้งเมื่อนาซีเยอรมนีเริ่มที่จะสั่งสมกำลังทหารและดูจะเป็นภัยคุกคามต่ออังกฤษ และแล้วการอุบัติขึ้นอย่างฉับพลันของสงครามโลกครั้งที่สอง ก็ทำให้เขาได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรียุติธรรมอีกครั้ง และภายหลังการลาออกของนายกรัฐมนตรี เนวิล เชมเบอร์ลิน ในวันที่ 10 พฤษภาคม 1940 วินสตันก็กลายเป็นนายกรัฐมนตรี

คำประกาศหนักแน่นของเขาที่จะไม่เป็นผู้ยอมแพ้ได้ช่วยกระตุ้นให้ชาวอังกฤษหันมาต่อต้านนาซีเยอรมนี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงต้นสงครามซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ยากเย็นเมื่อสหราชอาณาจักรและอาณานิคมอังกฤษเป็นเพียงฝ่ายเดียวที่ลุกขึ้นอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ วินสตันได้กล่าวสุนทรพจน์ของเขาผ่านวิทยุกระจายเสียงปลุกขวัญกำลังใจชาวอังกฤษ เขาเป็นผู้นำของอังกฤษไปจนกระทั่งสามารถมีชัยเหนือนาซีเยอรมนีได้

แต่ทว่าการได้รับชัยชนะมาต้องแลกกับการสูญเสียการเป็นอภิมหาอำนาจของโลกให้กับสหรัฐอเมริกาไป เหล่าประเทศอาณานิคมที่ยึดครองได้แก่ อินเดีย มาเลเซีย พม่า เป็นต้นต่างก็ได้เรียกร้องเอกราชจนจำใจต้องยอมเป็นเหตุทำให้จักรวรรดิอังกฤษล่มสลายและกลายเป็นเครือจักรภพแห่งชาติแทน

ภายหลังพรรคอนุรักษนิยมพ่ายการเลือกตั้งในปี 1945 เขาก็ทำหน้าที่เป็นผู้นำฝ่ายค้านต่อรัฐบาลพรรคแรงงาน เขาได้ออกมาเตือนอย่างเปิดเผยถึงอิทธิพลของโซเวียตในยุโรปผ่านมาตรการ “ม่านเหล็ก” และยังส่งเสริมความเป็นหนึ่งเดียวของยุโรป ภายหลังชนะเลือกตั้งในปี 1951 วินสตันก็กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง

ในช่วงการดำรงตำแหน่งครั้งที่สองนี้ รัฐบาลของเขาเต็มไปด้วยข้อราชการต่างประเทศ ทั้งวิกฤตการณ์มาลายา, กบฎมาอูมาอูในเคนยา, สงครามเกาหลี ตลอดจนสนับสนุนการรัฐประหารในอิหร่าน ในปี 1953 เขาเริ่มเจ็บป่วยจากภาวะขาดเลือดในสมอง และลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี 1955

แต่เขายังคงเป็นสมาชิกสภาสามัญชนไปจนถึงปี 1964 วินสตันถึงแก่อสัญกรรมด้วยวัย 90 ปีในปี 1965 โดยสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 พระราชทานรัฐพิธีศพให้เป็นเกียรติ เขายังคงได้รับการกล่าวถึงว่าเป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติอังกฤษ ชื่อของเขาอยู่ในลำดับที่ 1 ของทำเนียบชาวอังกฤษผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาลจากการจัดอันดับในปี 2002

อ่านต่อ

Alinda C.

ฉันเชื่อว่าประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่สำคัญ เป็นสิ่งที่ช่วยให้เราเข้าใจความเป็นมาของสังคมและโลก ประวัติศาสตร์ทำให้เราตระหนักถึงคุณค่าของเสรีภาพและความเท่าเทียมกัน ทำให้เราเรียนรู้จากข้อผิดพลาดในอดีต เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยเดิม

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button