วันนี้ในอดีต

4 พฤษภาคม วันพระราชสมภพ จักรพรรดิคังซี แห่งราชวงศ์ชิง

4 พฤษภาคม 2197 วันพระราชสมภพ จักรพรรดิคังซี (Kangxi) กษัตริย์รัชกาลที่ 4 แห่งราชวงศ์ชิง หรือราชวงศ์แมนจู (Manchu Qing dynasty) เป็นจักรพรรดิยิ่งใหญ่องค์หนึ่งของจีน ครองราชย์ ยาวนานถึง 61 ปี ตั้งแต่ปี 2204-2265

จักรพรรดิคังซี

จักรพรรดิคังซี (康熙帝) หรือพระนามเต็ม อ้ายซินเจฺว๋หลัวเสฺวียนเย่ (愛新覺羅玄燁) จักรพรรดิองค์ที่ 4 แห่งราชวงศ์ชิง เป็นพระโอรสของจักรพรรดิซุ่นจื้อ จักรพรรดิองค์ที่ 3 ขึ้นครองราชย์ตั้งแต่พระชนมายุเพียง 7 พรรษา ในปี ค.ศ. 1661 ภายหลังการสวรรคตของพระราชบิดา จักรพรรดิคังซีมีพระปรีชาสามารถตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ทรงฉายแววความเป็นผู้นำมาตั้งแต่เด็ก โดยโปรดการเรียนรู้ศิลปะ วิทยาการต่าง ๆ ทั้งของในประเทศ และนอกประเทศ โดยพระองค์อยู่ภายใต้การอุปการะดูแลของไท่หวงไทเฮา ผู้เป็นพระอัยยิกาของพระองค์

ในรัชสมัยซุ่นจื่อปีที่ 18 เกิดโรคฝีดาษระบาดที่กรุงปักกิ่ง ได้ระบาดมาในนครต้องห้าม

ช่วงนั้นองค์ซุนจื่อ ติดโรคร้ายนี้สวรรคต

ก่อนสวรรคตได้ตั้งพระราชโอรสองค์ที่ 3 เสฺวียนเย เป็นองค์รัชทายาทและได้ตั้งองคมนตรี สี่คนซึ่งเป็นขุนนางที่ไว้ใจที่สุด

สี่องคมนตรีได้แก่ เอ๋าไป้ สั่วหนี ซูเค่อซ่าฮ่า เอ้ปี๋หลง

เมื่อพระองค์ทรงออกว่าราชการเองเมื่อพระชนมายุได้ 13 พรรษา เมื่อพระชนมายุได้ 19 พรรษา สั่วหนี ประธานองคมนตรีได้ถึงแก่กรรม เอ๋าไป้ (鳌拜) ซึ่งเป็นขุนนางที่รับราชการมาแต่ครั้งจักรพรรดิไท่จง จักรพรรดิองค์ที่ 2 ของราชวงศ์ชิง เอ๋าไป้ เป็นขุนนางที่สำคัญตนว่าเป็นผู้นำองคมนตรีในตอนนั้นมีผู้ให้การยอมรับนับถือจำนานมาก จึงได้กระทำการอย่างไม่เหมาะสมทั้งต่อหน้าและลับหลังพระองค์หลายครั้ง จนในที่สุดก็ก่อการกบฏขึ้น แต่แผนการทั้งหมดได้ถูกทำลายลงโดย อู๋หลิวยิ สั่วเอ๋อถู และกลุ่มขุนนางภักดี

รัชสมัยของจักรพรรดิคังซีนับเป็นระยะเวลาวิกฤตของราชวงศ์ชิง เพราะมีการต่อสู้ระหว่างชาวฮั่นที่ต้องการกู้ราชวงศ์หมิง รวมถึงชนเผ่าอื่น ๆ ที่ต้องการก่อกบฏ จักรพรรดิคังซีทำสงครามภายในประเทศยาวนานถึง 8 ปี จึงพิชิตแคว้นต่าง ๆ ได้ราบคาบ ก่อนที่พระองค์จะมีพระชนมายุ 30 พรรษา ทั้งขยายอาณาเขตถึงมองโกเลียและทิเบต

หนึ่งในนโยบายสร้างความมั่นคงก็คือ สร้างสัมพันธ์กับชาวแมนจูที่อาศัยทางเหนือแต่เดิมให้แข็งแกร่ง ส่งอาวุธและกำลังพลไปรักษาชายแดนแถบนี้บ่อยครั้งเพื่อป้องกันการรุกรานจากชนเผ่าอื่น อีกทั้งยังทรงออกทัพเอง และได้ทำสงครามกับรัสเซียในยุคสมัยของพระเจ้าปีเตอร์มหาราช และได้รับชัยชนะด้วย ซึ่งสงครามได้จบลงที่การสร้างสัมพันธไมตรีต่อกัน รวมถึงการยกทัพบุกพม่า ทำให้จีนในยุคนี้เข้มแข็งและยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์

ขณะเดียวกันเสด็จประพาสดินแดนทางใต้ถึง 6 ครั้ง เพื่อทอดพระเนตรความเจริญ รุ่งเรืองด้านศิลปะและวิชาการของแดนใต้ และสำรวจปัญหาน้ำท่วมไร่นาของชาวนา ซึ่งต่อมาทรงส่งเสริม การสร้างเขื่อนและให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรกับชาวนา

จักรพรรดิคังซีนับเป็นอัจฉริยบุคคล ทรงศึกษาความผิดพลาดของพวกมองโกล ช่วงที่ปกครองชาวฮั่น จึงเปลี่ยนจากวิธีการใช้ไม้แข็งเป็นไม้อ่อน เกลี้ยกล่อมให้เหล่าปราชญ์ราชบัณฑิตที่หนีภัยยุคต้นราชวงศ์สิ้นอำนาจกลับมารับราชการใหม่ ทรงสถาปนากรมจิตรกรรมที่รู้จักในนาม สถาบันจิตรกรรมหัวหยวน คล้ายที่เคยมีในสมัยราชวงศ์ซ่ง นอกจากนี้ทรงดูแลเหล่าปราชญ์และศิลปินอย่างเกษมสำราญ มอบหมายงานให้ทำอย่างเต็มที่ ไม่ว่าด้านสถาปัตยกรรมหรือประวัติศาสตร์ โดยชิ้นที่สำคัญที่สุด คือการจัดทำ พจนานุกรมรวบรวมภาษาจีน ที่เรียกกันว่า พจนานุกรมคังซี

ชีวิตส่วนพระองค์ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นจักรพรรดินักรักพระองค์หนึ่ง มีพระสนมราว 35 คน พระโอรสและพระธิดาราว 55 องค์ จนปลายรัชสมัยเกิดการชิงบัลลังก์เป็นที่วุ่นวาย ผลสุดท้ายองค์ชาย 4 ได้ขึ้นครองบัลลังก์เป็นจักรพรรดิหย่งเจิ้งในเวลาต่อมา

รัชสมัยของจักพรรดิคังซีตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชและราชวงศ์บ้านพลูหลวงของอาณาจักรอยุธยา

จักรพรรดิคังซีสวรรคตในปี 2265 (ค.ศ. 1722) รวมระยะเวลาครองราชย์ยาวนานถึง 61 ปี นับเป็นจักรพรรดิที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดพระองค์หนึ่งในประวัติศาตร์จีน ในยุคสมัยของพระองค์มีเรื่องการเกิดขึ้นต่าง ๆ มากมายเช่น ในนวนิยายต่างๆ ระบุว่าพระองค์นั้นสวรรคตจากการปลงพระชนม์ขององค์ชายสี่ หรือหย่งเจิ้น แต่ปัจจุบันมีการสันนิษฐานว่าพระองค์สวรรคตจากชราภาพเอง เป็นที่เลื่องลือจนถึงปัจจุบัน มีวรรณกรรมต่าง ๆ มากมายที่บอกเล่าถึงยุคสมัยนี้ ไม่ว่าจะเป็น นิยาย ละครโทรทัศน์ หรือ ภาพยนตร์ ที่มีการจัดสร้างหลายต่อหลายครั้งแม้ในปัจจุบัน เรื่องที่มีชื่อเสียงมากคือ นิยายกำลังภายในอิงประวัติศาสตร์ของ กิมย้ง เรื่อง อุ้ยเสี่ยวป้อ

อ่านต่อ

Alinda C.

ฉันเชื่อว่าประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่สำคัญ เป็นสิ่งที่ช่วยให้เราเข้าใจความเป็นมาของสังคมและโลก ประวัติศาสตร์ทำให้เราตระหนักถึงคุณค่าของเสรีภาพและความเท่าเทียมกัน ทำให้เราเรียนรู้จากข้อผิดพลาดในอดีต เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยเดิม

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button