วันนี้ในอดีต

27 มิถุนายน พระกิตติวุฒโฑ ให้สัมภาษณ์ว่า “การฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป”

27 มิถุนายน 2519 พระกิตติวุฒโฑ (พระเทพกิตติ ปัญญาคุณ) ให้สัมภาษณ์ หนังสือพิมพ์ จตุรัส ว่า การฆ่าพวกคอมมิวนิสต์ไม่บาป แต่กลับได้บุญ เปรียบเหมือนการฆ่าปลาเพื่อตักบาตรถวายพระ ส่งผลให้ฝ่ายขวานำไปใช้เป็นคำขวัญว่า “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป”

พระกิตติวุฒโฑ

พระเทพกิตติปัญญาคุณ เกิดเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2479 ที่อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม ต่อมาอุปสมบทในปี 2500 ที่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ โดยมีพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) เป็นพระอุปัชฌาย์ มีผลงานทางด้านการพัฒนาการศึกษาของสงฆ์ การประพันธ์ และแต่งหนังสือเป็นจำนวนมาก

ช่วงก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลา เคยกล่าวว่า ฆ่าคอมมิวนิสต์ ไม่บาป ซึ่งถูกฝ่ายขวา อันได้แก่ นวพล กลุ่มกระทิงแดง ในสมัยนั้นนำไปใช้เป็นวาทกรรม โจมตีฝ่ายซ้าย และยุยงให้คนไทยเกลียดชังนิสิตนักศึกษาที่ชุมนุมต่อต้านการกลับเข้าประเทศของจอมพลถนอม กิตติขจร ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำไปสู่การสังหารหมู่ในเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519

โดยกิตติวุฒโฑให้เหตุผลว่า ใครก็ตามที่ทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ถือว่าเป็นมาร มิใช่มนุษย์ ดังนั้นการฆ่าคอมมิวนิสต์จึงไม่บาป แต่เป็นการฆ่ามาร ซึ่งถือเป็นภาระหน้าที่ของคนไทยที่จะต้องทำ การฆ่านั้นหากเป็นการทำเพื่อประเทศชาติแล้ว แม้จะเป็นบาป แต่ก็ได้บุญในแง่ของการป้องกันประเทศจากศัตรูมากกว่าจะได้บาป

กิตติวุฒโฑเปรียบเทียบการฆ่านี้ว่าเหมือนกับการฆ่าปลาถวายพระ การฆ่าปลาเป็นบาป แต่การนำปลานั้นมาตักบาตรถวายพระ ถือว่าได้บุญมาก ทั้งนี้กิตติวุฒโฑเป็นภิกษุรูปหนึ่งที่มีส่วนในการก่อตั้ง “ขบวนการนวพล” ซึ่งเป็นหน่วยสงครามจิตวิทยา ทำงานร่วมกับ “กระทิงแดง” โดยพยายามรวบรวมนายทุนและภิกษุที่ไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ให้ร่วมกันต่อต้านพลังนักศึกษาและกรรมกร นับเป็นขบวนการที่มีส่วนอย่างมากในการราบปรามนักศึกษาในเหตุการณ์ “6 ตุลา 19”

ภายหลังได้เป็นเจ้าอาวาสที่ วัดจิตตภาวัน จังหวัดชลบุรี ก่อตั้ง จิตตภาวันวิทยาลัย สถาบันการศึกษาทางพุทธศาสนา ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมากว่าสอนหลักธรรมผิดเพี้ยนไปจากแนวทางพุทธศาสนา อีกได้พยายามที่จะสร้างอุโบสถกลางทะเล และระดมทุนก่อสร้างคอนโดธรรมะ แต่ยังไม่บรรลุวัตถุประสงค์ ก็เสียชีวิตไปเสียก่อน เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2548

อ่านต่อ

Alinda C.

ฉันเชื่อว่าประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่สำคัญ เป็นสิ่งที่ช่วยให้เราเข้าใจความเป็นมาของสังคมและโลก ประวัติศาสตร์ทำให้เราตระหนักถึงคุณค่าของเสรีภาพและความเท่าเทียมกัน ทำให้เราเรียนรู้จากข้อผิดพลาดในอดีต เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยเดิม

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button