วันนี้ในอดีต

4 สิงหาคม รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกรมไปรษณีย์

4 สิงหาคม 2426 รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกรมไปรษณีย์และเปิดทำการไปรษณีย์อย่างเป็นทางการ โดยมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ตึกใหญ่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เหนือปากคลองโอ่งอ่าง เรียกว่า “ไปรษณียาคาร” ซึ่งเป็นตึกที่ทำการไปรษณีย์แห่งแรกในประเทศไทย

กรมไปรษณีย์

กรมไปรษณีย์โทรเลข เป็นส่วนราชการระดับกรมในอดีต สังกัดกระทรวงคมนาคม และยุบเลิกโดย พระราชกฤษฎีกายุบกรมไปรษณีย์โทรเลข กระทรวงคมนาคม 2545 อันมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม 2545

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงจัดตั้งการไปรษณีย์ขึ้นในประเทศสยาม และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ เตรียมการจัดตั้งการไปรษณีย์ตามแบบอย่างในต่างประเทศ และดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการกรมไปรษณีย์เป็นพระองค์แรก และได้เปิดรับฝากส่งหนังสือ (จดหมาย) ในเขตพระนครและธนบุรีเป็นการทดลองเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2426 ที่ทำการแห่งแรกตั้งอยู่ที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาตอนปากคลองโอ่งอ่าง เรียกว่า “ไปรษณียาคาร”

ในปี 2429 กรมโทรเลข (ซึ่งได้ก่อตั้งมาก่อนหน้านี้) ได้รับโอนกิจการโทรศัพท์จากกระทรวงกลาโหมมาดำเนินการ และขยายบริการ เปิดให้ประชาชนได้เช่าใช้เครื่องโทรศัพท์ภายในกรุงเทพและธนบุรี เป็นครั้งแรก

ใน ปี 2441 ได้มีการยุบรวมกิจการกรมโทรเลขเข้ากับกรมไปรษณีย์ ใช้ชื่อใหม่ว่า “กรมไปรษณีย์โทรเลข” ดำเนินกิจการไปรษณีย์ โทรศัพท์ และโทรเลข และได้ย้ายที่ทำการมาอยู่ที่ถนนเจริญกรุง

ต่อมาในปี 2472 ได้รับโอนคลังออมสินจากกรมพระคลังมหาสมบัติ มาดำเนินการรับฝากเงินจากประชาชน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2472 และได้แยกคลังออมสินออกไปจัดตั้งเป็นรัฐวิสาหกิจ ในวันที่ 1 เมษายน 2490 และมีการโอนกิจการกิจการโทรศัพท์กรุงเทพฯและธนบุรี ให้องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ในปี 2497

ในปี 2519 ได้มีการจัดตั้งการสื่อสารแห่งประเทศไทย เป็นรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงคมนาคม โดยรับมอบกิจการด้านปฏิบัติการและกิจการให้บริการไปรษณีย์จากกรมไปรษณีย์โทรเลขมาดำเนินการ เปิดดำเนินการเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2520 ซึ่งต่อมาได้มีการแปรรูปเป็นบริษัท 2 บริษัท คือ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด และบริษัท กสท.โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

อ่านต่อ

Alinda C.

ฉันเชื่อว่าประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่สำคัญ เป็นสิ่งที่ช่วยให้เราเข้าใจความเป็นมาของสังคมและโลก ประวัติศาสตร์ทำให้เราตระหนักถึงคุณค่าของเสรีภาพและความเท่าเทียมกัน ทำให้เราเรียนรู้จากข้อผิดพลาดในอดีต เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยเดิม

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button