วันนี้ในอดีต

26 ตุลาคม วันก่อตั้งสมาคมฟุตบอลแห่งอังกฤษ

26 ตุลาคม 2406 วันก่อตั้งสมาคมฟุตบอลแห่งอังกฤษ (The Football Association–The FA) ณ กรุงลอนดอน ก่อตั้งขึ้นเพื่อวางกฏเกณฑ์ กติกาของการเล่นฟุตบอล โดยจะดูแลสโมสรฟุตบอลอาชีพทั้งหมดในอังกฤษ

สมาคมฟุตบอลแห่งอังกฤษ

สมาคมฟุตบอล (The Football Association) หรือ เอฟเอ (FA) เป็นสมาคมฟุตบอลในประเทศอังกฤษ เป็นสมาคมฟุตบอลที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1863 ในปัจจุบันมีเจ้าชายวิลเลียมทรงเป็นประธาน และอยู่ภายใต้พระบรมราชูปถัมภ์ของสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 2 มีทีมชาติอังกฤษ อยู่ในสังกัด และมีรายการฟุตบอลสำคัญ เช่น พรีเมียร์ลีก ฟุตบอลลีก เอฟเอคัพ โดยผู้ร่วมก่อตั้งบางส่วนซึ่งสนับสนุนให้ใช้มือเล่น ได้แยกออกไปตั้งสมาคมรักบี้อังกฤษในเวลาต่อมา เนื่องจากขัดแย้งกับผู้ร่วมก่อตั้งที่ให้ใช้เท้าเล่น

สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย

เมื่อปี พ.ศ. 2440 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เป็นผู้ริเริ่มนำกีฬาฟุตบอล เข้ามาเล่นในไทยเป็นครั้งแรก จนกระทั่งเกิดความนิยมแผ่ขยาย กว้างขวางไปทั่วประเทศ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ก่อตั้งสโมสรคณะฟุตบอลสยาม ขึ้นโดยมีพระองค์และพระบรมวงศานุวงศ์ ทรงลงแข่งขันเป็นผู้เล่นเอง และเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2458 มีการจัดแข่งขัน ในระดับนานาชาติขึ้นเป็นครั้งแรก ระหว่างทีมชาติสยาม (ปัจจุบันคือ ฟุตบอลทีมชาติไทย) กับทีมราชกรีฑาสโมสร ที่สนามราชกรีฑาสโมสร โดยมีดักลาส โรเบิร์ตสัน เป็นกรรมการผู้ตัดสิน

จากนั้นเมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2459 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ก่อตั้งสมาคมฟุตบอลแห่งชาติสยาม ขึ้นโดยทรงรับเข้าอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ตั้งแต่เริ่มแรก พร้อมทั้งตราข้อบังคับสมาคมฯ และแต่งตั้งสภากรรมการบริหารชุดแรก ประกอบด้วยข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ 7 ท่าน โดยมีพระยาประสิทธิ์ศุภการ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ; ต่อมาโปรดเกล้าฯ เลื่อนบรรดาศักดิ์ขึ้นเป็น เจ้าพระยารามราฆพ) เป็นนายกสภาฯ และพระราชดรุณรักษ์ (เสริญ ปันยารชุน; ต่อมาโปรดเกล้าฯ เลื่อนบรรดาศักดิ์ขึ้นเป็น พระยาปรีชานุสาสน์) เป็นเลขาธิการ ต่อมาราวปลายปีเดียวกัน จึงเริ่มจัดการแข่งขันฟุตบอลถ้วยใหญ่ (ถ้วยพระราชทาน ก) และฟุตบอลถ้วยน้อย (ถ้วยพระราชทาน ข) ขึ้นเป็นครั้งแรก

ทั้งนี้สมาคมฯ เข้าร่วมเป็นสมาชิกของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2468 และสืบเนื่องจากที่รัฐบาล จอมพล แปลก พิบูลสงคราม ประกาศรัฐนิยมเปลี่ยนชื่อประเทศ จากสยามเป็นไทยเมื่อปี พ.ศ. 2482 จึงเปลี่ยนชื่อสมาคมเป็นชื่อปัจจุบัน พร้อมทั้งเปลี่ยนชื่อฟุตบอลทีมชาติเป็น ฟุตบอลทีมชาติไทย โดยสมาคมฯ ส่งฟุตบอลทีมชาติไทย ลงแข่งขันระดับนานาชาติเป็นครั้งแรก ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนครั้งที่ 16 ที่นครเมลเบิร์นของออสเตรเลีย เมื่อปี พ.ศ. 2499 จากนั้นสมาคมฯ เข้าร่วมเป็นสมาชิกของสมาพันธ์ฟุตบอลเอเชีย (เอเอฟซี) เมื่อปี พ.ศ. 2500 และเข้าร่วมเป็นสมาชิกก่อตั้ง ของสมาพันธ์ฟุตบอลเอเชีย (เอเอฟเอฟ) เมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2527

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504 สมาคมฯ จัดระบบการแข่งขันฟุตบอลเสียใหม่เป็นระดับชั้น (Divisions) โดยตั้งวัตถุประสงค์เพื่อความเป็นเลิศ ตามรูปแบบของสมาคมฟุตบอลอังกฤษในขณะนั้น โดยนอกจากถ้วยพระราชทาน ประเภท ก (เดิมคือ ฟุตบอลถ้วยใหญ่) และ ข (เดิมคือ ฟุตบอลถ้วยน้อย) แล้วยังเพิ่มถ้วยพระราชทาน ค และ ง เพื่อจัดเป็นระดับชั้นที่ 1-4 ตลอดจนก่อตั้งการแข่งขันระบบแพ้คัดออก (Knock-out) เพื่อชิงถ้วยระดับสโมสรคือ ถ้วยสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย (เริ่มจัดครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2513) รวมถึงระดับทีมนานาชาติ (กล่าวคือทีมชาติประเทศต่างๆ หรือสโมสรฟุตบอลจากนานาชาติ) คือคิงส์คัพ (เริ่มจัดครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2511) และควีนสคัพ (เริ่มจัดครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2513) เป็นต้น นอกจากนี้ ยังจัดการแข่งขันในระดับอื่นเช่น ฟุตบอลนักเรียน, ฟุตบอลอาชีวศึกษา, ฟุตบอลเยาวชนและอนุชน, ฟุตบอลเตรียมอุดมศึกษา, ฟุตบอลอุดมศึกษา รวมทั้งกำกับดูแลในการส่งทีมฟุตบอลต่างๆ เพื่อเข้าร่วมการแข่งขันระหว่างประเทศอีกด้วย

ระยะต่อมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 สมาคมฯ ปรับปรุงระบบการแข่งขันใหม่อีกครั้ง ภายใต้รูปแบบระดับชั้นตามเดิม โดยกำหนดให้มีลีกฟุตบอลอาชีพ แบ่งเป็นระดับสูงสุดคือ ไทยพรีเมียร์ลีก, ระดับที่สองคือ ไทยลีกดิวิชัน 1 และระดับที่สามคือ ไทยลีกดิวิชัน 2 (ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 ปรับปรุงระบบแข่งขันเป็น 5 ลีกย่อย ตามภูมิภาคของประเทศ พร้อมทั้งเปลี่ยนชื่อเป็น ลีกภูมิภาค จนถึงปัจจุบัน) จากนั้นจึงเป็นอีก 3 ระดับสมัครเล่น เพื่อชิงถ้วยพระราชทาน ข, ค และ ง ตามลำดับต่อไป ส่วนถ้วยพระราชทาน ก จัดให้เป็นรางวัลแก่สโมสรที่ชนะเลิศ การแข่งขันนัดพิเศษก่อนเปิดฤดูกาล ระหว่างสโมสรที่ชนะเลิศไทยพรีเมียร์ลีก พบกับสโมสรที่ชนะเลิศไทยเอฟเอคัพ (ลักษณะเดียวกับเอฟเอคอมมิวนิตีชีลด์ของสมาคมฟุตบอลอังกฤษ) สำหรับฟุตบอลชิงถ้วย ของสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย มีการจัดแข่งขันบ้าง หยุดพักไปบ้างเป็นระยะ จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2552 จึงเริ่มกลับมาจัดเป็นประจำทุกปีอีกครั้ง โดยเปลี่ยนชื่อเป็น ไทยเอฟเอคัพ จนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ ในปีต่อมา (พ.ศ. 2553) ยังเพิ่มการแข่งขันในชั้นรองคือ ไทยลีกคัพ ขึ้นมาอีกด้วย

อ่านต่อ

Alinda C.

ฉันเชื่อว่าประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่สำคัญ เป็นสิ่งที่ช่วยให้เราเข้าใจความเป็นมาของสังคมและโลก ประวัติศาสตร์ทำให้เราตระหนักถึงคุณค่าของเสรีภาพและความเท่าเทียมกัน ทำให้เราเรียนรู้จากข้อผิดพลาดในอดีต เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยเดิม

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button