นิทานชาดก

นิทานชาดก : ตระกูลที่ไม่ตายวัยหนุ่ม

ความตายเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องพบเจอ แต่จะมีตระกูลใดบ้างที่คนในตระกูลไม่ตายวัยหนุ่ม เรื่องนี้เกิดขึ้นในสมัยพระพุทธเจ้า เด็กหนุ่มคนหนึ่งชื่อธรรมบาล เกิดในตระกูลที่สืบทอดกันมา 7 ชั่วโคตรว่าคนในตระกูลจะไม่ตายวัยหนุ่ม เรื่องนี้สร้างความสงสัยให้กับอาจารย์ของธรรมบาลเป็นอย่างมาก จึงวางแผนทดสอบความจริง เรื่องราวจะเป็นอย่างไร ติดตามได้ในนิทานชาดกเรื่อง “ตระกูลที่ไม่ตายวัยหนุ่ม”

ตระกูลที่ไม่ตายวัยหนุ่ม

ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่วัดนิโครธาราม เมืองกบิลพัสดุ์ ทรงปรารภความไม่เชื่อของพระบิดา ได้ตรัสอดีตนิทานมาสธก ว่า …

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พระโพธิ์สัตว์เกิดในตระกูลพราหมณ์ รักษาธรรมกุศลกรรมบถ 10 ตระกูลหนึ่ง ในเมืองพาราณสีมีชื่อว่า ธรรมบาล ในตระกูลของเขารวมทั้งทาสคนรับใช้เป็นคนให้ทานรักษาศีลอุโบสถเป็นประจำมิได้ขาด

ธรรมบาลเมื่อเติบโตแล้วได้ไปเรียนศิลปวิทยาที่เมืองตักกสิลา ได้เป็นหัวหน้า มานพ 500 คนที่เรียนด้วยกัน วันหนึ่งลูกชายคนโตของอาจารย์ได้เสียชีวิตลง อาจารย์ ญาติ และลูกศิษย์คนอื่น ๆได้ร้องไห้คร่ำครวญเศร้าโศกอยู่ มีธรรมบาลคนเดียวเท่านั้นที่ไม่ร้องไห้ เมื่อกลับจากป่าช้าแล้วพวกลูกศิษย์ก็พากัน นั่งสนทนากันว่า “น่าเสียดาย ลูกชายอาจารย์ผู้มีมารยาทเรียบร้อย ต้องมาตายเมื่อยังหนุ่มแน่นนะ”

ธรรมบาลถามขึ้นว่า : “เพื่อน.. เป็นเพราะเหตุไรคนถึงตายในวัยหนุ่ม วัยหนุ่มยังไม่ควรตายมิใช่หรือ?” เพื่อนพูดตอบว่า”ธรรมบาล..ท่านไม่รู้จักความตายหรือ?”
ธรรมบาล : “เรารู้ แต่ไม่เคยเห็นใครตายในวัยหนุ่ม เห็นแต่คนแก่ตาย”
เพื่อน : “สังขารทั้งปวงไม่เที่ยงมีแล้วกลับไม่มีมิใช่หรือ?”
ธรรมบาล : ” มีแต่คนตายในวัยแก่ ตายในวัยหนุ่มไม่มี “
เพื่อน : “เป็นประเพณีของตระกูลท่านหรือ?”
ธรรมบาล : “ใช่แล้วล่ะ”

เพื่อนได้นำเอาคำสนทนากันไปเล่าสู่อาจารย์ฟัง อาจารย์ต้องการพิสูจน์ความจริง จึงมอบให้ธรรมบาลเป็นผู้สอนศิษย์แทน ตนเองจะเดินทางไปทำธุระต่างเมืองสั่งธรรมบาลแล้ว ก็ให้นำกระดูกแพะตัวหนึ่งล้างน้ำดีแล้วใส่กระสอบให้คนรับใช้คนหนึ่งถือตามไปด้วย เมื่อถึงบ้านของธรรมบาลแล้วก็เข้าไปสนทนากับบิดาของธรรมบาล แสร้งพูดว่า “พราหมณ์..ลูกชายท่านมีสติปัญญาดีมาก แต่เสียดายเขาได้ตายด้วยโรคอย่างหนึ่งเสียแล้ว ขอท่านอย่าเศร้าโศกเลยนะ”

พราหมณ์พอฟังจบได้ตบมือหัวเราะดังลั่น เมื่อถูกอาจารย์ถามว่า “พราหมณ์..ท่านหัวเราะทำไม?” ก็ตอบว่า “อาจารย์..ลูกฉันยังไม่ตาย ที่ตายนะเป็นคนอื่น” เมื่ออาจารย์นำกระดูกออกมายืนยัน ก็ยังตอบอยู่ว่า “อาจารย์…คงเป็นกระดูกสัตว์หรือกระดูกคนอื่น ลูกฉันยังไม่ตายหรอก เพราะในตระกูลเรา 7 ชั่วโคตรมาแล้ว ไม่เคยมีใครตายในวัยหนุ่มเลยละ” ทุกคนในครอบครัวต่างหัวเราะถือเป็นเรื่องตลกไป สร้างความอัศจรรย์แก่อาจารย์เป็นอย่างยิ่ง

อาจารย์จึงถามต่อเพื่อคลายความสงสัยว่า “พราหมณ์ตระกูลของท่าน เพราะเหตุไร คนวัยหนุ่มจึงไม่มีคนตายละ?” พราหมณ์จึงพรรณนาเหตุของคนวัยหนุ่มในตระกูลไม่มีใครตายว่า “พวกเราประพฤติธรรม ไม่พูดมุสา งดเว้นกรรมชั่วฟังธรรมของสัตบุรุษ ละธรรมอสัตบุรุษก่อนให้ทานพวกเราตั้งใจดีแม้กำลังให้ก็มีใจเบิกบาน

เมื่อให้แล้วก็ไม่เดือดร้อนภายหลัง พวกเราเลี้ยงดูสมณะ คนเดินทางไกล วณิพก ยาจกและคนขัดสนให้อิ่ม พวกเราไม่นอกใจสามีภรรยา งดเว้นจากาการฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ของผู้อื่น ไม่ดื่มของเมา บุตร มารดา บิดา พี่น้อง สามีภรรยา ทาสคนรับใช้ ล้วนแต่ประพฤติธรรมมุ่งประโยชน์ในโลกหน้า เพราะประพฤติธรรมอย่างนี้แหละคนหนุ่ม ของพวกเราจึงไม่ตาย” แล้วกล่าวเป็นคาถาว่า

“ธรรมแลย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม ธรรมที่บุคคลประพฤติดีแล้ว ย่อมนำสุขมาให้ นี่เป็นอานิสงส์ในธรรมที่ประพฤติดีแล้ว ผู้ประพฤติธรรมย่อมไม่ไปสู่ทุคติ”

แล้วพูดต่ออีกว่า “ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรมเหมือนร่มใหญ่ในฤดูฝน ธรรมบาลบุตรของเรามีธรรมคุ้มครองแล้ว กระดูกที่ท่านนำมานี้เป็นกระดูกสัตว์อื่น บุตรของเรายังมีความสุขอยู่”

อาจารย์ฟังจบแล้วขอขมาพราหมณ์ และกล่าวว่า “พราหมณ์.. ข้าพเจ้าขอขมาโทษท่าน นี่เป็นกระดูกแพะ ข้าพเจ้านำมาเพื่อที่จะทดสอบใจท่าน บุตรชายท่านสบายดี ” ว่าแล้วก็อยู่ที่นั่นต่ออีก 2-3 วันจึงกลับเมืองตักกสิลา ให้ธรรมบาลศึกษาศิลปวิทยาจบแล้วก็ส่งตัวกลับคืนบ้าน

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า

ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม ผู้ประสงค์จะให้ตระกูลมั่นคงควรยึดถือปฏิบัติตามเป็นตัวอย่าง

อ่านต่อ

Fern A.

สามารถสร้างสรรค์เรื่องราวที่หลากหลาย ทั้งนิทาน นิทานชาดก และนิทานอีสป โดยฉันจะเน้นไปที่การถ่ายทอดเรื่องราวที่สนุกสนานและเต็มไปด้วยข้อคิดสอนใจ เพื่อให้ผู้อ่านได้รับประโยชน์จากเรื่องราวเหล่านั้น เชื่อว่านิทานเป็นสื่อที่ทรงพลัง สามารถปลูกฝังค่านิยมที่ดีให้กับเด็ก ๆ ได้ นิทานสามารถช่วยให้เด็ก ๆ เรียนรู้เกี่ยวกับโลกรอบตัว รู้จักการคิดวิเคราะห์ รู้จักแยกแยะสิ่งดีสิ่งเลว รู้จักแก้ไขปัญหา และรู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่น

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button