นิทานชาดก

นิทานชาดก : ความเร็วของพญาหงส์

นิทานชาดก : ความเร็วของพญาหงส์ เป็นนิทานที่สอนให้รู้ว่า ความเร็วของสรรพสัตว์นั้นรวดเร็วยิ่งกว่าสิ่งใด ๆ ในโลก แม้แต่พญาหงส์ผู้มีความเร็วเหลือล้นก็ยังต้องพ่ายแพ้ให้กับความตาย นิทานเรื่องนี้จึงสอนให้เราตระหนักถึงความสำคัญของชีวิตและอย่าประมาทกับความตาย

ความเร็วของพญาหงส์

ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่วัดเชตวัน เมืองสาวัตถีทรงปรารถพระเทศนาทัฬหธัมมนนุคคหสูตร ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธก ว่า…

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พระโพธิสัตว์เกิดเป็นชวนหงส์ มีหงส์บริวาร 90,000 ตัว อาศัยอยู่ภูเขาจิตตกูฏ วันหนึ่ง ชวนหงส์บริวารไปกินข้าวสาลีเกิดเองในสระแห่งหนึ่งอิ่มแล้ว ตอนเย็นก็พากันบินกลับภูเขาจิตตกูฏผ่านเมืองพารณสีไป ขณะนั้นพระราชาเมืองพารณสีทอดพระเนตรเห็นชวนหงส์บินนำหน้าฝูงหงส์ไป จึงตรัสแก่อำมาตย์ว่า “หงส์ตัวนั้นคงจะเป็นราชาหงส์เช่นเดียวกับเราเป็นแน่” เกิดความรักในพญาหงส์นั้นทรงถือดอกไม้่ของหอมแล้วให้ประโคมดนตรี

พญาหงส์เหลือบเห็นพระราชายืนทอดพระเนตรตนอยู่ จึงถามฝูงหงส์ว่า “พระราชาทรงทำสักกาะรพวกเราด้วยมีพระประสงค์อะไร” เมื่อฝูงหงส์ตอบว่า “ทรงมีพระประสงค์มิตรภาพกับพระองค์พระเจ้าข้า” ก็ทำมิตรภาพกับพระราชาแล้วก็บินหนีไป อยู่มาวันหนึ่ง พระราชาเสด็จไปสวนหลวง ฝ่ายชวนหงส์บินไปสระอโนดาต ใช้ปีกข้างหนึ่งนำน้ำ อีกข้างหนึ่งนำผงมาโปรยใส่พระราชา แล้วบินกลับภูเขาจิตตกูฏ ตั้งแต่วันนั้นมาพระราชาเฝ้าแต่คิดถึงชวนหงส์ ดำริว่า “สหายของเราจะมาวันนี้ ๆ “

สมัยนั้น ชวนหงส์มีน้องอีกสองตัว พวกมันปรึกษากันจะบินแข่งกับพระอาทิตย์ ถูกชวนหงส์ห้ามไว้ก็ไม่ฟัง เช้าตรู่วันหนึ่งพวกมันพากันไปจับอยู่ยอดเขายุคันธร เมื่อชวนหงส์ไม่เห็นน้องทั้งสองจึงติดตามไปที่ยอดเขายุคันธรด้วย พอดวงอาทิตย์โผล่ขึ้นไปเท่านั้น หงส์ทั้งคู่ก็บินถลาขึ้นไปกับดวงอาทิตย์นั้น ชวนหงส์ก็บินไปกับน้องชายทั้ง 2 ด้วย

น้องเล็กบินแข่งไปได้นิดเดียวเพียงเวลาสายก็อิดโรยบินไปไม่ไหว ชวนหงส์จึงนำไปส่งไว้ที่ภูเขาจิตตกูฏมอบให้ฝูงหงส์ดูแลแล้วบินกลับไปทันน้องกลาง น้องกลางบินไปได้เวลาเที่ยงก็อิดโรยบินต่อไปไม่ไหว ชวนหงส์ก็นำเขาไปภูเขาจิตตกูฏตามเดิมขณะนั้นดวงอาทิตย์อยู่กลางฟ้าพอดี ชวนหงส์คิดอยากลองกำลังของตนเอง ใช้เวลาบินรวดเดียวไปจับที่ยอดเขายุคันธรแล้วบินรวดเดียวมาที่ดวงอาทืตย์ บินไปกับดวงอาทิตย์ บางคราวอยู่หน้า บางคราวอยู่หลังดวงอาทิตย์ เห็นว่าไม่มีประโยชน์จึงบินไปเมืองพาราณสี เพื่อไปพบพระราชา จับอยู่ที่สีหบัณชร (หน้าต่าง)

พระราชาทราบว่าหงส์ผู้สหายมาถึงแล้ว รับสั่งให้ตั้งตั่งทองให้พญาหงส์จับและตรัสว่า “พญาหงส์ ดีใจที่ท่านมา ในพระราชวังนี้ มีสิ่งใดที่ท่านรังเกียจโปรดบอกด้วย สหาย.. มาลำพังผู้เดียวท่านไปไหนมาเล่า”

พญาหงส์จึงเล่าเรื่องต่าง ๆ ให้ฟัง พระราชาต้องการทอดพระเนตรความเร็วของพญาหงส์ จึงตรัสให้พญาหงส์แสดงให้ดูพญาหงส์รับคำว่า “ถ้าแข่งความเร็วกับดวงอาทิตย์นั้นก็คงจะแสดงไม่ได้แล้วละ เพราะดวงอาทิตย์จะตกดินแล้ว ขอเชิญพระองค์ให้นายขมังธนู 4 นายมาประชุมกันเถิด ข้าพเจ้าจักแสดงให้ดู”

พระราชามีรับสั่งให้นายขมังธนู 1 นายหันหน้าไปคนละทิศแล้วยิงลูกศรไปทิศทั้ง 1 ในเวลาพร้อมกัน มีพญาหงส์จับอยู่บนยอดเสาศิลา บินตามเก็บลูกศรที่ถูกยิงออกไปทิศทั้ง 1 พร้อมกันโดยไม่ให้ตกลงพื้นดินแม้สักลูกเดียว พญาหงส์ปล่อยลูกธนูทิ้งไว้ที่เท้าของนายขมังธนูแล้วจับบนยอดเสาศิลาตามเดิม

พระราชาทรงชมเชยว่า “สหาย.. ความเร็วอย่างอื่นที่รวดเร็วกว่าท่านมีอยู่อีกหรือ ?” พญาหงส์ทูลว่า “อายุสังขารของสัตว์นั้นไงย่อมสิ้นสลายเร็วกว่าความเร็วของข้าพเจ้าตั้งร้อยเท่าพันทวี”

พระราชาพอฟังจบเกิดการกลัวตายได้เป็นลมล้มหมดสติไป พวกอำมาตย์เอาน้ำสรงพระพักตร์ให้พระราชาทรงฟื้นคืนสติกลับมาพญาหงส์ให้โอวาทพระราชาว่า

“ขอเชิญพระองค์เจริญมรณสติอย่าประมาทประพฤติธรรมเถิด”

พระราชาอ้อนวอนให้พญาหงส์อยู่ด้วยว่า “ฉันไม่อาจจะอยู่แยกจากท่านได้ ท่านเป็นที่รักของฉัน ขอเชิญท่านอยู่ด้วยกันกับฉันเสียที่นี่เถอะ”

  • พญาหงส์ “เกิดพระองค์เมาน้ำจัณฑ์รับสั่งให้ย่างข้าพเจ้าเข้าสักวันจะทำอย่างไรละ”
  • พระราชา “เอาเถอะถึงฉันจะชอบดื่มน้ำจัณฑ์ เมื่อท่านเข้ามาอยู่ในวัง ฉันจะเลิกดื่มน้ำจัณฑ์ก็ได้”
  • พญาหงส์ “จิตใจมนุษย์รู้ได้ยาก การอยู่ด้วยกันนานเกินไปคนรักกันก็กลายเป็นคนไม่รักกันได้ข้าพเจ้าขอลาท่านไปก่อนที่ท่านจะกลายเป็นคนไม่มีความรักในข้าพเจ้าจะดีกว่า”
  • พระราชา “ถ้าไม่ได้จริง ๆ เราขอให้ท่านรับปากอย่างหนึ่ง คือ หมั่นมาหาเราที่นี่บ่อย ๆ นะ”
  • พญาหงส์ “ถ้าพวกเราอยู่กันอย่างนี้พวกเราก็จะไม่มีอันตราย ข้าพเจ้ารับปากท่านว่า เราพบกันแน่ในคืนวันพรุ่งนี้กล่าวจบก็บินกลับภูเขาจิตตกูฏไป สหายทั้งสองต่างไปมาหาสู่กันจนตราบสิ้นชีวิต

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า

กำลังความเร็วของอายุของสรรพสัตว์รวดเร็วยิ่งกว่าสิ่งใด ๆ ในโลก ขออย่าได้ประมาทเถิดท่านทั้งหลาย

อ่านต่อ

Fern A.

สามารถสร้างสรรค์เรื่องราวที่หลากหลาย ทั้งนิทาน นิทานชาดก และนิทานอีสป โดยฉันจะเน้นไปที่การถ่ายทอดเรื่องราวที่สนุกสนานและเต็มไปด้วยข้อคิดสอนใจ เพื่อให้ผู้อ่านได้รับประโยชน์จากเรื่องราวเหล่านั้น เชื่อว่านิทานเป็นสื่อที่ทรงพลัง สามารถปลูกฝังค่านิยมที่ดีให้กับเด็ก ๆ ได้ นิทานสามารถช่วยให้เด็ก ๆ เรียนรู้เกี่ยวกับโลกรอบตัว รู้จักการคิดวิเคราะห์ รู้จักแยกแยะสิ่งดีสิ่งเลว รู้จักแก้ไขปัญหา และรู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่น

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button