นิทานชาดก

นิทานชาดก : คดีหนูกินผาลเหล็ก

คดีหนูกินผาลเหล็ก นิทานชาดกที่สอนให้รู้ว่า “อย่าโกงคนอื่น เพราะจะถูกโกงกลับ” เรื่องราวเริ่มต้นจากพ่อค้าบ้านนอกที่ฝากผาลเหล็กไว้กับพ่อค้าชาวเมือง แต่พ่อค้าชาวเมืองกลับโกงเอาผาลเหล็กไปขายแล้วเอาขี้หนูมาโรยไว้แทน เมื่อพ่อค้าบ้านนอกมาขอผาลเหล็กคืน พ่อค้าชาวเมืองก็โกหกว่าผาลเหล็กถูกหนูกินไปหมดแล้ว

เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป? พ่อค้าบ้านนอกจะแก้เผ็ดพ่อค้าชาวเมืองได้หรือไม่? ไปติดตามอ่านกันต่อได้ใน นิทานชาดก : คดีหนูกินผาลเหล็ก

คดีหนูกินผาลเหล็ก

ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่วัดเชตวันเมืองสาวัตถี ทรงปรารภพ่อค้าโกงชาวเมืองสาวัตถีคนหนึ่ง ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธก ว่า…

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พระโพธิสัตว์เกิดเป็นอำมาตย์ผู้วินิจฉัยคดีประจำราชสำนักในเมืองพาราณสี สมัยนั้นมีพ่อค้า 2 คนคือพ่อค้าบ้านนอกกับพ่อค้าชาวเมืองเป็นเพื่อนสนิทกัน วันหนึ่ง พ่อค้าบ้านนอกได้ฝากผาลไถเหล็กประมาณ 500 อันไว้กับพ่อค้าชาวเมือง เมื่อถึงฤดูทำนาแล้วจะมารับคืน

พ่อค้าชาวเมืองคิดไม่ซื่อได้ขายผาลเหล็กทั้งหมดไปนำเงินมาใช้แล้วเอาขี้หนูมาโรยไว้บริเวณเก็บผาลเหล็กนั้น เมื่อเวลาผ่านไปหลายเดือนถึงฤดูทำนาพ่อค้าบ้านนอกมาขอรับผาลเหล็กคืน เขาจึงพูดด้วยเสียงละห้อยว่า “เพื่อนเอ๋ย เราเสียใจจริงๆ ผาลเหล็กของท่านถูกหนูกินหมดแล้ว ทิ้งแต่ขี้หนูไว้เป็นอนุสรณ์เท่านั้น แล้วเราจะทำอย่างไรละทีนี้ นั่นเห็นไหม” พร้อมกับชี้ให้ดูขี้หนู

พ่อค้าบ้านนอกคิดไม่ถึงว่าจะถูกเพื่อนโกงซึ่ง ๆ หน้า จึงคิดหาวิธีแก้เผ็ดคืนได้อย่างหนึ่ง ในเย็นของวันนั้นได้อาสาพาลูกชายของพ่อค้าชาวเมืองนั้นไปอาบน้ำที่ท่าน้ำ อาบน้ำเสร็จแล้วขากลับก็ได้แวะที่บ้านเพื่อนคนหนึ่งพร้อมกับมอบเด็กฝากไว้กับเพื่อนคนนั้น พูดกำชับว่า

“ท่านอย่าให้ใครเห็นเด็กคนนี้นะ ใครจะมาขอรับคืนก็อย่าให้ไปเด็ดขาด นอกจากเราคนเดียวเท่านั้น”

ว่าแล้วก็กลับไปบ้านพ่อค้าชาวเมืองพร้อมกับคร่ำครวญให้เขาฟังว่า

“เพื่อนเอ๋ย…เราขอแสดงความเสียใจต่อท่านจริงๆ ลูกชายของท่านนะสิ ขณะที่เราลงเล่นน้ำในแม่น้ำ เขานั่งอยู่ริมฝั่งน้ำ ถูกเหยี่ยวตัวหนึ่งโฉบเอาไปกินเสียแล้ว สุดปัญญาที่เราจะช่วยได้จริงๆละเพื่อน ทีนี้จะทำอย่างไรดีละ”

พ่อค้าชาวเมืองไม่เชื่อว่าเด็กที่โตขนาดนี้แล้วจะถูกเหยี่ยวโฉบเอาไปได้ ด้วยความโกรธจึงชี้หน้าพ่อค้าบ้านนอกพร้อมกับพูดว่า

“อ้ายโจรชั่ว…เจ้าต้องติดคุกแน่นอน เราจะไปแจ้งความดำเนินคดีกับเจ้า”

ว่าแล้วก็ไปแจ้งความ พ่อค้าบ้านนอกก็พูดตอบว่า “เชิญตามสบายเลยเพื่อน จะเอาอย่างนั้นก็ได้” แล้วก็เดินตามหลังเขาไป

ที่ศาล พ่อค้าชาวเมืองแจ้งความกับอำมาตย์โพธิสัตว์ว่า

“นายท่าน พ่อค้าคนนี้นำลูกชายของผมไปอาบน้ำที่ท่าน้ำด้วย แต่เมื่อกลับถึงบ้าน กลับบอกผมว่าลูกชายผมถูกเหยี่ยวโฉบไปกินเสียแล้ว มันจะเป็นไปได้อย่างไร เด็กโตขนาดนี้แล้ว มันต้องฆ่าลูกชายผมแน่เลย”

อำมาตย์จึงถามพ่อค้าบ้านนอกว่า “จริงหรือไม่ ที่ท่านนำเด็กไปอาบน้ำแล้วถูกเหยี่ยวโฉบเอาไปนะ”
เขาตอบว่า “เป็นความจริงครับท่าน”
อำมาตย์ถามว่า “ไม่น่าเชื่อที่เหยี่ยวจะโฉบเอาเด็กที่โตขนาดนี้ไปได้”
เขาก็เรียนให้ทราบว่า “นายท่าน…ถ้าเหยี่ยวไม่สามารถนำเด็กที่โตขนาดนี้บินไปได้ แล้วหนูจะสามารถกินผาลเหล็กไปได้อย่างไร”

พระโพธิสัตว์จึงถามว่า “นี่พ่อคุณ..มันเรื่องอะไรกันแน่”

พ่อค้าบ้านนอกจึงเรียนให้ทราบว่า

“นายท่าน…ผมได้ฝากผาลเหล็กจำนวน 500 อันไว้ที่บ้านพ่อค้าคนนี้ วันนี้ผมมาขอรับคืน เขาบอกว่าหนูได้กินผาลเหล็กไปหมดแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ ถ้าหนูกินผาลเหล็กได้ เหยี่ยวก็สามารถนำเด็กไปได้เช่นกันละขอรับ ถ้าหนูกินผาลเหล็กไม่ได้ เหยี่ยวก็ไม่สามารถนำเด็กไปได้ละขอรับ ขอท่านจงตัดสินคดีด้วยเถิด”

อำมาตย์โพธิสัตว์พอทราบว่าพ่อค้าคนนี้กำลังแก้ลำพ่อค้าคนโกง จึงกล่าวชมเชยเป็นคาถาว่า ท่านได้คิดอุบายตอบอุบายดีแล้ว ได้คิดโกงตอบผู้โกงท่านดีแล้ว

ถ้าหนูทั้งหลายพึงกินผาลได้ เหตุไฉนเหยี่ยวทั้งหลายจะเฉี่ยวเด็กไปไม่ได้เล่า บุคคลที่โกงตอบคนโกงมีอยู่มากในโลก ผู้ที่ล่อล่วงตอบคนล่อลวงก็มีอยู่เหมือนกัน ท่านผู้มีบุตรหายจงให้ผาลแก่เขาเถิด ท่านผู้มีผาลหายก็คืนบุตรมาให้เขาเถิด พ่อค้าบ้านนอกพูดว่า ถ้าเขาคืนผาลเหล็กแก่ผม ผมก็จะคืนลูกชายแก่เขาเหมือนกันละขอรับ

อำมาตย์จึงถามพ่อค้าชาวเมืองว่าจะคืนผาลเหล็กแก่เขาไหม พ่อค้าชาวเมืองยินยอมตามนั้น คนทั้งสองจึงคืนผาลเหล็กและลูกชายแก่กัน ต่างคนก็ต่างแยกย้ายกันไปตามยถากรรม

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า

เพื่อนที่ดีย่อมซื่อสัตย์ต่อกันทั้งต่อหน้าและลับหลัง

อ่านต่อ

Fern A.

สามารถสร้างสรรค์เรื่องราวที่หลากหลาย ทั้งนิทาน นิทานชาดก และนิทานอีสป โดยฉันจะเน้นไปที่การถ่ายทอดเรื่องราวที่สนุกสนานและเต็มไปด้วยข้อคิดสอนใจ เพื่อให้ผู้อ่านได้รับประโยชน์จากเรื่องราวเหล่านั้น เชื่อว่านิทานเป็นสื่อที่ทรงพลัง สามารถปลูกฝังค่านิยมที่ดีให้กับเด็ก ๆ ได้ นิทานสามารถช่วยให้เด็ก ๆ เรียนรู้เกี่ยวกับโลกรอบตัว รู้จักการคิดวิเคราะห์ รู้จักแยกแยะสิ่งดีสิ่งเลว รู้จักแก้ไขปัญหา และรู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่น

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button