นิทานชาดก

นิทานชาดก : ขอในสิ่งที่ไม่ควรขอ

นิทานชาดก : ขอในสิ่งที่ไม่ควรขอ เป็นนิทานชาดกที่สอนให้รู้ว่า การขอในสิ่งที่ไม่ควรขอ จะนำไปสู่ผลเสียที่คาดไม่ถึง ดังเช่นเรื่องราวของดาบสผู้น้องที่ขอแก้วมณีจากพญานาค แม้จะได้รับการสมปรารถนา แต่กลับต้องพบกับความทุกข์ทรมานใจตามมา

Advertisement

ขอในสิ่งที่ไม่ควรขอ

ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่อัคคาฬวเจดีย์เมืองอาฬวี ทรงปรารภกุฏิการสิกขาบทที่ภิกษุชาวเมืองอาฬวีพากันสร้างกุฏิด้วยการเที่ยวขอไม่มีขีดจำกัด เป็นเหตุให้ชาวเมืองอาฬวีเดือดร้อนเห็นพระภิกษุที่ไหนก็กลัวหลบหนีหน้าไปหมด พระองค์จึงตรัสติเตียนพวกภิกษุว่า “ภิกษุทั้งหลาย ขึ้นชื่อว่าการขอ อย่าว่าแต่มนุษย์เลย แม้พวกนาคในนาคภิภพ ก็ไม่ชอบใจ” แล้วทรงนำอดีตนิทานมาสาธก ว่า…

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พระโพธิสัตว์เกิดเป็นพราหมณ์ในตระกูลมั่งคั่งมีทรัพย์สมบัติมากตระกูลหนึ่ง ท่านมีน้องชายอยู่คนหนึ่งรักกันมาก ต่อมาเมื่อมารดาบิดาเสียชีวิตแล้ว พราหมณ์สองพี่น้องก็พากันสละทรัพย์สมบัติบริจาคทานออกบวชเป็นฤาษีบำเพ็ญพรตอยู่ฝั่งแม่น้ำคงคา ฤาษีพี่ชายอยู่ทางทิศเหนือของแม่น้ำ ส่วนฤาษีน้องชายอยู่ทางทิศใต้ของแม่น้ำ

อยู่มาวันหนึ่ง พญานาคมณิกัฏฐะได้แปลงเพศเป็นชายหนุ่มเที่ยวเล่นไปตามฝั่งแม่น้ำคงคา ผ่านไปถึงอาศรมของฤาษีผู้น้องจึงแวะเข้าไปสนทนาปราศรัยด้วยเกิดความสนิทสนมคุ้นเคยชอบพอกันกับฤาษีผู้น้องนั้น จึงเทียวมาเยี่ยมเยือนทุกวันมิได้เว้น เมื่อสนทนาเสร็จก่อนจะกลับก็จะคืนร่างเป็นพญานาคเอาขนดหางตะหวัดรัดรอบฤาษีแผ่พังพานไว้เหนือหัวด้วยความสิเนหาในฤาษีนั้น นอนพักอยู่หน่อยหนึ่งแล้วค่อยคลายร่างออกไหว้ฤาษีแล้วจึงกลับนาคพิภพ จะเป็นเช่นนี้ประจำ

บทความที่เกี่ยวข้อง
Advertisement

ฤาษีนั้นทุกครั้งที่ถูกรัดตัวเกิดความกลัวจึงกินไม่ได้นอนไม่หลับจนร่างกายซูบซีดผ่ายผอมลงทุกวัน วันหนึ่ง ท่านได้แวะไปหาฤาษีพี่ชาย เล่าเรื่องให้ฟังแล้วปรับทุกข์กับพี่ชายว่า “ผมไม่อยากให้พญานาคมาหาผมเลย พี่ช่วยผมหน่อยซิ” พี่ชายถามว่า “พญานาคเวลามา มีเครื่องประดับอะไรไหมละ” “ประดับแก้วมณีมาครับพี่” ท่านตอบพี่ชาย

ฤาษีพี่ชายจึงแนะนำว่า “เมื่อพญานาคมาถึงอาศรมของท่าน ยังไม่ทันได้ไหว้ ท่านก็ขอแก้วมณีของมันเลย มันก็จะหนีไป วันที่สองพอมันมาถึงประตูอาศรมเท่านั้น ท่านก็เอ่ยปากขอแก้วมณีของมันอีก พอถึงวันที่สาม ท่านไปยืนดักรอที่ฝั่งแม่น้ำ พอมันโผล่หัวขึ้นจากฝั่งแม่น้ำเท่านั้น ท่านก็เอ่ยปากขอแก้วมณีอีก ทีนี้แหละมันก็จะไม่มารบกวนท่านอีกเลย”

ฤาษีผู้น้องได้ทำตามนั้น ในวันที่ ๓ พญานาคขณะยืนอยู่ในน้ำเมื่อถูกฤาษีขอแก้วมณีอีก จึงพูดว่า

“ท่านฤาษี ข้าวและน้ำอันไพบูลย์ยิ่งมีแก่ข้าพเจ้าก็เพราะแก้วมณีดวงนี้ ข้าพเจ้าจักให้แก้วมณีแก่ท่านได้อย่างไร ท่านก็ยิ่งขอหนักขึ้น ต่อแต่นี้ไปข้าพเจ้าจักไม่มาอาศรมของท่านอีกแล้วละ เมื่อท่านขอแก้วมณีดวงนี้ทำให้ข้าพเจ้าหวาดเสียวเหมือนชายหนุ่มถือดาบอันคมกริบ”

กล่าวจบก็ดำน้ำลงไปนาคพิภพไม่กลับมาที่นั้นอีกเลย ฝ่ายฤาษี เมื่อพญานาคไปแล้วไม่มาหาอีกกลับคิดถึง เกิดความเศร้าเสียใจมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม จึงยิ่งซูบผอมลงไปมากกว่าเดิมอีก หลายวันต่อมาฤาษีพี่ชายอยากจะทราบเรื่อง จึงแวะมาที่อาศรมน้องชาย เมื่อเห็นน้องชายแล้วยิ่งตกใจจึงถามถึงสาเหตุ ฤาษีน้องชายจึงตอบเป็นคาถาว่า

“บุคคลไม่ควรขอสิ่งที่รู้ว่าเป็นที่รักของเขา อนึ่ง เพราะขอเกินไปย่อมเป็นที่เกลียดชัง นาคราชถูกฤาษีขอแก้วมณี จึงไม่หวนกลับมาให้ฤาษีเห็นอีกเลย”

ฤาษีพี่ชายได้ปลอบน้องชายให้หายเศร้าเสียใจแล้วจึงกลับอาศรมของตน ฤาษีสองพี่น้องบำเพ็ญฌานสมาบัติได้ไปเกิดในพรหมโลกในที่สุด

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า

โดยธรรมชาติของคนและสัตว์ไม่ชอบการขอ ควรขอเท่าที่จำเป็นและขอในสิ่งที่เขาจะสามารถให้ได้เท่านั้น

Advertisement

Advertisement

Fern A.

สามารถสร้างสรรค์เรื่องราวที่หลากหลาย ทั้งนิทาน นิทานชาดก และนิทานอีสป โดยฉันจะเน้นไปที่การถ่ายทอดเรื่องราวที่สนุกสนานและเต็มไปด้วยข้อคิดสอนใจ เพื่อให้ผู้อ่านได้รับประโยชน์จากเรื่องราวเหล่านั้น เชื่อว่านิทานเป็นสื่อที่ทรงพลัง สามารถปลูกฝังค่านิยมที่ดีให้กับเด็ก ๆ ได้ นิทานสามารถช่วยให้เด็ก ๆ เรียนรู้เกี่ยวกับโลกรอบตัว รู้จักการคิดวิเคราะห์ รู้จักแยกแยะสิ่งดีสิ่งเลว รู้จักแก้ไขปัญหา และรู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่น

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button