สุขภาพ

ร้องไห้ดีอย่างไร? ทำให้ร้องได้ง่ายขึ้นด้วยเทคนิคเหล่านี้

เราอาจมีหลายเหตุผลที่ทำให้เราไม่กล้าร้องไห้ ตั้งแต่สมัยเด็กเวลาอยากหลบเลี่ยงพวกเด็กเกเร หรือตอนโตมาแล้วที่พยายามทำตัวดูเข้มแข็งในที่ประชุมสำคัญ บางทีเราอาจมองว่าร้องไห้ออกมาจะดูอ่อนแอหรือไม่เหมาะสมเวลาสถานการณ์ตึงเครียด แต่ที่จริงแล้ว การร้องไห้เมื่ออยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่รู้สึกปลอดภัยนั้นมีประโยชน์อย่างมากเลยเชียวล่ะ ไม่เพียงแต่มันจะเป็นการส่งสัญญาณบอกคนรอบตัวว่าเราต้องการกำลังใจ มันยังช่วยหลั่งสารเอนดอร์ฟินและคลายความเครียดให้เราเริ่มรู้สึกดีขึ้นได้ด้วย

ทำไมเราถึงร้องไห้กันนะ?

สาเหตุที่คนเราร้องไห้เวลาเจออารมณ์รุนแรงหรือเจ็บปวด ยังคงเป็นเรื่องที่นักวิทยาศาสตร์กำลังหาคำตอบอยู่ ผู้เชี่ยวชาญมองว่า การร้องไห้เป็นการส่งสัญญาณทางสังคมเพื่อเรียกร้องความเห็นใจและการช่วยเหลือจากคนรอบข้าง แต่มองจากมุมวิวัฒนาการ การศึกษาเรื่องนี้ทำได้ยากมากเพราะมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวที่ร้องไห้ สัตว์อื่นอาจครางหรือส่งเสียงร้อง แต่มีมนุษย์เท่านั้นที่หลั่งน้ำตา ประกอบกับแสดงสีหน้า อาการหดตัว และอาการตัวสั่น

โดยทั่วไปแล้ว น้ำตาของมนุษย์แบ่งได้เป็น 3 ชนิด:

  • น้ำตาพื้นฐาน (Basal tears): หลั่งออกมาตลอดเวลาเพื่อบำรุงดวงตา
  • น้ำตาจากสิ่งระคายเคือง (Irritant tears): ขับสิ่งระคายเคืองออกจากดวงตา
  • น้ำตาที่เกิดจากอารมณ์ (Emotional tears): เกิดจากอารมณ์รุนแรงและความเจ็บปวด

ร้องไห้แล้วดีอย่างไรบ้าง?

ดังที่กล่าวไปข้างต้น ทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์หลักมองว่าการร้องไห้นั้นช่วยกระตุ้นความเห็นอกเห็นใจจากคนรอบข้าง ส่งผลให้ความสัมพันธ์ของมนุษย์แน่นแฟ้นขึ้น นี่เป็นวิธีสื่อสาร (ทั้งสำหรับเรา เด็ก หรือใครก็ตาม) ว่าเราต้องการความช่วยเหลือ และกระตุ้นให้คนที่เห็นเราร้องไห้เข้ามาช่วยเหลือ

นอกเหนือจากประโยชน์ด้านสังคมแล้ว เชื่อกันอย่างกว้างขวางว่าการร้องไห้นั้นมีประโยชน์ด้านร่างกายด้วย งานวิจัยบางชิ้นชี้ว่าการร้องไห้อาจเป็นการปลอบประโลมตนเอง ช่วยระบายความเจ็บปวดโดยหลั่งสารโอปิออยด์และออกซิโทซินออกมา ในปี 2020 งานวิจัยขนาดเล็กหนึ่งชี้ว่าการบำบัดด้วยการร้องไห้ส่งผลดีต่ออารมณ์และระบบร่างกายของผู้รอดชีวิตจากมะเร็งเต้านม นักบำบัดความโศกเศร้าอย่าง ‘จีน่า มอฟฟา’ ผู้เขียนหนังสือ ‘Moving on Doesn’t Mean Letting Go: A Modern Guide to Navigating Loss’ มองว่า ร้องไห้ไม่เพียงแต่ช่วยกระตุ้นความเห็นอกเห็นใจจากคนอื่น ยังช่วยเราปลดปล่อยความเครียดและอารมณ์ที่อัดอั้นอยู่ข้างในได้อีกด้วย

“การร้องไห้เป็นการเยียวยาที่ช่วยหลั่งเอนดอร์ฟินออกมา ส่งผลให้เรารู้สึกสงบขึ้น” เธอกล่าว “น้ำตาจากอารมณ์สามารถช่วยกำจัดสารพิษในร่างกาย หล่อลื่นดวงตา หรือลดความดันโลหิตและช่วยคลายเครียด นอกจากนี้ การร้องไห้ยังมีประโยชน์ด้านสังคม เพราะช่วยเรียกร้องความเห็นอกเห็นใจและการดูแลเอาใจใส่จากคนรอบข้าง ทำให้เรารู้สึกปลอดภัยขึ้น”

ถึงแม้จะไม่มีหลักฐานยืนยันว่าคนเราจำเป็นต้องร้องไห้ในกำหนดเวลาใด เธอแนะนำว่าเราควรร้องไห้ในที่ที่เรารู้สึกปลอดภัยจะดีที่สุด

วิธีกระตุ้นให้น้ำตาไหล

เอาล่ะ เรารู้แล้วว่าการร้องไห้นั้นสำคัญ แต่จะทำยังไงดีล่ะ? หากคุณเป็นคนหนึ่งที่พยายามกลั้นน้ำตาอยู่ตลอด ให้ลองฝึกฝนการแสดงอารมณ์อย่างอิสระดู

“คนที่ถูกสอนว่าห้ามแสดงอารมณ์หรือไม่ได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการถ่ายทอดความรู้สึก การร้องไห้ออกมาอาจทำได้ยากมาก” มอฟฟา กล่าว “เทคนิคที่ฉันแนะนำเพื่อให้ปลดปล่อยอารมณ์ออกมาเป็นน้ำตาคือ เปิดเพลย์ลิสต์เพลงซึ้ง ๆ ที่มีความหมายกับเรา เขียนไดอารีถ่ายทอดความรู้สึกอย่างอิสระ ดูหนังที่น่าประทับใจหรือเศร้า ลองฝึกการผ่อนคลายตัวเอง หรือจะลองออกกำลังกายโยคะก็ได้ค่ะ”

บางทีคุณอาจเคยเห็นเทรนด์ TikTok ที่สอนเทคนิคผ่อนคลายเพื่อกระตุ้นให้น้ำตาไหล คุณจะลองก็ได้ แต่อย่าลืมทำในสภาพแวดล้อมที่มีคนพร้อมสนับสนุนอารมณ์ของคุณหากต้องการ

“ฉันเชื่อในการปลดปล่อยอารมณ์อย่างปลอดภัย ไม่ว่าจะร้องไห้แบบธรรมชาติหรือกระตุ้นให้ร้องก็ตาม การลองฝึกผ่อนคลายตนเองตามโซเชียลมีเดียเพื่อระบายน้ำตาเป็นวิธีที่ดี เพียงแต่ควรแน่ใจว่าคุณอยู่ในที่ปลอดภัยและมีคนคอยดูแลอารมณ์คุณหลังจากนั้นด้วย” เธอแนะนำ

7 เทคนิคกระตุ้นน้ำตา

หากต้องการเทคนิคเพิ่มเติมเพื่อช่วยในการปลดปล่อยน้ำตา ลองทำตามคำแนะนำดังนี้:

  • ทำเพลย์ลิสต์จากเพลงเศร้าที่คุณร้องตามได้ทุกที (คุณคงรู้แล้วว่าเพลงไหนบ้าง)
  • ค้นหาวิดีโอเรียกน้ำตาบน TikTok หรือ YouTube ลองดูว่าอะไรกระตุ้นให้คุณร้องไห้ได้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นแนวสร้างแรงบันดาลใจ อ่อนไหว เศร้า หรือกระทั่งแนวดราม่า
  • ทดลองฝึกการผ่อนคลายตนเอง
  • ฟังพอดแคสต์แนวดราม่า
  • ดูหนังเรียกน้ำตา
  • เขียนระบายความเศร้าและโศกเศร้าลงบนไดอารี่
  • ลองฝึกท่าโยคะที่ช่วยปลดปล่อยความเศร้า (ท่าพิราบนิยมใช้ในการกระตุ้นน้ำตา)

สรุป

การร้องไห้ไม่ได้เป็นสัญญาณของความอ่อนแอ แต่กลับเป็นกลไกของร่างกายเพื่อถ่ายทอดความรู้สึกออกมา อีกทั้งยังมีประโยชน์หลายอย่างทั้งต่อด้านร่างกายและจิตใจ หากคุณเป็นคนที่ค่อนข้างกลั้นน้ำตา อย่าอายที่จะฝึกฝนการแสดงออกทางอารมณ์อย่างเปิดเผยและจริงใจเมื่อรู้สึกปลอดภัยที่จะทำเช่นนั้นนะคะ

อ่านต่อ

NaniTalk S.

เป็นนักเขียนที่ขยันขันแข็งและมุ่งมั่นที่จะผลิตเนื้อหาที่มีคุณภาพ เรียนรู้และเติบโตอยู่เสมอ เชื่อว่าเนื้อหาที่ดีสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อโลกได้

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button