เรื่องน่าสนใจ

ประวัติและกติกาตะกร้อ ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ

เซปักตะกร้อ หรือ ตะกร้อ เป็นการละเล่นของไทยมาแต่โบราณ หลายคนก็คงอยากรู้จักกับประวัติตะกร้อและกฏกติกาตะกร้อ ให้มากขึ้นเพื่อความสนุกในการชมและเชียร์เวลามีการแข่งขัน

Advertisement
ประวัติกีฬาตะกร้อ

ประวัติกีฬาตะกร้อ

ตะกร้อ หรือ เซปักตะกร้อ (ภาษาอังกฤษ: Sepak takraw) เป็นการละเล่นของไทยมาแต่โบราณสามารถอ้างอิงกีฬาชนิดนี้ได้จากภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วัดพระแก้ว กรุงเทพฯ ซึ่งสร้างตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1785 ซึ่งภาพศิลปะเรื่องรามเกียรติ์ มีภาพการเล่นตะกร้อแสดงไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้รับรู้ เป็นภาพ หนุมานกำลังเล่นเซปัก ตะกร้อ อยู่ท่ามกลางกองทัพลิง นอกเหนือจากหลักฐานภาพจิตรกรรมดังกล่าว

ในการค้นคว้าหลักฐานเกี่ยวกับแหล่งกำเนิดการเล่นกีฬาตะกร้อในอดีตนั้น ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้อย่างชัดเจนว่าตะกร้อนั้นกำเนิดจากที่ใด การเล่นตะกร้อมีวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่องมาตามลำดับทั้งด้านรูปแบบและวัตถุดิบในการทำจากสมัยแรกเป็นผ้า,หนังสัตว์,หวาย,จนถึงประเภทสารสังเคราะห์ (พลาสติก) มีหลายประเทศในแถบเอเชียที่เล่นกีฬาประเภทนี้คล้ายกัน

มีหลักฐานการเล่นตะกร้อในรัฐสุลต่านมะละกาช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 15 โดยมีการบันทึกในพงศาวดารมลายู พม่ามีการเล่นเป็นกีฬาที่มีมายาวนาน ซึ่งเรียกว่า “ชี่นโล่น” ฟิลิปปินส์ นิยมเล่นกีฬาชนิดนี้กันมานานแล้ว โดยมีชื่อเรียกว่า ซิปะก์ ประเทศจีนมีเกมกีฬาที่คล้ายตะกร้อ แต่เป็นการเตะลูกหนังปักขนไก่ ซึ่งปรากฏในภาพเขียนและพงศาวดารจีน ประเทศเกาหลีมีเกมกีฬาลักษณะคล้ายคลึงกับของจีนแต่ใช้ดินเหนียวห่อด้วยผ้าสำลีเอาหางไก่ฟ้าปัก แทนการใช้ลูกหนังปักขนไก่

การเล่นตะกร้อได้มีวิวัฒนาการในการเล่นมาอย่างต่อเนื่อง ในสมัยแรก ๆ เป็นเพียงการช่วยกันเตะลูกไม่ให้ตกถึงพื้นต่อมาเมื่อเกิดความชำนาญและหลีกหนีความจำเจ ก็คงมีการเริ่มเล่นด้วยศีรษะ เข่า ศอก ไหล่ มีการจัดเพิ่มท่าให้ยากและสวยงามขึ้นตามลำดับ จากนั้นก็ตกลงวางกติกาการเล่นโดยเอื้ออำนวยต่อผู้เล่นเป็นส่วนรวม อาจแตกต่างไปตามสภาพภูมิประเทศของแต่ละพื้นที่ แต่คงมีความใกล้เคียงกันมากพอสมควร

Advertisement
กติกาตะกร้อ

กติกาตะกร้อ

การแข่งขันตะกร้อในระดับนานาชาติ เรียกเกมกีฬาชนิดนี้ว่าเซปักตะกร้อ โดยเป็นการแข่งขันของผู้เล่น 2 ทีม ทำการโต้ตะกร้อข้ามตาข่ายเพื่อให้ลงในแดนของคู่ต่อสู้ สามารถแบ่งแยกย่อยเป็น 2 ประเภทคือ “เรกู” หรือทีม 3 คน และ “ดับเบิ้ล เรกู” หรือก็คือ ตะกร้อคู่

ผู้เล่น

ประเภทเดี่ยว มีผู้เล่นตัวจริง 3 คน สำรอง 1 คน ประเภททีม ประกอบด้วย 3 ทีม มีผู้เล่น 9 คน และผู้เล่นสำรอง 3 คน ตำแหน่งของผู้เล่น มี 3 ตำแหน่ง คือ

  • หลัง (Back) เป็นผู้เตะตะกร้อจากวงกลม
  • หน้าซ้าย
  • หน้าขวา

การเปลี่ยนตัวผู้เล่น

ในทีมเดี่ยวเปลี่ยนตัวได้ 1 คน และถ้าเหลือน้อยกว่า 3 คน ถือว่าแพ้ ผู้มีชื่อในทีมเดี่ยวที่เล่นมานานแล้ว จะลงเล่นในทีมเดี่ยวต่อไปไม่ได้

การเสี่ยงและการอบอุ่นร่างกาย

มีการเสี่ยง ผู้ชนะการเสี่ยงจะได้เลือกข้างหรือส่งลูก ทีมที่ได้ส่งลูกจะได้อบอุ่นร่างกายก่อน เป็นเวลา 2 นาที พร้อมเจ้าหน้าที่และนักกีฬาไม่เกิน 5 คน

ตำแหน่งของผู้เล่นระหว่างการส่งลูกเสิร์ฟ

เมื่อเริ่มเล่นทั้ง 2 ทีมพร้อมในแดนของตนเอง ผู้เล่นฝ่ายเสิร์ฟจะต้องอยู่ในวงกลมของตนเอง เมื่อเสิร์ฟแล้วจึงเคลื่อนที่ได้ ส่วนผู้เล่นฝ่ายรับจะยืนที่ใดก็ได้

การเปลี่ยนส่ง

ให้เปลี่ยนการส่งลูกเมื่อฝ่ายส่งลูกผิดกติกา หรือ ฝ่ายรับทำลูกให้ตกบนพื้นที่ของฝ่ายส่งได้

การขอเวลานอก

ขอได้เซตละ 1 ครั้ง ๆ ละ 1 นาที

การนับคะแนน

การแข่งขันใช้แบบ 2 ใน 3 เซต ในเซตที่ 1 และเซตที่ 2 จะมีคะแนนสูงสุด 15 คะแนน ทีมใดได้ 15 คะแนนก่อน จะเป็นผู้ชนะในเซตนั้น ๆ ทั้ง 2 เซต จะไม่มีดิวส์ หากทั้งสองทีมได้ 13 ก่อน หรือ 14 เท่ากัน พักระหว่างเซต 2 นาที ถ้าเสมอกัน 1:1 เซต ให้ทำการแข่งขันเซตที่ 3 ด้วยไทเบรก โดยเริ่มด้วยการเสี่ยงใหม่ โดยใช้คะแนน 6 คะแนน ทีมใดได้ 6 คะแนนก่อนเป็นผู้ชนะ แต่จะต้องแพ้ชนะอย่างน้อย 2 คะแนน

ถ้ายังไม่แพ้กันไม่น้อยกว่า 2 คะแนน ก็ให้ทำการแข่งขันอีก 2 คะแนน แต่ไม่เกิน 8 คะแนน เช่น 8:6 หทรือ 8:7 ถือเป็นการยุติการแข่งขันระบบไทเบรก เมื่อฝ่ายใดก็ตามได้ 3 คะแนน และขอเวลานอกได้เซตละ 1 ครั้ง ครั้งละ 1 นาที สำหรับไทเบรก ขอเวลาได้ 1 ครั้ง ครั้งละ 30 วินาที

ขนาดสนามตะกร้อ

ขนาดสนามตะกร้อ

สนามแข่งขันเซปักตะกร้อ มีรูปร่างสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดประมาณ 2 เท่าของสนามแบดมินตัน มีความยาว 13.40 เมตร กว้าง 6.1 เมตร เพดานหรือสิ่งกีดขวางอื่นใด ต้องอยู่สูงกว่าสนามไม่น้อยกว่า 8 เมตร จากพื้นสนาม (ไม่เป็นพื้นหญ้า หรือพื้นทราย) และต้องไม่มีสิ่งกีดขวางอื่นใดในระยะ 3 เมตรจากขอบสนามโดยรอบ

ความกว้างของเส้นขอบทั้งหมดวัดจากด้านนอกเข้ามาไม่เกิน 4 เซนติเมตร ส่วนเส้นแบ่งแดนความกว้างไม่เกิน 2 เซนติเมตร โดยลากเส้นแบ่งแดนทั้ง 2 ข้างออกตามแนวขวาง แนวเส้นทับพื้นที่ของแต่ละแดนเท่า ๆ กัน เส้นขอบทั้งหมดนับรวมเป็นส่วนหนึ่งของแดนสำหรับผู้เล่นแต่ละฝ่าย

ปลายของเส้นแบ่งแดน ใช้เป็นจุดศูนย์กลางลากเส้นโค้งครึ่งวงกลมความกว้างเส้น 4 เซนติเมตร โดยขอบในของเส้นโค้งครึ่งวงกลมมีรัศมี 90 เซนติเมตร กำหนดไว้เป็นตำแหน่งยืนของผู้เล่นหน้าซ้าย และหน้าขวา ในขณะที่ส่งลูก

แดนทั้งสองจะมีวงกลมซึ่งกำหนดเป็นจุดยืนสำหรับผู้ส่งลูก โดยวาดเป็นวงกลมขอบในมีรัศมี 30 เซนติเมตร ความกว้างของเส้นคือ 4 เซนติเมตร จุดศูนย์กลางอยู่ที่ระยะ 2.45 เมตรจากเส้นหลังของแต่ละแดน และอยู่กึ่งกลางตามแนวกว้างของสนาม

ตาข่าย

ตาข่ายจะถูกขึงกั้นแบ่งแดนทั้งสองออกจากกัน ทำจากวัสดุจำพวกเชือกหรือไนลอน ความสูงของตาข่ายบริเวณกึ่งกลาง คือ 1.52 เมตรสำหรับนักกีฬาชาย (1.42 เมตรสำหรับนักกีฬาหญิง) ส่วนความสูงบริเวณเสายึดตาข่าย คือ 1.55 เมตรสำหรับนักกีฬาชาย (1.45 เมตรสำหรับนักกีฬาหญิง) ตาข่ายมีขนาดรู 6 – 8 เซนติเมตร ผืนตาข่ายมีความกว้าง 70 เซนติเมตร และยาวไม่น้อยกว่า 6.1 เมตร

วิธีการเล่นตะกร้อ

  1. ผู้เล่นเตรียมรับลูกที่ลอยมา โดยยืนทรงตัวแยกขาทั้งสองข้างย่อตัวลงเล็กน้อยตามองตรงไปยังลูกตะกร้อ ยกเท้าที่จะเตะให้ข้างเท้าด้านในขนานกับพื้นแล้วเตะลูกเป็นแนวตรงและเอนตัว ไปด้านหลัง
  2. เมื่อลูกที่เตะลอยขึ้นผู้เล่นย่อเข่าข้างที่ไม่ได้เตะให้เท้าที่จะใช้เตะอยู่ด้านหลังเหวี่ยงเท้าข้างที่จะเตะสัมผัสลูกด้วยข้าง เท้าด้านในเพื่อส่งลูกไปตามทิศทางที่ต้องการ

ประโยชน์ของการเล่นตะกร้อ

  1. เป็นกีฬาที่ก่อให้เกิดความสนุกสนาน เพลิดเพลิน เป็นการเสริมสร้างสมรรถภาพ ทางด้านร่างกาย และจิตใจ
  2. เป็นกีฬาที่ประหยัดค่าใช้จ่าย เล่นง่าย กติกา และระเบียบ การแข่งขันไม่เคร่งครัด
  3. เป็นกีฬาที่ไม่จำกัดเวลา และสถานที่
  4. เป็นกีฬาที่กระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวในการเคลื่อนไหวอย่างคล่องแคล่ว ว่องไว เสริมสร้างบุคลิกภาพ
  5. เป็นกีฬาที่เสริมสร้างอารมณ์ ความคิด และจิตใจให้มีความสุขุม รอบคอบ เยือกเย็น
  6. เป็นกีฬาที่ช่วยให้ระบบประสาททำงานประสานกับระบบอื่น ๆ ได้อย่างมี ประสิทธิภาพ
  7. เป็นกีฬาที่เสริมสร้างความสามัคคีในหมู่คณะ และสังคมรวมทั้งเป็นสื่อกลางใน การเข้าสังคม และพัฒนาชุมชนทางด้านสุขภาพและพลานามัย
  8. เป็นกีฬาที่ใช้เป็นแนวทาง หรือทักษะพื้นฐานอันนำไปสู่การเล่นกีฬาชนิดอื่น ๆ ได้ เช่น ฟุตบอล
  9. เป็นกีฬาที่สามารถใช้เป็นแนวทางในการอนุรักษ์และเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม ประจำชาติ ที่ดีงามให้คงไว้
  10. เป็นกีฬาที่ต้องใช้ความสามารถด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม และสติปัญญา รวมทั้งทักษะที่สูงมากสำหรับผู้ที่ต้องการความเป็นเลิศทางด้านกีฬาตะกร้อ ถ้าผู้เล่นมีความตั้งใจใช้ ความเพียรพยายามที่ดีอย่างต่อเนื่อง ก็สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ สร้างชื่อเสียง เกียรติประวัติให้กับ ตนเอง สังคม และประเทศชาติได้

ทิ้งท้าย

ข้อมูลนี้เป็นข้อมูลคร่าว ๆ ของกีฬาตะกร้อ หวังว่าทุกท่านจะเข้าใจกฏกติกา และประวัติตะกร้อกันมากขึ้น

Advertisement

Advertisement

NaniTalk S.

เป็นนักเขียนที่ขยันขันแข็งและมุ่งมั่นที่จะผลิตเนื้อหาที่มีคุณภาพ เรียนรู้และเติบโตอยู่เสมอ เชื่อว่าเนื้อหาที่ดีสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อโลกได้

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button