เรื่องน่าสนใจ

ประวัติลูกเสือไทย ลูกเสือโลก และคําปฏิญาณ

วันที่ 1 กรกฎาคม ของทุกปี ถือเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่ง คือ วันสถาปนาลูกเสือไทย เราจะพาทุกคนมารู้จักกับประวัติลูกเสือไทย ลูกเสือโลกกัน

ลูกเสือ มีความหมายว่า เยาวชนชายและหญิงอายุระหว่าง 8 – 25 ปี ที่รับการฝึกอบรมตามหลักสูตรวิชาลูกเสือ โดยยึดมั่นในหลักการ (Principle) วิธีการ (Method) และวัตถุประสงค์ (Purpose) ของการลูกเสือ (Scouting) อย่างเคร่งครัดตามพระราชบัญญัติลูกเสือ 2551 และข้อบังคับคณะลูกเสือแห่งชาติว่าด้วยการปกครอง หลักสูตรและวิชาพิเศษลูกเสือ 2509 ได้กำหนดประเภทและเหล่าลูกเสือว่า ลูกเสือมี 4 ประเภท คือ สำรอง สามัญ สามัญรุ่นใหญ่ วิสามัญ และอาจจัดให้มีลูกเสือเหล่าสมุทร และลูกเสือเหล่าอากาศได้ สำหรับลูกเสือที่เป็นหญิง อาจใช้ชื่อเรียกว่า เนตรนารี หรือชื่ออื่นซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติให้หมายถึง ลูกเสือที่เป็นหญิงด้วย

ประวัติลูกเสือไทย

ประวัติลูกเสือไทย

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อพระชนมายุได้ 13 พรรษา ได้เสด็จไปทรงศึกษา ณ ประเทศอังกฤษ ทวีปยุโรป ระหว่างที่ทรงศึกษาอยู่นั้น ได้ทรงทราบเรื่องการสู้รบเพื่อรักษาเมืองมาฟิคิง (Mafeking) ของ ลอร์ดเบเดน โพเอลล์ (Lord Baden Powell) ซึ่งได้ตั้งกองทหารเด็กเป็นหน่วยสอดแนมช่วยรบในการรบกับพวกบัวร์ (Boar) จนประสบผลสำเร็จ และได้ตั้งกองลูกเสือขึ้นเป็นครั้งแรกของโลก ที่ประเทศอังกฤษ เมื่อ 2450

เมื่อพระองค์เสด็จนิวัติสู่ประเทศไทย ก็ได้ทรงจัดตั้งกองเสือป่า (Wild Tiger Corps) ขึ้น เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2454 มีจุดมุ่งหมายเพื่อฝึกหัดให้ข้าราชการและพลเรือนได้เรียนรู้วิชาทหาร เพื่อเป็นคุณประโยชน์ต่อบ้านเมือง รู้จักระเบียบวินัย มีความจงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ต่อจากนั้นอีก 2 เดือน ก็ได้พระราชทานกำเนิดลูกเสือไทยขึ้นเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2454 ด้วยทรงมีพระราชปรารภว่า เมื่อฝึกผู้ใหญ่เป็นเสือป่า เพื่อเตรียมพร้อมในการช่วยเหลือชาติบ้านเมืองแล้ว เห็นควรที่จะมีการฝึกเด็กชายปฐมวัยให้มีความรู้ทางเสือป่าด้วย เมื่อเติบโตขึ้นจะได้รู้จักหน้าที่และประพฤติตนให้เป็นประโยชน์ต่อชาติบ้าน เมือง

จากนั้น ทรงตั้งกองลูกเสือกองแรกขึ้นที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง (โรงเรียนวชิราวุธ ในปัจจุบัน) และจัดตั้งกองลูกเสือตามโรงเรียน ต่าง ๆ ให้กำหนดข้อบังคับลักษณะปกครองลูกเสือขึ้น รวมทั้งพระราชทาน คำขวัญให้ลูกเสือว่า “เสียชีพ อย่าเสียสัตย์” ผู้ที่ได้รับยกย่องว่าเป็นลูกเสือไทยคนแรก คือ นายชัพท์ บุนนาค ซึ่งต่อมา ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “นายลิขิตสารสนอง”

ประวัติลูกเสือโลก

ประวัติลูกเสือโลก

ผู้ก่อตั้งหรือผู้ให้กำเนิดกิจการลูกเสือโลก คือ ลอร์ด เบเดน โพเอลล์ (Lord Baden Powell) เรียกย่อว่า “บี พี” ชาวอังกฤษ เกิด 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2400 ในวัยเด็กโพเอลล์ ชอบท่องเที่ยวพักแรม จึงรักธรรมชาติ ชอบร้องเพลง และมีความรู้ในการใช้แผนที่เป็นอย่างดี เมื่ออายุ 19 ปี ได้รับราชการทหารเป็นร้อยตรี ไปประจำการ ณ ประเทศอินเดียและแอฟริกา โพเอลล์เป็นทหาร มีเงินเดือนน้อยจึงรู้จักใช้จ่ายอย่างประหยัด เข้มแข็งและอดทน

หลังจากปลดประจำการแล้ว ได้นำประสบการณ์ตอนเป็นทหาร เช่น การฝึกสอนเด็กๆ ให้รู้จักทำหน้าที่เป็นผู้สื่อข่าว และเป็นผู้บำเพ็ญประโยชน์ มาพัฒนาแนวคิดเป็นขบวนการลูกเสือ โดยใน ปี 2450 โพเอลล์ได้รวบรวมเด็ก 20 คน ให้ไปอยู่กับเขาที่เกาะบราวน์ซี ในช่องแคบอังกฤษ ซึ่งนับเป็นการพักแรมครั้งแรกของลูกเสือ และต่อมาได้มีการก่อตั้งกองลูกเสือขึ้นอย่างจริงจัง ปี พ.ศ. 2451 จึงได้ตั้งกองลูกเสือขึ้นเป็นครั้งแรกของโลก ที่ประเทศอังกฤษ โพเอลล์ใช้ชีวิตในบั้นปลายอยู่ที่เคนยา แอฟริกา ในช่วงอายุ 80 ปี และถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2485 ที่ประเทศเคนยา

สำหรับคติพจน์ที่ท่านลอร์ด เบเดน โพเอลล์ ได้ให้ไว้แก่ลูกเสือก็คือ BE PREPARED (จงเตรียมพร้อม)

คำว่า “Scout” ซึ่งใช้เรียกแทน “ลูกเสือ” มีความหมายตามตัวอักษร คือ

  • S : Sincerity หมายถึง ความจริงใจ มีน้ำใสใจจริงต่อกัน
  • C : Courtesy หมายถึง ความสุภาพอ่อนโยน เป็นผู้มีมารยาทดี
  • O : Obedience หมายถึง การเชื่อฟัง อ่อนน้อมถ่อมตน อยู่ในโอวาท
  • U : Unity หมายถึง ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน รู้รักสามัคคี
  • T : Thrifty หมายถึง ความมัธยัสถ์ ใช้ทรัพยากรอย่างประหยัด

ประเภทลูกเสือ

  • ลูกเสือสำรอง (Cub Scout) | อายุ 8 – 11 ปี | เทียบชั้นเรียน ป.1-ป.4 | คติพจน์: จงทำดี (Do Our Best)
  • ลูกเสือสามัญ (Scout) | อายุ 11 – 16 ปี | เทียบชั้นเรียน ป.5-ป.6 | คติพจน์: จงเตรียมพร้อม (Be Prepared)
  • ลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ (Senior Scout) | อายุ 13 – 18 ปี | เทียบชั้นเรียน ม.1-ม.3 | คติพจน์: มองไกล (Look Wide)
  • ลูกเสือวิสามัญ (Rover) | อายุ 16 – 25 ปี | เทียบชั้นเรียน ม.4-ม.6 | คติพจน์: บริการ (Service)

คําปฏิญาณลูกเสือ

คำปฏิญาณของลูกเสือสำรอง

ด้วยเกียรติของข้า ข้าสัญญาว่า

  • ข้อ 1 ข้าจะจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
  • ข้อ 2 ข้าจะยึดมั่นในกฎของลูกเสือสำรอง และบำเพ็ญประโยชน์ต่อผู้อื่นทุกวัน

กฎของลูกเสือสำรอง

  • ข้อ 1 ลูกเสือสำรองทำตามลูกเสือรุ่นพี่
  • ข้อ 2 ลูกเสือสำรองไม่ทำตามใจตนเอง

คำปฏิญาณของลูกเสือสามัญ ลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ และลูกเสือวิสามัญ

ด้วยเกียรติของข้า ข้าสัญญาว่า

  • ข้อ 1 ข้าจะจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
  • ข้อ 2 ข้าจะช่วยเหลือผู้อื่นทุกเมื่อ
  • ข้อ 3 ข้าจะปฏิบัติตามกฎของลูกเสือ

กฎของลูกเสือ

กฎของลูกเสือ มีทั้งหมด 10 ข้อ คือ

  • ข้อ 1 ลูกเสือมีเกียรติเชื่อถือได้
  • ข้อ 2 ลูกเสือมีความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์
  • ข้อ 3 ลูกเสือมีหน้าที่กระทำตนให้เป็นประโยชน์และช่วยเหลือผู้อื่นทุกเมื่อ
  • ข้อ 4 ลูกเสือเป็นมิตรของคนทุกคนและเป็นพี่น้องกับลูกเสือทั่วโลก
  • ข้อ 5 ลูกเสือเป็นผู้สุภาพเรียบร้อย
  • ข้อ 6 ลูกเสือมีความเตตากรุณาต่อสัตว์
  • ข้อ 7 ลูกเสือเชื่อฟังคำสั่งของบิดามารดาและผู้บังคับบัญชาด้วยความเคารพ
  • ข้อ 8 ลูกเสือมีใจร่าเริงและไม่ย่อท้อต่อความลำบาก
  • ข้อ 9 ลูกเสือเป็นผู้มัธยัสถ์
  • ข้อ 10 ลูกเสือประพฤติชอบด้วย กาย วาจา ใจ

ชุดลูกเสือ

ทิ้งท้าย

ข้อมูลนี้เป็นข้อมูลคร่าว ๆ ของลูกเสือไทย ลูกเสือโลก หวังว่าทุกท่านจะเข้าใจประวัติลูกเสือไทย ลูกเสือโลกกันมากขึ้น

อ่านต่อ

NaniTalk S.

เป็นนักเขียนที่ขยันขันแข็งและมุ่งมั่นที่จะผลิตเนื้อหาที่มีคุณภาพ เรียนรู้และเติบโตอยู่เสมอ เชื่อว่าเนื้อหาที่ดีสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อโลกได้

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button