เรื่องน่าสนใจ

ธงชาติไทย ประวัติความเป็นมาและความสำคัญของ ธงชาติไทย

ธงชาติไทย วันที่ 28 กันยายน ของทุกปี เป็น วันพระราชทานธงชาติไทย (ภาษาอังกฤษ: Thai National Flag Day) เรามารู้จักประวัติความเป็นมา ตั้งแต่ธงสีแดงจนถึงธงไตรรงค์ กันว่ามีความสำคัญอย่างไร

ธงชาติไทย

ธงชาติไทย

ธงชาติ หรือที่เราเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ธงไตรรงค์ มีลักษณะเป็นธงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ใช้สีหลักในธง 3 สี คือ สีแดง สีขาว และสีน้ำเงินขาบ ภายในแบ่งเป็นแถบ 5 แถบ แถบในสุดสีน้ำเงิน ถัดมาด้านนอกทั้งด้านบนและล่างเป็นสีขาวและสีแดงตามลำดับ แถบสีน้ำเงินมีขนาดใหญ่กว่าแถบสีอื่นเป็น 2 เท่า ความหมายสำคัญของธงไตรรงค์นั้นหมายถึงสถาบันหลักทั้งสามของประเทศไทย คือ ชาติ (สีแดง) ศาสนา (สีขาว) และพระมหากษัตริย์ (สีน้ำเงิน) สีทั้งสามนี้เองคือที่มาของการเรียกชื่อธงว่าธงไตรรงค์ (ไตร = สาม, รงค์ = สี)

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ธงนี้เป็นธงชาติไทย (ขณะนั้นยังเรียกชื่อประเทศว่าสยาม) เมื่อช่วงปลายปี 2460 เพื่อแก้ไขปัญหาการทำธงช้างเผือก (ซึ่งใช้เป็นธงชาติมาตั้งแต่รัชกาลที่ 4) ที่ทำตัวช้างเผือกไม่สวยงาม และเพื่อเป็นอนุสรณ์ในการเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง กับฝ่ายสัมพันธมิตร

สีธงชาติไทยตามหน่วยสากล

  • สีแดง HEX : #A51931 CMYK : C24%, M100%, Y83%, K18% RGB : R165, G25, B49
  • สีขาว HEX : #F4F5F8 CMYK : C 3%, M 2%, Y 1%, K 0% RGB : R 244, G 245, B 248
  • สีน้ำเงิน HEX : #2D2A4A CMYK : C 87%, M 85%, Y 42%, K 43% RGB : R 45, G 42, B 74

ประวัติธงชาติไทย

ประวัติธงชาติไทย

ธงสยาม หรือ ธงชาติไทย มีมาตั้งแต่เมื่อใดไม่ปรากฏเป็นที่แน่ชัด เท่าที่พบหลักฐานเชื่อกันได้ว่าน่าจะเกิดขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เพราะปรากฏเรื่องราวอยู่ในหนังสือจดหมายเหตุของฝรั่งเศส โดยได้กล่าวไว้ว่าเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2223 เรือรบของฝรั่งเศสชื่อ เลอรโวตูร์ โดยมี มองซิเออร์ คอนูแอน เป็นนายเรือ ได้นำเรือเข้ามาถึงปากแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อเจริญพระราชไมตรีและการค้า นายเรือได้สอบถามทางกรุงศรีอยุธยาว่า ถ้าจะยิงสลุต (ยิงปืนให้ความเคารพ) ให้แก่สยาม

Advertisement

เมื่อเรือผ่านป้อมวิไชเยนทร์ หรือ ป้อมฝรั่ง (ปัจจุบันคือป้อมวิชัยสิทธิ์) ตามประเพณีของชาวยุโรป จะเป็นการขัดข้องหรือไม่ สมเด็จพระนารายณ์ทรงอนุญาต และรับสั่งให้เจ้าเมืองบางกอก คือ ออกพระศักดิ์สงครามให้ทางป้อมยิงสลุตตอบด้วย และในการที่เรือรบฝรั่งเศลได้ยิงสลุตให้นั้นทางป้อมก็ชักธงชาติขึ้น แต่ในห้วงเวลานั้นธงชาติสยามยังไม่มีจึงได้ชักธงชาติฮอลันดาขึ้นแทน (ปัจจุบัน คือ ประเทศเนเธอร์แลนด์) แต่ฝรั่งเศสไม่ยอมยิงสลุตเพราะเห็นว่าไม่ใช่ธงของชาติสยามจึงแจ้งให้ทราบว่า หากสยามประสงค์จะให้ฝรั่งเศสยิงสลุตให้ ก็เอาธงฮอลันดาลงเสีย แล้วชักธงอย่างหนึ่งอย่างใดขึ้นแทนเผอิญในสมัยนั้นธงสีแดงถือเป็นธงที่สยามใช้สำหรับเป็นธงนำทัพอยู่แล้ว สยามจึงนำธงแดงชักขึ้นจากนั้นฝรั่งเศสจึงยิงสลุตให้ ด้วยเหตุนี้สยามจึงถือเอาธงสีแดงเป็นธงชาติสยาม

พัฒนาการของธงชาติไทย

ธงแดงเกลี้ยง สมัยอยุธยา – พ.ศ. 2325

ธงแดงเกลี้ยง สำหรับใช้เป็นที่หมายของเรือสยามโดยทั่วไป ใช้เป็นธรรมเนียมสืบมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (ยังไม่ใช่ธงชาติสยาม) นับตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา

การบังคับใช้ธง: ใช้เป็นธรรมเนียมสืบมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

ธงสี่เหลี่ยมพื้นแดง ตรงกลางมีรูปวงจักรสีขาว พ.ศ. 2325 – พ.ศ. 2360

ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ทั้งเรือหลวงและเรือค้าขายของเอกชนยังคงใช้ธงสีแดงล้วนเป็นเครื่องหมายเรือสยาม จึงได้มีการนำสัญลักษณ์ต่าง ๆ มาประดับบนธงพื้นสีแดงเพิ่มเติมเพื่อใช้เป็นธงสำหรับเรือหลวง ในกฎหมายธงสมัยรัชกาลที่ 5 ได้กล่าวว่า “พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มรูปจักรสีขาวลงในธงแดง สำหรับใช้เป็นธงของเรือหลวง” สาเหตุที่พระองค์กำหนดให้ใช้ “จักร” ลงไว้กลางธงผ้าพื้นแดงสำหรับชักในเรือกำปั่นหลวง เพื่อแสดงความแตกต่างระหว่างเรือของพระมหากษัตริย์ กับเรือของราษฎรสยาม ที่ใช้ธงผ้าพื้นแดงเกลี้ยง

การบังคับใช้ธง: ใช้ในช่วงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

ธงสี่เหลี่ยมพื้นแดง ตรงกลางมีรูปช้างเผือกในวงจักรสีขาว พ.ศ. 2360 – พ.ศ. 2398

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระองค์ทรงได้ช้างเผือกเอก 3 ช้าง คือพระยาเศวตกุญชร พระยาเศวตไอยรา และพระยาเศวตคชลักษณ์ นับเป็นเกียรติยศยิ่งต่อแผ่นดิน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มรูปช้างเข้าภายในวงจักรของเรือหลวงไว้ด้วย อันมีความหมายว่า พระเจ้าแผ่นดินอันมีช้างเผือก แต่ธงช้างอยู่ในวงจักรใช้แต่เรือหลวงเท่านั้น เรือพ่อค้ายังคงใช้ธงแดงตามเดิม

การบังคับใช้ธง: ใช้ในช่วงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยธงสี่เหลี่ยมพื้นแดง ตรงกลางมีรูปช้างเผือกเปล่าหันหน้าเข้าหาเสาธง พ.ศ. 2398 – พ.ศ. 2459

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประเทศไทยมีการทำสนธิสัญญากับชาติตะวันตกมากขึ้น อันเป็นผลต่อเนื่องจากการทำสนธิสัญญาเบาริ่งกับสหราชอาณาจักรใน 2398 พระองค์จึงมีพระราชดำริว่า สยามจำเป็นต้องมีธงชาติใช้ตามธรรมเนียมชาติตะวันตก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ธงพื้นสีแดงมีรูปช้างเผือกเปล่าอยู่ตรงกลางเป็นธงชาติสยามแต่เอารูปจักรออก เนื่องจากมีเหตุผลว่า จักรเป็นเครื่องหมายเฉพาะพระองค์พระมหากษัตริย์และธงพื้นสีแดงที่เอกชนสยามใช้ทั่วไปซ้ำกับประเทศอื่นในการติดต่อระหว่างประเทศ ธงนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ได้ทั่วไปทั้งเรือหลวงและเรือเอกชน แต่เรือหลวงนั้นทรงกำหนดให้ใช้พื้นเป็นสีน้ำเงินขาบชักขึ้นที่หัวเรือ เพื่อเป็นเครื่องหมายสำหรับแยกแยะว่าเป็นเรือหลวงด้วย ธงนี้มีชื่อว่า ธงเกตุ (ต่อมาได้วิวัฒนาการมาเป็นธงฉานของกองทัพเรือไทยในปัจจุบัน)

แต่ต่อมามีการค้นพบหลักฐานใหม่เป็นหนังสือพิมพ์ Supplement of The Singapore Free Press ฉบับวันที่ 26 ตุลาคม 2386 โดยได้อ้างอิงจากหนังสือพิมพ์ The Canton Press ฉบับวันที่ 12 สิงหาคม 2386 ระบุว่า มีกองเรือของพระมหากษัตริย์แห่งกรุงสยาม ได้นำเครื่องราชบรรณาการมาแวะที่ท่าเรือสิงคโปร์เพื่อที่จะเดินทางไปยังประเทศจีน เพื่อถวายเครื่องราชบรรณาการแด่องค์จักรพรรดิจีน โดยยังได้ระบุอีกว่ามีกองเรือของพระมหากษัตริย์แห่งกรุงสยามจำนวน 3 ลำ ซึ่งท้ายเรือมีการประดับธงช้างเผือกแบบไม่มีจักร ซึ่งเป็นหลักฐานที่ยืนยันได้ว่าได้เริ่มที่การใช้ธงช้างเผือกเป็นครั้งแรกในช่วงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 แห่งราชวงศ์จักรี

การบังคับใช้ธง:

  • ใช้ในช่วงปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
  • พระราชบัญญัติว่าด้วยแบบอย่างธงสยาม รศ. 110
  • พระราชบัญญัติธง ร.ศ. 116
  • พระราชบัญญัติธง ร.ศ. 118
  • พระราชบัญญัติธง ร.ศ. 129

ธงสี่เหลี่ยมพื้นแดง ตรงกลางมีรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่นหันหน้าเข้าหาเสาธง พ.ศ. 2459 – พ.ศ. 2460

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริให้แก้ไขรูปช้างเผือกธรรมดา เป็นช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่นหันหน้าหาเสาธงแทน และใช้ธงผืนนี้จนกระทั้งปี 2460

การบังคับใช้ธง: พระราชบัญญัติธง ร.ศ. 129 (ธงราชการ) พระบรมราชโองการ ประกาศเพิ่มเติมและแก้ไขพระราชบัญญัติธง ร.ศ. 129 พ.ศ. 2459

ธงแดงขาว 5 ริ้ว พ.ศ. 2459

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ไปยังเมืองอุทัยธานี ได้ทอดพระเนตรเห็นธงช้างที่ราษฎรติดไว้กลับหัว จึงมีพระราชดำริว่า ธงชาติต้องมีรูปแบบที่สมมาตรเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก นอกจากนี้ยังมีพระราชดำริว่าธงชาติทำยาก ซึ่งที่ขายตามท้องตลาดนั้นเป็นธงที่ผลิตจากต่างประเทศ และเป็นประเทศที่ไม่รู้จักช้าง รูปร่างของช้างที่ปรากฏจึงไม่น่าดู จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำรูปช้างออกจากธงชาติ เปลี่ยนเป็นแถบยาวสีแดง 3 แถบ สลับกับสีขาว 2 แถบ เรียกว่า ธงแดงขาว 5 ริ้ว ใช้สำหรับเป็นธงค้าขาย ส่วนธงชาติที่ใช้ในราชการจะเป็นรูปช้างเผือกแบบทรงเครื่องยืนแท่น

การบังคับใช้ธง: พระบรมราชโองการ ประกาศเพิ่มเติมและแก้ไขพระราชบัญญัติธง ร.ศ. 129 พ.ศ. 2459 (ในชื่อ “ธงค้าขาย”)

ธงไตรรงค์ พ.ศ. 2460 – ปัจจุบัน

ในปี 2460 แถบสีแดงที่ตรงกลางธงค้าขายได้เปลี่ยนเป็น สีขาบ (เป็นชื่อสีโบราณอย่างหนึ่งของไทย คือสีน้ำเงินเข้มเจือม่วง) ที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน เหตุผลที่ทรงเพิ่มสีขาบลงในธงชาติสยามนั้น มาจากการได้เห็นบทความแสดงความคิดเห็นของผู้ใช้นามแฝงว่า “อแคว์ริส” ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพเดลิเมล์ ภาษาอังกฤษ ฉบับวันที่ 15 สิงหาคม 2460 ว่า ธงชาติสยามแบบใหม่ที่ทดลองใช้อยู่ในเวลานั้น (ธงแดงขาว 5 ริ้ว กำหนดให้ใช้เป็นธงค้าขาย) ยังมีลักษณะที่ไม่สง่างามเพียงพอ และได้เสนอแนะว่าริ้วกลางของธงควรเพิ่มสีน้ำเงินขาบลงไปอีกสีหนึ่ง ด้วยเหตุที่ว่า

  • สีน้ำเงินขาบเป็นสีส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์ (สีประจำวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ วันเสาร์)
  • เมื่อเปลี่ยนแปลงเช่นนี้แล้วธงชาติสยามก็จะเป็นธงสามสีในทำนองเดียวกันกับธงชาติของประเทศฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ซึ่งน่าจะทำให้ทั้งสามประเทศพอใจประเทศสยามยิ่งขึ้นเพราะเสมือนว่าได้ยกย่องชาติเหล่านั้น
  • การมีสีของสถาบันพระมหากษัตริย์ในธงชาติ จะเป็นเครื่องเตือนใจให้ระลึกถึงพระองค์ในวาระที่ชาติสยามเข้าสู่เหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ

พระองค์ได้ทรงทดลองเขียนแบบธงตามบทความดังกล่าวแล้วทรงเห็นว่างดงามดีและเห็นด้วยกับบทความดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งสีน้ำเงินนั้นนอกจากจะเป็นสีแห่งสถาบันพระมหากษัตริย์แล้วยังเป็นสีทรงโปรดเพราะเป็นสิริแก่พระชนมวารตามคติโหราศาสตร์ไทยอีกด้วย

ต่อมาทรงมอบหมายให้เจ้าพระยารามราฆพ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ ขณะนั้นมีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาประสิทธิศุภการ) เข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ เสนาธิการทหารบกในเวลานั้น เพื่อนำแบบธงไปถวายเพื่อทูลขอความเห็น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์นั้นทรงเห็นชอบเช่นกัน และมีรับสั่งว่าถ้าเปลี่ยนในขณะนั้นจะได้เป็นอนุสรณ์ในการเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 ด้วย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาศรีภูริปรีชา เจ้ากรมพระอาลักษณ์ ร่างประกาศแก้แบบธงชาติ และได้ทรงนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะเสนาบดีเพื่อฟังความเห็น ที่ประชุมลงมติเห็นชอบแบบธงชาติสยามที่คิดขึ้นใหม่ และประกาศใช้ตามความในธงพระราชบัญญัติแก้ไขพระราชบัญญัติธง พระพุทธศักราช 2460 เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2460

ธงชาติแบบใหม่นี้ได้โชว์ต่อสายตาชาวโลกครั้งแรกในสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งกองทหารอาสาของไทยได้ใช้เชิญไปเป็นธงไชยเฉลิมพลประจำหน่วย อย่างไรก็ตาม ธงไตรรงค์ที่สร้างขึ้นสำหรับกองทหารอาสาในสงครามโลกครั้งที่ 1 นั้นไม่ใช่ลักษณะอย่างธงไตรรงค์ตามที่กำหนดให้ใช้ในปัจจุบันและโดยทั่วไป แต่มีการเพิ่มรูปสัญลักษณ์พิเศษลงในธงด้วย โดยด้านหน้าธงนั้นเป็นรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่นในวงกลมพื้นสีแดง ลักษณะอย่างเดียวกับธงราชนาวีไทย ด้านหลังเป็นตราพระปรมาภิไธยย่อ ร.ร. 6 สีขาบ ภายใต้พระมหามงกุฎเปล่งรัศมีสีเหลืองในวงกลมพื้นสีแดง ที่แถบสีแดงทั้งแถบบนแถบล่างทั้งสองด้านจารึกพุทธชัยมงคลคาถาบทแรก เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่กองทหารอาสาของไทยในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชนิพนธ์แก้ไขในตอนท้ายจาก “ตนฺเตชสา ภวตุ เต ชยมงฺคลานิ” (ด้วยเดชแห่งชัยชนะนั้น ขอชัยมงคลจงมีแก่ท่าน) เป็น “ตนฺเตชสา ภวตุ เม ชยสิทฺธินิจฺจํ” (ด้วยเดชแห่งชัยชนะนั้น ขอชัยชนะจงมีแก่ข้าพเจ้าเสมอ)

การบังคับใช้ธง: ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง รูปธงชาติตามพระราชบัญญัติธง 2522 ลงวันที่ 30 กันยายน 2560

ความหมายของธงชาติไทย

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้มีบันทึกเรื่องธงชาติ ในปี 2470 เพื่อรวบรวมความคิดเห็นในเรื่องการเปลี่ยนแปลงธงชาติจากบุคคลกลุ่มต่าง ๆ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องมีการเปลี่ยนธงชาติหลายครั้ง กรมราชเลขาธิการได้รวบรวมความเห็นเรื่องนี้จากที่ต่าง ๆ รวมทั้งในหนังสือพิมพ์ เพื่อประกอบพระบรมราชวินิจฉัย ซึ่งในบรรดาเอกสารดังกล่าว ปรากฏว่าในหมู่ผู้ที่สนับสนุนให้ใช้ธงไตรรงค์เป็นธงชาติต่อไป ได้มีการให้ความหมายของธงที่กระชับกว่าเดิม กล่าวคือ

  • สีแดง หมายถึง ชาติ
  • สีขาว หมายถึง พุทธศาสนา
  • สีน้ำเงิน หมายถึง พระมหากษัตริย์

วันพระราชทานธงชาติไทย

วันพระราชทานธงชาติไทย (ภาษาอังกฤษ: Thai National Flag Day) เป็นวันที่ระลึกถึงโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกาศพระราชบัญญัติแก้ไขพระราชบัญญัติธง พระพุทธศักราช 2460 โดยมีสาระสำคัญคือ การประกาศให้ธงไตรรงค์เป็นธงชาติไทยสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งได้มีการประกาศไว้ ณ วันที่ 28 กันยายน 2460 สำนักนายกรัฐมนตรีและสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี จึงเสนอให้วันที่ 28 กันยายน ของทุกปีเป็นวันพระราชทานธงชาติไทย

วันที่ 20 กันยายน 2559 ในการประชุมคณะรัฐมนตรีประจำสัปดาห์ ที่ประชุมซึ่งนำโดย พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้วันที่ 28 กันยายน ของทุกปีเป็น วันพระราชทานธงชาติไทย โดยให้เริ่มในวันที่ 28 กันยายน 2560 เป็นปีแรก เนื่องในโอกาสครบรอบ ธงชาติไทย 100 ปี แต่ไม่ถือเป็นวันหยุดราชการ รวมทั้งกำหนดให้มีการชักธงและประดับธงชาติไทยในวันดังกล่าวด้วย เพื่อเป็นการสร้างความภาคภูมิใจของคนในชาติ และน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และถือเป็นประเทศที่ 54 ของโลกที่มีวันธงชาติ โดยการกำหนดวันธงชาติของต่างประเทศ ล้วนอิงกับภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ และการสร้างชาติของแต่ละประเทศ

ระเบียบการชักธงชาติไทย และประดับธงชาติไทย

ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการใช้ การชัก หรือการแสดงธงชาติ และธงของต่างประเทศในราชอาณาจักร (ฉบับที่ 4) 2560 และระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการชักธงชาติในสถานศึกษา (ฉบับที่ 2) 2561 ได้กำหนดโอกาสและวันพิธีสำคัญที่ต้องมีการชักและประดับธงชาติไว้ดังนี้

การลดธงครึ่งเสา

การลดธงครึ่งเสา (half-staff, half-mast) ชักธงขึ้นที่เสาธงใด ๆ เพียง 1 ใน 3 หรือ 2 ใน 3 ของความยาวเสาธงหรือเสาธงเรือ (ขึ้นอยู่กับกรณีตามที่แต่ละประเทศกำหนด) เพื่อเป็นเครื่องหมายแสดงความเคารพหรือการไว้ทุกข์ ต่อผู้ตาย ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญทั้งในและต่างประเทศ

การลดธงครึ่งเสาในไทยนั้น นายกรัฐมนตรีจะมีประกาศผ่านสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเป็นคราว ๆ ไปในกรณีที่ต้องแสดงความเคารพหรือการไว้ทุกข์ต่อบุคคลสำคัญที่เสียชีวิต โดยการลดธงครึ่งเสาที่ถูกต้องตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีระบุไว้ก็คือ เมื่อชักธงขึ้นถึงยอดเสาหลังจากจบเพลงชาติแล้ว ให้ลดธงลงมา 1 ใน 3 จากยอดเสา คือให้ธงอยู่ในระดับความสูงประมาณ 2 ใน 3 ส่วนของความสูงเสาธงนั้น ไม่ใช่ลงจากยอดเสามาอยู่ที่กลางเสาอย่างในภาษาพูด ส่วนในเวลา 18.00 น. เมื่อจะชักธงลง ให้ชักธงชาติขึ้นจนสุดยอดเสาก่อนเพลงชาติเริ่มต้น และลดธงลงจากเสาตามปกติจนจบเพลงชาติ จึงปลดธงชาติแล้วพับวางบนพาน นำไปเก็บที่อันสมควร

ข้อปฏิบัติในการเชิญธงชาติ
ภาพจาก tistr.or.th

ข้อปฏิบัติในการเชิญธงชาติ

พระราชบัญญัติธง 2522 ประมวลกฎหมายอาญา ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการใช้ การชัก หรือการแสดงธงชาติและธงของต่างประเทศในราชอาณาจักร 2529 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) 2546 มติคณะรัฐมนตรี วันที่ 26 พฤษภาคม 2546 และมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 29 กรกฎาคม 2546 ได้กำหนดข้อปฏิบัติเกี่ยวกับการใช้ การชัก หรือการแสดงธงชาติที่สำคัญ ดังนี้

ขนาดและสีธงชาติ

มีขนาดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 6 ส่วน ยาว 9 ส่วน ด้านกว้างแบ่งเป็น 5 แถบ ตลอดความยาวของผืนธง ตรงกลางเป็นแถบสีน้ำเงินแก่ กว้าง 2 ส่วน ต่อจากแถบสีน้ำเงินแก่ออกไปทั้งสองข้างเป็นแถบสีขาวกว้างข้างละ 1 ส่วน ต่อจากแถบสีขาวออกไปทั้งสองข้างเป็นแถบสีแดงกว้างข้างละ 1 ส่วน

การแสดงธงชาติ

หมายความว่า การที่บุคคลหรือคณะบุคคลได้ทำหรือสร้างให้ปรากฏเป็นรูปร่างไม่ว่าจะเป็นวัตถุ รูป ภาพ หรือสสาร ที่มีลักษณะเป็นสีที่มีความหมายถึงธงชาติ หรือแถบสีธงชาติ

ลักษณะธงชาติที่นำมาใช้

ธงชาติที่จะนำมาใช้ ชัก หรือแสดง ต้องมีสภาพดีเรียบร้อย ไม่ขาดวิ่น และสีไม่ซีดจนเกินควร

ขนาดเสาธงและผืนธงชาติ

เสาธงชาติจะมีขนาดสูง ต่ำ ใหญ่หรือเล็กเพียงไร ควรจะอยู่ ณ ที่ใด และจะใช้ผืนธงขนาดเท่าใดนั้น ให้อยู่ในดุลพินิจของหัวหน้าส่วนราชการระดับกรม หรือผู้ปกครองสถานที่หรือเอกชนผู้ครอบครองอาคารสถานที่ จะพึงพิจารณาให้เหมาะสมเป็นสง่างามแก่อาคารสถานที่นั้นๆ

การประดับธงชาติและกำหนดเวลาชักธงชาติขึ้นและลง

เพื่อสร้างความรู้สึกนิยมและภาคภูมิใจในความเป็นชาติ อีกทั้งเป็นการเผยแพร่ธงชาติให้เป็นที่ปรากฏชินตาแก่ผู้พบเห็น คณะรัฐมนตรีได้กำหนดให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐประดับธงชาติไว้ในสถานที่อันควร ในบริเวณที่ทำการทุกวันและตลอดเวลา สำหรับภาคเอกชน และบ้านเรือนประชาชนโดยทั่วไปก็ให้อนุโลมดำเนินการไปในแนวทางเดียวกัน

ถ้าต้องมีการชักธงชาติขึ้นและลง ณ สถานที่ หรือบริเวณใด โดยปกติให้เป็นไปตามกำหนดเวลา

  • ชักขึ้นเวลา 08.00 นาฬิกา
  • ชักลงเวลา 18.00 นาฬิกา

สถานที่และยานพาหนะของฝ่ายทหาร การชักธงชาติขึ้นและลงให้ปฏิบัติตามระเบียบหรือข้อบังคับของทหาร

  • เรือเดินทะเล การชักธงชาติขึ้นและลง ให้ปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวเรือ
  • สถานที่ราชการพลเรือน ถ้าในบริเวณเดียวกันมีสถานที่ราชการหลายแห่งจะสมควรชักธงชาติ ณ ที่ใด ให้อยู่ในดุลพินิจของหัวหน้าหน่วยงานผู้ปกครองสถานที่นั้น ๆ
  • สถานที่ราชการฝ่ายพลเรือนที่ตั้งอยู่ในเขตพระราชฐาน การชักธงชาติโดยการจัดตั้งเสาธงชาติต่างหากจากตัวอาคาร ให้ได้รับความเห็นชอบจากเลขาธิการพระราชวัง
  • สถาบันการศึกษาในสังกัดหรือในความควบคุมของกระทรวงศึกษาธิการ ให้ชักธงชาติตามระเบียบที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด
  • เรือเดินในลำน้ำ ถ้าจะชักธงชาติให้ชักไว้ที่ท้ายเรือ
  • ที่สาธารณสถานและสถานที่ของเอกชน ถ้าจะชักธงชาติ ให้ปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีโดยอนุโลม

วิธีการชักธงชาติไทย

  • ผู้มีหน้าที่ชักธงชาติ ต้องแต่งกายเรียบร้อย
  • เมื่อใกล้กำหนดเวลาชักธงขึ้น ให้เตรียมธงชาติผูกติดกับสายเชือกทางด้านขวาของผู้ชักธงให้เรียบร้อย
  • เมื่อถึงกำหนดเวลา ให้คลี่ธงชาติออกเต็มผืน แล้วดึงเชือกให้ธงชาติขึ้นช้า ๆ ด้วยความสม่ำเสมอ จนถึงสุดยอดเสาธง แล้วจึงผูกเชือกไว้ให้ตึง ไม่ให้ธงลดต่ำลงมาจากเดิม
  • เมื่อชักธงลงให้ดึงเชือกให้ธงชาติลงช้า ๆ ด้วยความสม่ำเสมอ และสายเชือกตึงจนถึงระดับเดิมก่อนชักขึ้น
  • ในกรณีที่มีการบรรเลงเพลงเคารพหรือมีสัญญาณให้การชักธงขึ้นและลง จะต้องชักธงชาติขึ้นและลงให้ถึงจุดที่สุด พร้อมกับจบเพลงหรือสัญญาณนั้น ๆ

การทำความเคารพธงชาติไทย

เมื่อมีการชักธงชาติขึ้นและลง ให้แสดงความเคารพโดยการยืนตรง หันไปทางเสาธง อาคาร หรือสถานที่ที่มีการชักธงชาติขึ้นและลง จนกว่าจะเสร็จการ

ในกรณีที่ได้ยินเพลงชาติหรือสัญญาณการชักธงชาติ จะเห็นหรือไม่เห็นการชักธงชาติก็ตาม ให้แสดงความเคารพโดยหยุดนิ่งในอาการสำรวม จนกว่าการชักธงชาติหรือเสียงเพลงชาติ หรือสัญญาณการชักธงชาติจะสิ้นสุดลง

การใช้ธงชาติกับผู้เสียชีวิต

ธงชาตินั้นสามารถใช้เป็นเครื่องประกอบเกียรติยศศพหรืออัฐิได้ โดยบุคคลที่สามารถใช้ธงชาติประกอบเกียรติยศได้นั้น ได้แก่

  • ประธานองคมนตรี
  • ประธานรัฐสภา
  • นายกรัฐมนตรี
  • ประธานศาลฎีกา
  • ผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์
  • ผู้เสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่หรือช่วยเหลือในการสู้รบ หรือเพื่อปกป้องอธิปไตยหรือรักษาความสงบเรียบร้อยของประเทศ หรือเพื่อปราบปรามการกระทำผิดต่อความมั่นคงของรัฐและพระมหากษัตริย์
  • ผู้เสียชีวิตจากการแสดงความกล้าหาญช่วยเหลือเจ้าหน้าที่รัฐ
  • บุคคลที่ทางราชการเห็นสมควร

ธงอื่นที่ดัดแปลงลักษณะจากธงชาติไทย

ธงราชนาวีไทย
ธงราชนาวีไทย

การกำหนดธงอย่างอื่นที่ความหมายถึงชาติของประเทศต่าง ๆ ล้วนมีการดัดแปลงลักษณะมาจากธงชาติเกือบธงหมด เช่น ธงราชนาวีของกองทัพเรือไทย ซึ่งตามพระราชบัญญัติธง 2522 นับเป็นธงที่มีความหมายถึงชาติเช่นเดียวกับธงชาติไทย มีลักษณะเป็นธงไตรรงค์ ตรงกลางเป็นรูปช้างเผือก ทรงเครื่องยืนแท่นมีรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่นอยู่ตรงกลางในวงกลมสีแดง ปลายขอบวงกลมสีแดงนั้นจดกับขอบแถบสีแดงพอดีทั้งสองด้าน ตามข้อมูลอย่างเป็นทางการของกองทัพเรือไทยนั้น ถือว่าธงนี้พัฒนามาจากธงแดงและธงเรือหลวงของสยามในสมัยต่าง ๆ ก่อนที่จะมีลักษณะที่แตกต่างจากธงชาติไปเล็กน้อยนับตั้งแต่ 2434 เป็นต้นมา แบบธงที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันนี้กำหนดให้ใช้พร้อมกับธงไตรงค์ซึ่งเป็นธงชาติเมื่อ 2460

ธงฉานกองทัพเรือไทย
ธงฉานกองทัพเรือไทย

ธงฉาน ซึ่งเป็นธงในราชการทหารที่ใช้สำหรับชักที่หัวเรือรบและใช้เป็นเครื่องหมายของเรือพระที่นั่งและเรือหลวง ก็มีพื้นเป็นธงไตรรงค์เช่นกัน แต่ว่าได้เพิ่มตราสมอสอดวงจักรภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎ ซึ่งเป็นเครื่องหมายราชการของกองทัพเรือไว้ เพื่อให้ต่างจากธงชาติอย่างชัดเจน

ธงชัยเฉลิมพล
ธงชัยเฉลิมพล

ธงของทหารอีกอย่างหนึ่งซึ่งทหารทุกคนถือว่าเป็นธงที่สำคัญยิ่ง และเป็นธงที่จะต้องรักษาเอาไว้ด้วยชีวิต คือ ธงชัยเฉลิมพล ธงนี้เป็นธงประจำกองทหารซึ่งได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ใช้เชิญไปในพิธีการสำคัญทางทหารที่เป็นเกียรติยศของชาติและเชิญออกไปกับหน่วยทหารในยามทำสงคราม โดยถือว่าเมื่อ ธงชัยเฉลิมพล ไปปรากฏ ณ ที่ใดเสมือนหนึ่งพระมหากษัตริย์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปในกองทัพทหารนั้นด้วย

การกระทำอันไม่สมควรต่อธงชาติและบทกำหนดโทษ
ภาพจาก tistr.or.th

การกระทำอันไม่สมควรต่อธงชาติและบทกำหนดโทษ

การกระทำการต่อธงชาติโดยไม่ให้ความเคารพ มีความผิดและต้องรับโทษตามกฎหมาย ดังนี้

  • กระทำการใด ๆ ต่อธง หรือเครื่องหมายอื่นใด อันมีความหมายถึงรัฐ เพื่อเหยียดหยามประเทศชาติ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 118 แห่งประมวลกฎหมายอาญา)
  • กระทำการใด ๆ ที่ไม่สมควรต่อธงชาติ รูปจำลองของธงชาติ หรือแถบสีของธงชาติ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 53 แห่ง พ.ร.บ. ธง พ.ศ. 2522)

เพลงชาติไทย

เนื้อเพลงชาติไทย

ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย

เป็นประชารัฐไผทของไทยทุกส่วน

อยู่ดำรงคงไว้ได้ทั้งมวล

ด้วยไทยล้วนหมายรักสามัคคี

ไทยนี้รักสงบแต่ถึงรบไม่ขลาด

เอกราชจะไม่ให้ใครข่มขี่

สละเลือดทุกหยาดเป็นชาติพลี

เถลิงประเทศชาติไทยทวีมีชัย ชโย

ที่มา – wikipedia.org

Advertisement

กดเพื่ออ่านเพิ่มเติม
Advertisement

NaniTalk S.

เป็นนักเขียนที่ขยันขันแข็งและมุ่งมั่นที่จะผลิตเนื้อหาที่มีคุณภาพ เรียนรู้และเติบโตอยู่เสมอ เชื่อว่าเนื้อหาที่ดีสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อโลกได้

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button
Shopee