วันสำคัญ

ประเพณีวันสงกรานต์ 2567 มารู้จักความสําคัญและกิจกรรมกัน

ประเพณีวันสงกรานต์ หรือ วันขึ้นปีใหม่ไทย โดยทั่วไปจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-15 เมษายน เป็น วันหยุดสงกรานต์ ช่วงวันสงกรานต์เป็นวันแห่งความเอื้ออาทร ความรัก ความผูกพัน ที่มีต่อกันทั้งครอบครัว สังคม และศาสนา หลักพิธี เช่น การใช้น้ำเป็นตัวแทน แก้กันกับความหมายของฤดูร้อน ช่วงเวลาที่พระอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษ ใช้น้ำรดให้แก่กันเพื่อความชุ่มชื่น และขอพรจาก บิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย รวมทั้งแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษ ที่ล่วงลับไปแล้ว ด้วยการทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้

Advertisement

การสร้างความสมัครสมานสามัคคีในชุมชน ได้แก่ การร่วมกันทำบุญให้ทาน การก่อพระเจดีย์ทรายและเป็น การทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา การเล่นสาดน้ำเพื่อความสนุกสนานรื่นเริงร่วมกัน นอกจากนี้ ยังสร้างความรู้สึกผูก พันกลมเกลียวต่อบุคคลในสังคมเดียวกัน และสร้างความรู้สึกหวงแหนในสาธารณสมบัติของสังคม และสิ่งแวดล้อมโดยการช่วยกันทำความสะอาดบ้านเรือน วัดวาอาราม ตลอดจนอาคารสถานที่สถานที่ต่าง ๆ

ประเพณีวันสงกรานต์

ประเพณีวันสงกรานต์

ประเพณีวันสงกรานต์ (Songkran Festival) คือ ประเพณีของประเทศไทย ลาว กัมพูชา พม่า ชนกลุ่มน้อยชาวไตแถบเวียดนาม และมนฑลยูนานของจีน รวมถึงศรีลังกา และประเทศทางตะวันออกของประเทศอินเดีย สันนิษฐานกันว่า ประเพณีสงกรานต์นั้นได้รับวัฒนธรรมมาจากเทศกาลโฮลีในอินเดีย แต่เทศกาลโฮลีจะใช้การสาดสีแทน โดยจะจัดให้มีขึ้นในทุกวันแรม 1 ค่ำ เดือน 4 ซึ่งก็คือเดือนมีนาคม

สงกรานต์ มาจากภาษาสันสฤกตว่า สํ-กรานต แปลว่า ก้าวขึ้น ย่างขึ้น หรือการเคลื่อนที่ย้ายที่ หมายถึง เวลาที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนจากราศีหนึ่งไปสู่อีกราศีหนึ่งทุก ๆ เดือน เรียกว่า สงกรานต์เดือน ยกเว้นเมื่อย้ายจากราศีมีนสู่ราศีเมษ ซึ่งเป็นสงกรานต์ปี จะเรียกชื่อพิเศษว่า มหาสงกรานต์ จึงเป็นวันขึ้นปีใหม่โดยวิธีนับทางสุริยคติ (วิธีนับวันและเดือนโดยถือกำหนดตำแหน่งดวงอาทิตย์เป็นหลัก) ดังนั้นการกำหนดนับวันสงกรานต์จึงตกอยู่ในระหว่างวันที่ 13, 14 และ 15 เมษายน ซึ่งทั้ง 3 วันจะมีชื่อเรียกเฉพาะ ดังนี้

  • วันที่ 13 เมษายน เรียกว่า มหาสงกรานต์ (วันผู้สูงอายุ)
  • วันที่ 14 เมษายน เรียกว่า วันเนา (วันครอบครัว)
  • วันที่ 15 เมษายน เรียกว่า วันเถลิงศก

ความสําคัญวันสงกรานต์: มากกว่าแค่สาดน้ำ

วันสงกรานต์ เป็นวันสำคัญวันหนึ่งของไทย เพราะวันนี้ เป็นวันฉลองการขึ้นปีใหม่ไทย ที่ยึดถือปฏิบัติกันมาช้านาน และวันนี้ ยังเป็นวันที่ครอบครัว จะได้อยู่พร้อมหน้า เนื่องจากหลาย ๆ ครอบครัว ที่มีลูกหลานที่ไปทำงานในต่างจังหวัด ก็จะได้ใช้โอกาสนี้กลับมารวมตัวกันอีกครั้งหนึ่ง และร่วมกันทำกิจกรรมร่วมกัน ทั้งกิจกรรมในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นการเล่นน้ำสงกรานต์ รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ หรือเป็นกิจกรรมที่มีประโยชน์ต่อสังคม ทั้งการขนทรายเข้าวัด ทำบุญ ทำทาน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ได้เสริมสร้างคุณค่า และความสำคัญของวันสงกรานต์ ให้ทวีคูณยิ่งขึ้น และส่งผลให้วันสงกรานต์ เป็นวันที่มีคุณค่า และความหมายต่อหลาย ๆ คน

Advertisement
  1. ส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่: ตามความเชื่อโบราณ สงกรานต์เป็นการเริ่มต้นศักราชใหม่ เป็นช่วงเวลาแห่งการปลดล้างสิ่งชั่วร้าย สิ่งไม่ดีออกไปจากชีวิต และเปิดรับสิ่งใหม่ๆ ที่ดีงามเข้ามา
  2. สืบสานประเพณีทางศาสนา: การทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระ สร้างกุศลผลบุญ เป็นการแสดงความเคารพต่อพระพุทธศาสนา เสริมสร้างความสงบสุขในจิตใจ และเชื่อมสัมพันธ์กับชุมชน
  3. รำลึกถึงผู้มีพระคุณ: ประเพณีรดน้ำดำหัว เป็นการแสดงความเคารพ กตัญญูกตเวทีต่อผู้ใหญ่ในครอบครัวและชุมชน ขอขมาลาโทษในสิ่งที่เคยล่วงเกิน และขอพรเพื่อความเป็นสิริมงคล
  4. เสริมสร้างความสัมพันธ์: สงกรานต์เป็นช่วงเวลาที่ครอบครัว ญาติพี่น้อง ที่อยู่ห่างไกลได้กลับมารวมตัวกัน ทำกิจกรรมร่วมกัน เสริมความรักความผูกพัน สร้างความทรงจำดีๆ
  5. ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม: การเล่นดนตรีไทย การรำวง การประกวดนางสงกรานต์ เป็นการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทย ให้คงอยู่สืบต่อไป
  6. กระตุ้นเศรษฐกิจ: สงกรานต์เป็นช่วงวันหยุดยาว ส่งผลให้มีการจับจ่ายใช้สอย การท่องเที่ยว ค้าขายสินค้าพื้นเมือง ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจระดับชุมชนและประเทศ
  7. อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม: ประเพณีปล่อยนก ปล่อยปลา เป็นการแสดงความเมตตาต่อสัตว์โลก เสริมสร้างค่านิยมการดูแลสิ่งแวดล้อม
  8. ส่งเสริมคุณค่าทางจริยธรรม: การเล่นสงกรานต์อย่างมีน้ำใจ เอื้อเฟื้อต่อกัน ไม่เล่นน้ำแรง ไม่ล่วงละเมิดผู้อื่น เป็นการปลูกฝังคุณธรรมที่ดีงาม
  9. สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้ประเทศไทย: สงกรานต์เป็นเทศกาลที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศไทยในฐานะประเทศที่มีวัฒนธรรมประเพณีอันงดงาม
  10. สร้างความสุขและความบันเทิง: สงกรานต์เป็นช่วงเวลาแห่งความสนุกสนาน รื่นเริง ผ่อนคลายจากความเครียด สร้างความสดชื่นให้ชีวิต

เห็นได้ว่า วันสงกรานต์ ไม่ใช่แค่การสาดน้ำเท่านั้น แต่ยังมีคุณค่าทางด้านศาสนา วัฒนธรรม ความสัมพันธ์ และจริยธรรม เป็นประเพณีที่ควรอนุรักษ์และสืบทอดต่อไป

ตำนานประเพณีวันสงกรานต์

การกำเนิดวันสงกรานต์ มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาโดยใจความจารึกที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามฯ ว่าเมื่อต้นภัทรกัลป์ มีเศรษฐีคนหนึ่ง มั่งมีทรัพย์มาก แต่ไม่มีบุตร บ้านอยู่ใกล้กับนักเลงสุรา ซึ่งนักเลงสุรานั้นมีบุตร 2 คน ที่ผิวเนื้อดุจดั่งทอง วันหนึ่งนักเลงสุราเข้าไปในบ้านของเศรษฐีผู้นั้น แล้วด่าด้วยถ้อยคำที่หยาบคายต่าง ๆ นาน ๆ เศรษฐีเมื่อได้ฟังแล้วจึงถามว่า

พวกเจ้ามาพูดหยาบคายดูหมิ่นเราผู้เป็นเศรษฐีเพราะเหตุใด

พวกนักเลงสุราจึงตอบว่า

ท่านมีสมบัติมากมายแต่หามีบุตรไม่ เมื่อท่านตายไป สมบัติก็จะอันตรธานไปมหด หาประโยชน์อันใดมิได้ เพราะขาดทายาทผู้ปกครอง ข้าพเจ้ามีบุตรถึง 2 คน อีกทั้งรูปร่างงดงามเสียด้วย ข้าพเจ้าจึงดีกว่าท่าน

เศรษฐีได้ฟังก็เห็นจริงด้วย จึงเกิดความละอายต่อนักเลงสุรายิ่งนัก นึกใคร่อยากได้บุตรบ้าง จากนั้นได้ทำการบวงสรวงพระอาทิตย์และพระจันทร์ ตั้งจิตอธิษฐานเพื่อขอให้มีบุตร เมื่ออยู่ถึง 3 ปี ก็มิได้มีบุตรตามที่ปราถนา

เมื่อขอบุตรจากพระอาทิตย์และพระจันทร์มิได้ตามดังที่ปราถนา อยู่มาวันหนึ่งเมื่อถึงฤดูคิมหันต์ จิตรมาส (เดือน 5) โลกสมมติว่าเป็นวันมหาสงกรานต์ คือ พระอาทิตย์ยกจากราศีมีนประเวสสู่ราศีเมษ ผู้คนทั้งหลายต่างพากันเล่นนักขัตฤกษ์อันเป็นการรื่นเริงขึ้นปีใหม่ไปทั่วทั้งชมพูทวีป ขณะนั้น เศรษฐีจึงพาข้าทาสบริวารไปยังต้นไทรริมฝั่งแม่น้ำอันเป็นที่อยู่แห่งปักษีชาติทั้งหลาย เอาข้าวสารซาวน้ำ 7 ครั้งแล้วหุงบูชา รุกขพระไทร พร้อมด้วยสูปพยัญชนะอันประณีต และประโคมด้วยดุริยางค์ดนตรีต่าง ๆ ตั้งจิตอธิษฐานขอบุตรจากรุกขพระไทร รุกขพระไทรมีความกรุณา เหาะไปขอบุตรกับพระอินทร์ให้กับเศรษฐี

ตำนานนางสงกรานต์

ต่อมา พระอินทร์จึงให้ธรรมบาลเทวบุตรลงไปปฏิสนธิในครรภ์ บิดามารดาจึงขนานนามว่า ธรรมบาลกุมาร แล้วปลูกปราสาทขึ้นให้กุมารอยู่ใต้ต้นไทรริมสระฝั่งแม่น้ำนั้น ครั้นเมื่อกุมารเจริญขึ้นก็รู้ภาษานกและเรียนจบไตรเพทเมื่อมีอายุได้ 8 ขวบ อีกทั้งยังได้เป็นอาจารย์บอกมงคลการต่าง ๆ แก่มนุษย์ชาวชมพูทวีปทั้งปวง ซึ่งขณะนั้น โลกทั้งหลายนับถือท้าวมหาพรหม มีกบิลพรหมองค์หนึ่งได้แสดงมงคลการแก่มนุษย์ทั้งปวง เมื่อกบิลพรหมได้แจ้งเหตุที่ธรรมกุมารเป็นผู้มีชื่อเสียง เป็นที่นับถือของมนุษย์ชาวโลกทั้งหลาย จึงได้ลงมาถามปัญหาแก่ธรรมกุมาร 3 ข้อ ดังความว่า

  1. เวลาเช้า สิริ คือ ราศีอยู่ที่ไหน
  2. เวลาเที่ยง สิริ คือ ราศีอยู่ที่ไหน
  3. เวลาเย็น สิริ คือ ราศีอยู่ที่ไหน

ท้าวกบิลพรหมได้ให้สัญญาว่า ถ้าท่านแก้ปัญหา 3 ข้อนี้ได้ เราจะตัดศีรษะมาบูชาท่าน ถ้าท่านแก้ไม่ได้ เราจะตัดศีรษะของท่านเสีย ธรรมกุมารรับสัญญา แต่ผลัดแก้ปัญญาไป 7 ท้าวกบิลพรหมก็กลับไปยังพรหมโลก

ฝ่ายธรรมบาลกุมารพิจารณาปัญหานั้นล่วงไปได้ 6 แล้ว แต่ก็ยังไม่เห็นอุบายที่จะตอบปัญหาได้ จึงคิดว่าพรุ่งนี้แล้วหนอที่เราจะต้องตายด้วยอาญาของท้าวกบิลพรหม เราหาต้องการไม่ จำจะหนีไปซุกซ่อนตนเสียดีกว่า เมื่อคิดแล้วก็ลงจากปราสาท ออกเที่ยวนอนที่ต้นตาล 2 ต้นซึ่งมีนกอินทรี 2 ตัวผัวเมียทำรังอยู่บนต้นตาลนั้น

ขณะที่ธรรมบาลกุมารนอนอยู่ใต้ต้นตาลนั้นพลางได้ยินเสียงนางนกอินทรีถามผัวว่า พรุ่งนี้เราจะไปหาอาหารที่ไหน นกอินทรีตัวผู้จึงตอบว่า พรุ่งนี้ครบ 7 วันที่ท้าวกบิลพรหมถามปัญหาแก่ธรรมบางกุมาร แต่หากธรรมบาลกุมารแก้ไม่ได้ ท้าวกบิลพรหมก็จะตัดศีรษะเสียตามสัญญา เราทั้ง 2 จะได้กินเนื้อมนุษย์ คือ ธรรมบาลกุมารเป็นอาหาร นางนกอินทรีจึงถามว่า ท่านรู้ปัญหาหรือ ผู้ผัวตอบว่ารู้ แล้วก็เล่าให้นางนกอินทรีฟังตั้งแต่ต้นจนปลายว่า

  1. เวลาเช้า ราศีอยู่ที่ หน้า คนทั้งหลายจึงเอาน้ำล้างหน้า
  2. เวลาเที่ยง ราศีอยู่ที่ อก คนทั้งหลายจึงเอาน้ำและแป้งกระแจะจันทร์ลูกไล้ที่อก
  3. เวลาเย็น ราศีอยู่ที่ เท้า คนทั้งหลายจึงเอาน้ำล้างเท้า

ธรรมบาลกุมารที่นอนอยู่ใต้ต้นไม้ได้ยินการสนทนาของทั้งสองก็จำได้ จึงมีความโสมนัส ปีติ ยินดีเป็นอันมาก จึงเดินทางกลับมาที่ปราสาทของตน ครั้นถึงวาระเป็นคำรบ 7 วันตามสัญญา ท้าวกบิลพรหมก็ลงมาถามปัญหาทั้ง 3 ข้อตามที่นัดหมายกันไว้ ธรรมบาลกุมารก็วิสัชนาแก้ปัญหาทั้ง 3 ข้อตามที่ได้ฟังมาจากนกอินทรีนั้น ท้าวกบิลพรหมยอมรับว่าถูกต้อง และยอมแพ้แก่ธรรมบาล จำต้องตัดศีรษะของตันบูชาตามที่สัญญาไว้ แต่ก่อนที่จะตัดศีรษะ ได้เรียกธิดาทั้ง 7 อันเป็นบาทบริจาริกาของพระอินทร์ คือ

  1. นางทุงษะเทวี
  2. นางรากษเทวี
  3. นางโคราคเทวี
  4. นางกิริณีเทวี
  5. นางมณฑาเทวี
  6. นางกิมิทาเทวี
  7. นางมโหธรเทวี
  8. ประวัติวันสงกรานต์

อันโลกสมมติว่าเป็นองค์มหาสงกรานต์กับทั้งเทพบรรษัทมาพร้อมกัน จึงได้บอกเรื่องราวให้ทราบและตรัสว่า พระเศียรของเรานี้ ถ้าตั้งไว้บนแผ่นดินก็จะเกิดไฟไหม้ไปทั่วโลกธาตุ ถ้าจะโยนขึ้นไปบนอากาศฝนก็จะแล้ง เจ้าทั้ง 7 จงเอาพานมารองรับเศียรของบิดาไว้เถิด ครั้นแล้วท้าวกบิลพรหมก็ตัดพระเศียรแค่พระศอส่งให้นางทุงษะเทวีธิดาองค์ใหญ่ในขณะนั้น โลกธาตุก็เกิดโกลาหลอลเวงยิ่งนัก

เมื่อนางทุงษะมหาสงกรานต์นำพานมารองรับพระเศียรของท้าวกบิลพรหม แล้วให้เทพบรรษัทแห่ประทักษิณเวียนรอบเขาพระสุเมรุ 60 นาที จากนั้นจึงเชิญเข้าประดิษฐานไว้ในมณฑป ณ ถ้ำคันธุลี เขาไกรลาศ กระทำการบูชาด้วยเครื่องทิพย์ต่างๆ ต่อมาพระวิษณุกรรมเทพบุตรได้เนรมิตโลงแก้ว อันประกอบไปด้วยแก้ว 7 ประการ แล้วให้เทพยดาทั้งหลายนำมาซึ่งเถาฉมุนาตลงล้างน้ำในสระอโนดาต 7 ครั้ง แล้วแจกกันสังเวยทั่วทุก ๆ พระองค์ ครั้นได้วาระครบกำหนด 365 วัน โลกสมมติว่าปีหนึ่งเป็นวันสงกรานต์ เทพธิดาทั้ง 7 ก็ทรงเทพพาหนะต่าง ๆ ผลัดเปลี่ยนเวียนมาเชิญพระเศียรท้าวกบิลพรหมออกแห่ พร้อมด้วยเทพบรรษแสนโกฏิประทักษิณเวียบรอบเขาพระสุเมรุราชบรรษัทเป็นเวลา 60 นาที แล้วจึงนำกลับไปประดิษฐานไว้ตามเดิม ซึ่งในแต่ละปีก็จะมีนางสงกรานต์แต่ละนางมาทำหน้าที่ผลัดเปลี่ยนกันตามวันมหาสงกรานต์

กิจกรรมวันสงกรานต์

กิจกรรมประเพณีวันสงกรานต์

การทำบุญตักบาตร

นับว่าเป็นการสร้างบุญสร้างกุศลให้กับตนเอง อีกทั้งยังเป็นการอุทิศส่วนกุศลนั้นให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว การทำบุญในลักษณะนี้มักจะมีการเตรียมไว้ล่วงหน้า เมื่อถึงเวลาทำบุญก็จะนำอาหารไปตักบาตรถวายพระภิกษุที่ศาลาวัดโดยจัดเป็นที่รวมสำหรับการทำบุญ ในวันเดียวกันนี้หลังจากที่ได้ทำบุญเสร็จเรียบร้อย ก็จะมีการก่อเจดีย์ทรายอันเป็นประเพณีที่สำคัญในวันสงกรานต์อีกด้วย

การรดน้ำ

นับได้ว่าเป็นการอวยพรปีใหม่ให้แก่กันและกัน น้ำที่นำมาใช้รดหัวในการนี้มักเป็นน้ำหอมเจือด้วยน้ำธรรมดา

การสรงน้ำพระ

เป็นการรดน้ำพระพุทธรูปที่บ้านและที่วัด ซึ่งในบางที่ก็จะมีการจัดให้สรงน้ำพระสงฆ์เพิ่มเติมด้วย

การบังสุกุลอัฐิ

สำหรับเถ้ากระดูกของญาติผู้ใหญ่ที่ได้ล่วงลับไปแล้ว มักทำที่เก็บเป็นลักษณะของเจดีย์ จากนั้นจะนิมนต์พระไปบังสุกุล

การรดน้ำผู้ใหญ่

คือการที่เราไปอวยพรผู้ใหญ่ใที่ห้ความเคารพนับถือ อย่าง ครูบาอาจารย์ มักจะนั่งลงกับที่ จากนั้นผู้ที่รดก็จะเอาน้ำหอมเจือกับน้ำธรรมดารดลงไปที่มือ ผู้หลักผู้ใหญ่ก็จะให้ศีลให้พรผู้ที่ไปรด หากเป็นพระก็อาจนำเอาผ้าสบงไปถวายเพื่อให้ผลัดเปลี่ยนด้วย แต่หากเป็นฆราวาสก็จะหาผ้าถุง หรือผ้าขาวม้าไปให้เปลี่ยน มีความหมายกับการเริ่มต้นสิ่งใหม่ ๆ ในวันปีใหม่ไทย

การดำหัว

มีจุดประสงค์คล้ายกับการรดน้ำของทางภาคกลาง ส่วนใหญ่จะพบเห็นการดำหัวได้ทางภาคเหนือ การดำหัวทำเพื่อแสดงความเคารพต่อผู้ที่อาวุโสว่า ไม่ว่าเป็น พระ ผู้สูงอายุ ซึ่งจะมีการขอขมาในสิ่งที่ได้ล่วงเกิน หรือเป็นการขอพรปีใหม่จากผู้ใหญ่ ของที่ใช้ในการดำหัวหลัก ๆ ประกอบด้วย อาภรณ์ มะพร้าว กล้วย ส้มป่อย เทียน และดอกไม้

การปล่อยนกปล่อยปลา

ถือว่าการล้างบาปที่เราได้ทำไว้ เป็นการสะเดาะเคราะห์ร้ายให้กลายเป็นดี มีแต่ความสุข ความสบายในวันขึ้นปีใหม่

การขนทรายเข้าวัด

ในทางภาคเหนือนิยมขนทรายเข้าวัดเพื่อเป็นนิมิตโชคลาคให้พบแต่ความสุข ความเจริญ เงินทองไหลมาเทมาดุจทรายที่ขนเข้าวัด แต่ก็มีบางพื้นที่มีความเชื่อว่า การนำทรายที่ติดเท้าออกจากวัดเป็นบาป จึงต้องขนทรายเข้าวัดเพื่อไม่ให้เกิดบาป

วันสงกรานต์

ประเพณีสงกรานต์ในแต่ละท้องถิ่น

สงกรานต์ภาคเหนือ

สงกรานต์ล้านนา หรือ ประเพณีปี๋ใหม่เมือง อันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ เริ่มตั้งแต่ วันสังขารล่อง 13 เมษายน ที่มีการทำความสะอาดบ้านเพื่อความเป็นสิริมงคล วันเนา หรือ วันเน่า 14 เมษายน วันที่ห้ามใครด่าทอว่าร้ายเพราะจะทำให้โชคร้ายไปตลอดทั้งปี วันพญาวัน หรือ วันเถลิงศก 15 เมษายน วันนี้ชาวบ้านจะตื่นแต่เช้าทำบุญตักบาตรเข้าวัดฟังธรรม ก่อนจะไปรดน้ำดำหัวขอขมาญาติผู้ใหญ่ในช่วงบ่าย วันปากปี 16 เมษายน ชาวบ้านจะพากันไปรดน้ำเจ้าอาวาสตามวัดต่าง ๆ เพื่อขอขมาคารวะ และ วันปากเดือน 17 เมษายน เป็นวันที่ชาวบ้านส่งเคราะห์ต่าง ๆ ออกไปจากตัวเพื่อปิดฉากประเพณีสงกรานต์ล้านนา

สงกรานต์ภาคอีสาน

สงกรานต์ภาคอีสาน นิยมจัดกันอย่างเรียบง่าย แต่ว่ามากไปด้วยความอบอุ่น โดยคนอีสานจะเรียกประเพณีสงกรานต์ว่า บุญเดือนห้า หรือ ตรุษสงกรานต์ และจะถือฤกษ์ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 เวลาบ่าย 3 โมง เป็นเวลาเริ่มงานโดยพระสงฆ์จะตีกลองโฮมเปิดศักราช จากนั้นญาติโยมจะจัดเตรียมน้ำอบหาบไปรวมกันที่ศาลาวัดเพื่อสรงน้ำพระพุทธรูป แล้วต่อด้วยการรดน้ำดำหัว ปู่ ย่า ตา ยาย และญาติผู้ใหญ่ เพื่อขอขมาลาโทษจากนั้นก็จะเป็นการเล่นสาดน้ำสงกรานต์กันอย่างสนุกสนาน

สงกรานต์ภาคใต้

สงกรานต์ภาคใต้ ตามความเชื่อของประเพณีสงกรานต์แบบดั้งเดิมที่ภาคใต้แล้ว สงกรานต์เป็นช่วงเวลาแห่งการผลัดเปลี่ยนเทวดาผู้รักษาดวงชะตาบ้านเมือง พวกเขาจึงถือเอาวันแรกของสงกรานต์ (13 เมษายน) เป็น วันส่งเจ้าเมืองเก่า โดยจะทำพิธีสะเดาะเคราะห์สิ่งไม่ดีออกไป ส่วน วันว่าง 14 เมษายน ชาวนครจะไปทำบุญตักบาตรที่วัด และสรงน้ำพระพุทธรูป และวันสุดท้ายเป็น วันรับเจ้าเมืองใหม่ 15 เมษายน จะทำพิธีต้อนรับเทวดาองค์ใหม่ด้วยการแต่งองค์ทรงเครื่องอย่างสวยงามส่งท้ายสงกรานต์ประเพณีสงกรานต์

สงกรานต์ภาคกลาง

สงกรานต์ภาคกลาง เริ่มขึ้นในวันที่ 13 เมษายน เป็นวัน มหาสงกรานต์ วันที่ 14 เป็น วันกลาง หรือ วันเนา วันที่ 15 เป็นวัน วันเถลิงศก ทั้ง 3 วันประชาชนจะประกอบพิธีทางศาสนา มีการทำบุญตักบาตร ปล่อยนกปล่อยปลา การกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติผู้ล่วงลับ การสรงน้ำพระ การขนทรายเข้าวัดก่อพระเจดีย์ทราย

สงกรานต์รูปแบบเฉพาะ

  • สงกรานต์ผูกสายสิญจน์เชื่อมโยงพระธาตุสองแผ่นดิน หรือ สงกรานต์นครพนม รื่นรมย์ บุญปีใหม่ไทย-ลาว ณ อำเภอเมืองและอำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม ในงานจะมีการฮดสรง หรือสรงน้ำพระธาตุประจำวันเกิดทั้ง 7 แห่ง
  • สงกรานต์อุ้มสาวลงน้ำ หรือ ประเพณีสงกรานต์อุ้มสาวลงน้ำ ณ เกาะสีชัง และเกาะขามใหญ่ จังหวัดชลบุรี
  • สงกรานต์แห่นางดาน หรือ เทศกาลมหาสงกรานต์เมืองนครศรีธรรมราช จัดขึ้น ณ สวนสาธารณะศรีธรรมาโศกราช สนามหน้าเมือง และ หอพระอิศวร จังหวัดนครศรีธรรมราช
  • สงกรานต์ปาร์ตี้โฟม มีพื้นที่ปาร์ตี้โฟมที่ปิดล้อมด้วยพลาสติกใส
  • สงกรานต์ล่องเรือสาดน้ำ เป็นการนั่งเรือหางยาวสาดน้ำสงกรานต์กับชุมชนริมสองฟากฝั่งคลอง
  • หาดใหญ่ มิดไนท์ สงกรานต์ ณ ถนนเสน่หานุสรณ์ และถนนนิพัทธ์อุทิศ 3 อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ในช่วงเย็นถึงกลางคืน โดยเทศกาลนี้ได้เริ่มจัดมาตั้งแต่ปี 2547
  • การเล่นคลื่นมนุษย์ถนนข้าวเหนียว จ.ขอนแก่น ในช่วงท้ายของกิจกรรมถนนข้าวเหนียว ประชาชนและนักท่องเที่ยวจะพร้อมใจกันทำคลื่นมนุษย์ที่ยาวที่สุดพร้อมกันอย่างสวยงามซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของสงกรานต์ ถนนข้าวเหนียว เป็นแห่งเดียวในไทยที่มีกิจกรรมเช่นนี้ จัดขึ้นครั้งแรกในปี 2552
คำขวัญวันสงกรานต์

คำขวัญประเพณีวันสงกรานต์

คำขวัญวันสงกรานต์ 2552

คำขวัญวันสงกรานต์ ประจำปี 2552 คือ “สงกรานต์สมานสามัคคี สืบทอดประเพณี ทุกชีวีปลอดภัย” โดย นายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

คำขวัญวันสงกรานต์ 2553

คำขวัญวันสงกรานต์ ประจำปี 2553 คือ “สงกรานต์สร้างสรรค์ ยึดมั่นประเพณี ปลอดภัยทุกชีวี สามัคคีทั่วไทย” โดย นายพรเทพ ประดิษฐ์ชัยกุล ซึ่งเป็นผู้ชนะการประกวดคำขวัญ จาก คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ

คำขวัญวันสงกรานต์ 2555

คำขวัญวันสงกรานต์ ประจำปี 2555 คือ “รณรงค์ปลอดภัย ตายเป็นศูนย์” โดย นายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

เกร็ดความรู้วันสงกรานต์

สงกรานต์ภาคกลาง

  • 13 เมษายน จะเรียกว่า “วันมหาสงกรานต์” และถือเป็นวันผู้สูงอายุแห่งชาติอีกด้วย
  • 14 เมษายน จะเรียกว่า “วันเนา” และถือเป็นวันครอบครัว
  • 15 เมษายน จะเรียกว่า “วันเถลิงศก” ถือว่าเป็นวันเริ่มจุลศักราชใหม่

สงกรานต์ภาคเหนือ

  • 13 เมษายน จะเรียกว่า “วันสงขารล่อง” ความหมายว่า อายุสิ้นปีหมดไปอีกปี
  • 14 เมษายน จะเรียกว่า “วันเน่า” วันที่ห้ามพูดคำหยาบคาย
  • 15 เมษายน จะเรียกว่า “วันพญาวัน” ถือว่าเป็นวันเริ่มจุลศักราชใหม่

สงกรานต์ภาคใต้

  • 13 เมษายน จะเรียกว่า “เจ้าเมืองเก่า” เชื่อกันว่าวันที่เทวดารักษาบ้านเมืองจะกลับบนสวรรค์
  • 14 เมษายน จะเรียกว่า “วันว่าง” วันที่ปราศจากเทวดารักษาเมือง
  • 15 เมษายน จะเรียกว่า “วันรับเจ้าเมืองใหม่” วันรับเทวดาองค์ใหม่เพื่อดูแลบ้านเมืองแทนองค์เดิม
ประเพณีสงกรานต์ทั่วโลก
“โฮลิ” (Holi) หรือ “โฮลิปูรณิมา”

ประเพณีสงกรานต์ทั่วโลก

สงกรานต์ประเทศไทย

สงกรานต์หรือปีใหม่ไทย ตรงกับวันที่ 13 เมษายนของทุกปี ประเทศไทยมีประเพณีสงกรานต์มาแต่โบราณ มีการทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระ รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่

ประเพณีโฮลิ ประเทศอินเดีย

จะมีกี่คนที่รู้บ้างว่าสงกรานต์บ้านเรา มีต้นกำเนิดมาจากประเทศอินเดีย แต่ที่นั่นไม่ได้เล่นน้ำเหมือนเรานะ จะเป็นการสาดสีกัน เรียกว่า โฮลิ (Holi) หรือ โฮลิปูรณิมา ซึ่ง จะตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 (ราว ๆ เดือนมีนาคม) ซึ่งก็คือการก้าวย่างเพื่อเปลี่ยนผ่านจากราศีหนึ่งไปยังอีกราศีหนึ่ง จะมีการเฉลิมฉลองด้วยการสาดสี เชื่อกันว่าเป็นการปัดเป่าเชื้อโรคร้ายให้ออกจากร่างกายเราให้หมดสิ้น

สงกรานต์หลวงพระบาง ประเทศลาว

ประเทศลาว บ้านพี่เมืองน้องของเราที่มีวัฒนธรรมใกล้เคียงกับไทยมากที่สุด จัดขึ้นในช่วงเดือน 5 (เดือนเมษายน) โดยส่วนใหญ่จะจัดระหว่างวันที่ 14-16 เมษายนของทุกปี มีลักษณะใกล้เคียงกับประเพณีของล้านนาไทยเป็นอย่างมาก ทั้งการทำความสะอาดบ้านเรือน มีการบายศรีสู่ขวัญ อวยพรกัน และสรงน้ำพระ

เหย่บะแวด่อ ประเทศพม่า

สงกรานต์พม่า เรียกว่า เหย่บะแวด่อ (เหย่ แปลว่า “พิธีน้ำ” บะแวด่อ แปลว่า “เทศกาล”) จัดขึ้นช่วงเดือน 5 (เมษายน) ของไทย แต่เป็นเดือน 1 ของพม่า ที่เรียกว่า เดือนดะกู (ช่วงมีนาคม-เมษายน) เป็นการเริ่มต้นศักราชใหม่ และเป็นเดือนต้นฤดูร้อน ปัจจุบันรัฐบาลพม่ากำหนดประเพณีสงกรานต์ให้ตรงกับวันที่ 13-17 เมษายนของทุกปี จะมีการเข้าวัด รักษาศีล สรงน้ำพระ รดน้ำดำหัว และเมื่อสิ้นวันสงกรานต์ ชาวพม่าจะนิยมจัดงานบวชเณรให้ลูกชายและจัดงานเจาะหูให้ลูกสาว ดังนั้นจะเห็นขบวนแห่ลูกแก้วและลูกหญิงไปตามท้องถนนและรอบลานพระเจดีย์ ตามวัดต่าง ๆ

โจลชนัมทเมย ประเทศกัมพูชา

สงกรานต์ของกัมพูชา เรียกว่า โจลชนัมทเมย ซึ่ง เป็นช่วงต้นฤดูกาลเก็บเกี่ยว ในแต่ละปีรัฐบาลกัมพูชาอาจจะกำหนดให้จัดขึ้นในวันที่ 13-15 หรือ 14-16 เมษายน ซึ่งประเพณีก็ใกล้เคียงกับของไทย มีการทำบุญตักบาตร ก่อพระเจดีย์ทราย สรงน้ำพระ มีการละเล่นพื้นบ้าน รดน้ำดำหัว

พัวสุ่ยเจี๋ย สงกรานต์สิบสองปันนา

เป็นประเพณีสงกรานต์ของชาวไต หรือชาวไท ในสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน ทางตอนใต้ของจีน จะจัดงานสงกรานต์ประมาณวันที่ 13-15 เมษายน เรียกว่าเทศกาล พัวสุ่ยเจี๋ย มี การจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองต่าง ๆ การแข่งขันเรือมังกรที่เป็นเอกลักษณ์ของเทศกาลนี้ การระบำนกยูง ร้องรำทำเพลง การละเล่นน้ำ และการรดน้ำดำหัวให้กันและกัน เชื่อว่าจะเป็นการชะล้างสิ่งไม่ดีออกไปจากตัว

เพลง วันสงกรานต์ – รำวงเริงสงกรานต์

เนื้อเพลง วันสงกรานต์ – รำวงเริงสงกรานต์

หมู่. ฟ้าใหม่แล้วล่ะนะน้อง
สงกรานต์เร้าร้อง
ทำนองเพลงโทนโน่นไงจ๊ะ
โทนป๊ะโทนโทนทั้งโยกทั้งโยน
เย้ายวนยั่วใจ

ช.วันตรุษหยุดการหยุดงาน
สังคมชาวบ้านสิคร้านครึกครื้น
เริงสงกรานต์กัน
พอขวัญชื่นชื่นฉลองวันคืน
จนครื้นเครงคลาน
ดอกเอ๋ยมะเขือ
แม้ตัวเนื้อมันเต้น
เชิญน้องมาเล่นสงกรานต์

หมู่ ช. เอ้าเชิญน้องขึ้นวิมาน
รับฟ้าสงกรานต์กันกะพี่ปะไร
เอ้าเชิญน้องขึ้นวิมาน
รับฟ้าสงกรานต์กันกะพี่ปะไร

หมู่. ฟ้าใหม่แล้วล่ะนะน้อง
สงกรานต์เร้าร้อง
ทำนองเพลงโทนโน่นไงจ๊ะ
โทนป๊ะโทนโทนทั้งโยกทั้งโยน
เย้ายวนยั่วใจ

ญ.ฟังพี่นี่ชวนพี่เชิญ
ขวัญเอยมันเปิ่นสะเทิ้นท้อถอย
ชีวิตชีวาน้องหนาน้อยน้อย
รำแล้วจะพลอย
ลอยคว้างกลางลาน
ดอกเอ๋ยฟักทองรักจะร้องรำเต้น
ประสาเราเล่นสงกรานต์
เอ้ามาซิถ้าต้องการ
สำเริงสำราญกันเป็นคู่คู่ไป

หมู่ ญ. เอ้ามาซิถ้าต้องการ
สำเริงสงกรานต์กันเป็นคู่คู่ไป

หมู่. ฟ้าใหม่แล้วล่ะนะน้อง
สงกรานต์เร้าร้อง
ทำนองเพลงโทนโน่นไงจ๊ะ
โทนป๊ะโทนโทนทั้งโยกทั้งโยน
เย้ายวนยั่วใจ

ช.รำคู่อยู่เคียงใกล้กัน
ซ้ายทรวงมันสั่นมันซึ้งเสียวเสียว
งามแท้รำไทยเลื้อยไหลลดเลี้ยว
เราร้อยกรเกลียว
เพรียวพริ้วปลิวลมดอกเอ๋ยชบา
เหมือนนางฟ้ามาใกล้
มาเย้ายวนให้หลงชม
อ๋อนางฟ้าน่าชื่นชม
สวยจริงสวยสมงามตรงห่มสไบ

หมู่ ช. อ๋อนางฟ้าน่าชื่นชม
สวยจริงสวยสมงามตรงห่มสไบ

หมู่. ฟ้าใหม่แล้วล่ะนะน้อง
สงกรานต์เร้าร้อง
ทำนองเพลงโทนโน่นไงจ๊ะ
โทนป๊ะโทนโทนทั้งโยกทั้งโยน
เย้ายวนยั่วใจ

ญ.รำคู่อยู่เคียงพี่ชาย
หัวใจมันส่ายโยนซ้ายย้ายขวา
เพลินคล้ายคนธรรพ์
เคล้าขวัญคล้อยฟ้า
ไปค้างไปคาสุขาวดี
สวรรค์สงกรานต์แสนสนานสนุก
รำแล้วเป็นสุขทุกที
ซิเธอถึงว่านะซิ
สงกรานต์ทั้งปีรำกะพี่เรื่อยไป

หมู่ ญ. ซิเออถึงว่านะซิ
สงกรานต์ทั้งปีรำกะพี่เรื่อยไป

หมู่. ฟ้าใหม่แล้วล่ะนะน้อง
สงกรานต์เร้าร้อง
ทำนองเพลงโทนโน่นไงจ๊ะ
โทนป๊ะโทนโทนทั้งโยกทั้งโยน
เย้ายวนยั่วใจ
ฟ้าใหม่แล้วล่ะนะน้อง
สงกรานต์เร้าร้อง
ทำนองเพลงโทนโน่นไงจ๊ะ
โทนป๊ะโทนโทนทั้งโยกทั้งโยน
เย้ายวนยั่วใจ

ประเพณีวันสงกรานต์เป็นเทศกาลที่สำคัญของคนไทยมาช้านาน เป็นช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองการเริ่มต้นปีใหม่ เป็นการรวมตัวของครอบครัวและผู้คนทุกหมู่เหล่า เพื่อแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ รดน้ำดำหัวขอพรผู้ใหญ่ และเล่นสาดน้ำเพื่อความสนุกสนานรื่นเริง

สำหรับท่านที่สนใจเรียนรู้เกี่ยวกับวันสงกรานต์เพิ่มเติม สามารถอ่านบทความที่เกี่ยวข้องบนเว็บไซต์ของเรา หรือติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับประเพณีวันสงกรานต์บนโซเชียลมีเดียของเราได้

เรื่องที่เกี่ยวข้อง:

ที่มา – wikipedia.org

Advertisement

Advertisement

NaniTalk S.

เป็นนักเขียนที่ขยันขันแข็งและมุ่งมั่นที่จะผลิตเนื้อหาที่มีคุณภาพ เรียนรู้และเติบโตอยู่เสมอ เชื่อว่าเนื้อหาที่ดีสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อโลกได้

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button