วันสำคัญ

วันดินโลก 5 ธันวาคม วันสำคัญที่สะท้อนพระปรีชาสามารถของ ร.9

วันดินโลก (ภาษาอังกฤษ: World Soil Day) ตรงกับวันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี จากการประชุมขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ครั้งที่ 144 ระหว่างวันที่ 11-15 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ณ สำนักงานใหญ่องค์การเกษตรและอาหารแห่งสหประชาชาติ กรุงโรม ประเทศอิตาลี ที่ประชุมได้มีมติสนับสนุนและร่วมกันผลักดันให้มีการจัดตั้ง วันดินโลก (World Soil Day) ตรงกับวันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

Advertisement

วันดินโลก World Soil Day

สืบเนื่องมาจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับการพัฒนาที่ดินมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ปรากฏผลสำเร็จเป็นที่ประจักษ์อย่างกว้างขวางทั้งในประเทศและนานาชาติ โดยศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. สตีเฟน นอร์ตคลิฟฟ์ (Emeritus Professor Dr. Stephen Nortcliff) กรรมการบริหารสหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรม (The Humanitarian Soil Scientist) เมื่อวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2556 และขอพระบรมราชานุญาตให้วันที่ 5 ธันวาคมของทุกปีเป็น “วันดินโลก”

เพื่อให้วันดังกล่าวเป็นที่รู้จักแพร่หลายในระดับนานาชาติเกิดความต่อเนื่องและจริงจังในการรณรงค์ด้านทรัพยากรดินในทุกระดับ พร้อมทั้งสนับสนุนและส่งเสริมให้องค์การสหประชาชาติ จัดกิจกรรมเป็นการเฉพาะต่างๆ อาทิ การประกาศให้ พ.ศ. 2558 (ค.ศ. 2015) เป็น “ปีดินสากล” ตามที่องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) สหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ และสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงโรม นำเสนอประเด็นดังกล่าวเกี่ยวกับบทบาทและความสำคัญของทรัพยากรดินที่มีต่อความมั่นคงทางอาหารของโลก โดยสืบเนื่องจากประเทศไทยเป็นผู้ผลักดันข้อเสนอปีดินสากลต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ เพื่อให้วันที่ 5 ธ.ค. ของทุกปี เป็นวันดินโลก กระทั่งมีการรับรองข้อเสนอดังกล่าว

โครงการวันดินโลก

1. โครงการศึกษาฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้ม (อันเนื่องมาจากพระราชดำริ)

ตั้งอยู่ที่บ้านเขาชะงุ้ม หมู่ที่ 2 ตำบลเขาชะงุ้ม อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี เป็นศูนย์ศึกษาวิจัยและสาธิตวิธีการฟื้นฟูปรับปรุงดินเสื่อมโทรมให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นรูปแบบและส่งเสริมอาชีพเกษตรกรที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับพื้นที่ โครงการ ได้เรียนรู้วิธีการจัดการดิน น้ำ และพืชอย่างถูกต้อง มีความยั่งยืนไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

Advertisement

2. โครงการทดลองแก้ปัญหาดินเปรี้ยว

ด้วยพระปรีชาสามารถของในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่มีพระราชดำริแก้ปัญหาดินเปรี้ยวในจังหวัดนครนายก ด้วยการใช้วิธีธรรมชาติอย่างการเปลี่ยนถ่ายดินจากแปลงหนึ่งสู่แปลงหนึ่ง เพื่อลดความเปรี้ยวของดิน อีกทั้งพระองค์ยังได้พระราชทานพระราชดำริให้ใช้ปูนมาร์ล และสาหร่ายในการปรับสภาพน้ำให้ดีขึ้น และต่อมาก็ได้พระราชทานพระราชดำริให้มูลนิธิชัยพัฒนาดำเนินการศึกษาผลกระทบ ของการใช้เถ้าลอยลิกไนท์ เพื่อแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยวเพิ่มเติมอีกด้วย

3. โครงการหญ้าแฝก

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงศึกษาเรื่องการใช้หญ้าแฝกในการอนุรักษ์ดินและน้ำจากเอกสารของธนาคารโลก ที่นาย Richard Grimshaw ได้ทูลเกล้าฯ ถวาย และพระองค์ได้พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับหญ้าแฝก โดยให้ทรงทดลองปลูกหญ้าแฝกเพื่อป้องกันการพังทลายของดิน จนปัจจุบันมีหน่วยงานกว่า 50 หน่วยงาน ดำเนินงานสนองพระราชดำริการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝก ส่งผลให้การดำเนินงานก้าวหน้ามากขึ้นตามลำดับ

4. โครงการแกล้งดิน

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ทรงรับทราบความเดือดร้อนของพสกนิกรในภาคใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกรในจังหวัดนราธิวาส ที่ประสบปัญหาดินเปรี้ยวทำให้เพาะปลูกไม่ได้ผล พระองค์จึงมีพระราชดำริให้ทำการศึกษาวิจัยและพัฒนาดินพรุเพื่อแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยว ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง จังหวัดนราธิวาส โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการศึกษาและพัฒนาพื้นที่พรุ ซึ่งเป็นดินเปรี้ยวให้เป็นดินที่มีคุณภาพ สามารถทำการเพาะปลูกได้ ซึ่งพระองค์ทรงแนะนำให้ใช้วิธี “การแกล้งดิน” คือ เริ่มจากการแกล้งดินให้เปรี้ยวสุดขีด ด้วยการทำให้ดินแห้งและเปียกสลับกันเพื่อเร่งปฏิกิริยาทางเคมีของดินพรุที่มีสารประกอบของกำมะถันที่จะทำให้ดินมีสภาพเป็นกรดจัดเมื่อดินแห้ง จากนั้นจึงทำการปรับปรุงดินที่เป็นกรดจัดนั้นด้วยวิธีการต่าง ๆ ที่จะลดความเป็นกรดลงมาให้อยู่ในระดับที่จะปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น ข้าว ได้

5. โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน

ตั้งอยู่ที่อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นพื้นที่ที่ราษฎรน้อมเกล้าฯ ถวายที่ดิน จำนวน 216 ไร่ และครั้นพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ทอดพระเนตรเห็นสภาพความทุรกันดารของผืนดิน จึงมีพระราชดำริให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งดิน น้ำ ป่าไม้ ณ พื้นที่ดังกล่าว รวมทั้งหมู่บ้านรอบ ๆ ศูนย์ โดยการวางแผนปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ ทั้งยังให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน เป็นแหล่งศึกษา ค้นคว้า และสนามทดลองทางด้านการเกษตร เพื่อให้เกษตรกรและผู้ที่สนใจเข้ามาดูงานและนำแนวพระราชดำริไปปฏิบัติตาม และพัฒนาอาชีพและพื้นที่ของตนเพื่อเพิ่มผลผลิต เพื่อให้ประชาชนมีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น พร้อมทั้งพระองค์ยังมีพระราชดำริให้ส่งเสริมศิลปาชีพและหัตถกรรมพื้นบ้าน เป็นอาชีพเสริมเพิ่มรายได้จากอาชีพหลักอีกทางหนึ่งด้วย

6. โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย

หนึ่งในโครงการพระราชดำริที่ตั้งอยู่ ณ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งพื้นที่แห่งนี้เคยอุดมสมบูรณ์ แต่ได้ถูกราษฎรเข้าบุกรุกทำลายป่าเพื่อประกอบอาชีพเกษตรกรรม จนไม่เหลือป่าไม้และสัตว์ป่า ทำให้พื้นที่แห้งแล้ง ฝนไม่ตกตามฤดูกาล และสภาพพื้นดินเสื่อมโทรมอย่างหนัก ทำการเกษตรกรรมไม่ได้ผล พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 จึงได้พระราชทานพระราชดำริให้พัฒนาพื้นที่บริเวณห้วยทราย เป็นศูนย์ศึกษาการพัฒนาด้านป่าไม้อเนกประสงค์ โดยยึดแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ให้ใช้ประโยชน์จากพื้นที่ให้สมดุลกับทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ และสามารถฟื้นฟูให้มีศักยภาพในการทำเกษตรกรรมและความเป็นอยู่ของประชากรได้อย่างต่อเนื่อง

7. โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ แห่งนี้ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานพระราชดำริให้พัฒนาทรัพยากรธรรมชาติทั้งด้านทรัพยากรต้นน้ำ ด้านเกษตรกรรม ด้านปศุสัตว์และโคนม รวมทั้งด้านอุตสาหกรรม เนื่องมาจากมีพระราชประสงค์ที่จะให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ ทำหน้าที่เสมือนพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต ที่ประชาชนจะเข้าไปเรียนรู้และนำไปปฏิบัติได้
คำขวัญวันดินโลก

กิจกรรมวันดินโลก

กิจกรรมงานวันดินโลก จัดโดยกรมพัฒนาที่ดิน

นิทรรศงานเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรมและวันดินโลก 5 ธันวาคม ประกอบด้วย

  1. พระราชกรณียกิจในภาพรวมเรื่องของการพัฒนาทรัพยากรดิน น้ำ ป่าไม้ และการเกษตร
  2. ดิน ตามแนวพระราชดําริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
  3. ทรัพยากรดินของประเทศไทย และดินปัญหา
  4. แนวพระราชดําริในการแก้ไขดินปัญหาแต่ละประเภท และเกษตรทฤษฎีใหม่
  5. พระเกียรติยศของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในเรื่องของทรัพยากรดินและการพัฒนาที่ดิน และการถวายรางวัล นักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรม
  • พิธีจารึกพระนามลงในแผ่นดินเหนียว โดย สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
  • กิจกรรมการบรรยายพิเศษ โดยผู้ทรงคุณวุฒิ
  • การเสวนาและบรรยายจากเกษตรกรและหมอดินอาสาที่น้อมนําแนวพระราชดําริมาใช้ในการประกอบอาชีพและดํารงชีวิต
  • กิจกรรมการตอบปัญหาชิงรางวัล
  • กิจกรรมการแสดงเฉลิมพระเกียรติ
  • กิจกรรมการจุดเทียนชัย ถวายพระพร

กิจกรรมที่น่าสนใจที่จัดขึ้นโดย FAO

  • นิทรรศการพระราชกรณียกิจ หัวข้อ Securing healthy soils for a food secure world
  • การประชุมคณะรัฐมนตรีองค์การอาหารและเกษตรครั้งที่ 145 (The 145th FAO Council)
  • งานเฉลิมฉลองวันดินโลก (World Soil Day 2012) หัวข้อ “ดินดีเพื่อความมั่นคงทางการผลิตอาหารของโลก : วันแห่งความสำคัญของดิน” ณ สำนักงานใหญ่ FAO กรุงโรม สาธารณรัฐอิตาลี

คำขวัญวันดินโลก

Caring for the Planet starts from the Ground
รักษ์โลก เริ่มจากรักษ์ดิน สู่ความยั่งยืน

Advertisement

อ่านเพิ่มเติม
Advertisement

NaniTalk S.

เป็นนักเขียนที่ขยันขันแข็งและมุ่งมั่นที่จะผลิตเนื้อหาที่มีคุณภาพ เรียนรู้และเติบโตอยู่เสมอ เชื่อว่าเนื้อหาที่ดีสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อโลกได้

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button