วันสำคัญ

วันประถมศึกษาแห่งชาติ มีความเป็นมาอย่างไร

วันประถมศึกษาแห่งชาติ ตรงกับวันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปี วันที่รำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ที่มีต่อการศึกษาของไทย มาศึกษาดูกันว่าวันประถมศึกษาแห่งชาติ มีความเป็นมาอย่างไร

วันประถมศึกษาแห่งชาติ

วันประถมศึกษาแห่งชาติ ความเป็นมา

ประเทศไทยนับเป็นประเทศหนึ่งที่เล็งเห็นความสำคัญของการศึกษาเห็นได้จาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงจัดตั้งโรงเรียนหลวงสำหรับราษฎร์ขึ้นเป็นครั้งแรก ณ วัดมหรรณพาราม ต่อมาในปี 2464 พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติประถมศึกษา 2464 ขึ้น เพื่อกำหนดให้เด็กที่มีอายุ 7 ปี บริบูรณ์ทุกคนต้องเรียนหนังสืออยู่ในโรงเรียนจนอายุครบ 14 ปี บริบูรณ์ โดยไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน โดยพระราชบัญญัติประถมศึกษานี้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2464

ด้วยเหตุนี้กระทรวงศึกษาจึงได้กำหนดให้ วันที่ 1 ตุลาคมของทุกปีเป็นวันประถมศึกษาแห่งชาติ และได้จัดงานวันประถมศึกษาแห่งชาติเป็นประจำมาตั้งแต่ ปี 2491-2509

ต่อมาในวันที่ 1 ตุลาคม 2523 ได้จัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการประถมศึกษาขึ้น จึงได้โอนโรงเรียนประชาบาลกลับมาสังกัดคณะกรรมการการศึกษา การจัดงานวันศึกษาประชาบาลจึงสิ้นสุดลง และกลับมาจัดวันประถมศึกษาแห่งชาติขึ้นใหม่ โดยกำหนดให้เปลี่ยนจากวันที่ 1 ตุลาคม มาเป็นวันที่ 25 พฤศจิกายน ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวแทน เนื่องจากพระองค์ทรงเป็นผู้ให้การสนับสนุนการประถมศึกษาและพระราชทานตราพระราชบัญญัติ อีกทั้งเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระองค์ในคราเดียวกันกับวันวชิราวุธที่ตรงกับวันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปี

ลำดับการพัฒนาวงการศึกษาของไทย

ตั้งแต่สมัยสุโขทัย การเรียนหนังสือและถ่ายทอดสรรพวิชาต่าง ๆ จะสอนกันภายในวัง วัด หรือบ้าน แต่ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มีพระราชดำริที่จะให้คนไทยมีความรู้วิทยาการสมัยใหม่ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงเรียนหลวงแห่งแรกในพระบรมมหาราชวังในปี 2414 คือโรงเรียนนายทหารมหาดเล็ก ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ ตั้งขึ้นเพื่อสอนวิชาภาษาไทย คณิตศาสตร์ และขนบธรรมเนียมราชการ ต่อมาในปี 2427 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงเรียนหลวงสำหรับราษฎร์ขึ้นเป็นครั้งแรก คือโรงเรียนวัดมหรรณพาราม และมีโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย เป็นโรงเรียนเอกชนแห่งแรกของประเทศไทย

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงยกฐานะโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงสร้างในปี 2453 ขึ้นเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติประถมศึกษา 2464 ซึ่งเป็นการกำหนดการศึกษาภาคบังคับขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อให้เด็กทุกคนรู้หนังสือ โดยกำหนดให้เด็กที่มีอายุ 7-14 ปีบริบูรณ์ ต้องเข้าเรียนหนังสือในโรงเรียน โดยไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน นอกจากนี้ยังทรงตั้งโรงเรียนประชาบาลขึ้นตามท้องที่ต่าง ๆ โดยมีกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้ดูแล

วันประถมศึกษาแห่งชาติ

ความสำคัญของวันประถมศึกษาแห่งชาติ

  1. เพื่อเทิดพระเกียรติและรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงวางรากฐานการศึกษาของไทย
  2. เพื่อเผยแพร่และให้ความรู้งานด้านประถมศึกษาแก่ผู้ที่สนใจ จนนำไปสู่การพัฒนาด้านการเรียนการสอน
  3. เพื่อปลูกฝัง และให้เกิดความร่วมมือจากประชาชนตลอดจนส่วนที่เกี่ยวข้องให้ร่วมกันเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการประถมศึกษา
  4. เพื่อส่งเสริมความรู้และทักษะของนักเรียนระดับประถมศึกษา
  5. เพื่อส่งเสริมให้เกิดการเรียน การสอนที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

กิจกรรมต่าง ๆ ที่ควรปฏิบัติวันประถมศึกษาแห่งชาติ

  1. จัดเผยแพร่นิทรรศการต่าง ๆ โดยเผยแพร่พระเกียรติประวัติของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้า ที่มีต่อวงการศึกษาไทย
  2. จัดนิทรรศการเผยแพร่ แสดงประวัติความก้าวหน้าของการประถมศึกษาแห่งชาติและการศึกษาไทย
  3. จัดกิจกรรมทางวิชาการเสริมความรู้และทักษะด้านต่าง ๆ เพื่อเพิ่มประสบการณ์ให้แก่ นักเรียนรวมทั้งจัดประชุมและสัมมนาในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา เพื่อร่วมกันพัฒนาวงการศึกษาไทยให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

อ่านต่อ

NaniTalk S.

เป็นนักเขียนที่ขยันขันแข็งและมุ่งมั่นที่จะผลิตเนื้อหาที่มีคุณภาพ เรียนรู้และเติบโตอยู่เสมอ เชื่อว่าเนื้อหาที่ดีสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อโลกได้

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button