วันสำคัญ

20 มีนาคม วัน อสม.แห่งชาติ หรือ วันอาสาสมัครสาธารณสุขแห่งชาติ

วันอาสาสมัครสาธารณสุขแห่งชาติ หรือ อสม.แห่งชาติ ตรงกับวันที่ 20 มีนาคม ของทุกปี มาดูประวัติความเป็นมาของ วัน อสม.แห่งชาติ และกิจกรรมในวันที่ 20 มีนาคม

วัน อสม.แห่งชาติ

วัน อสม.แห่งชาติ

กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายที่จะให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขอย่างทั่วถึง ตลอดจนมีส่วนร่วมในการดำเนินงาน และพัฒนาสาธารณสุข จึงได้มีการจัดตั้งอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน เมื่อปี 2520 ซึ่งเริ่มด้วยการเป็นโครงการทดลองใน 20 จังหวัด จากนั้นก็ได้ขยายพื้นที่ทดลองไปเรื่อย ๆ ในทุกอำเภอ

กระทั่งในสมัย พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลได้เล็งเห็นความสำคัญของการสาธารณสุข จึงได้อนุมัติให้บรรจุ โครงการสาธารณสุขมูลฐานแห่งชาติ เข้าเป็นโครงการหนึ่งในแผนพัฒนาการสาธารณสุขแห่งชาติที่ถือเป็นนโยบายระดับชาติ และได้ลงมติอนุมัติให้เปลี่ยนคำว่า สาธารณสุขเบื้องต้น เป็น การสาธารณสุขมูลฐาน เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2522

ต่อมาในปี 2535 อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านก็ได้รับการยกระดับให้เป็น อาสาสมัครสาธารณสุข หรือ อสม. และถัดจากนั้นไม่นาน กระทรวงสาธารณสุขก็ได้เสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อขอให้กำหนดเอาวันที่ 20 มีนาคมของทุกปีเป็น วัน อสม.แห่งชาติ เพื่อเป็นการให้ความสำคัญของอาสาสมัครสาธารณสุข

Advertisement

ในที่สุดแล้ว เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2536 คณะรัฐมนตรีสมัยนายชวน หลีกภัย ก็ได้มีมติอนุมัติให้ทุกวันที่ 20 มีนาคมของทุกปี เป็น วันอาสาสมัครสาธารณสุขแห่งชาติ ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุขจึงได้เริ่มต้นจัดงานเฉลิมฉลองในนามวันอาสาสมัครสาธารณสุขแห่งชาติเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2537 เป็นต้นมา

ความหมายอาสาสมัครสาธารณสุข

ความหมายอาสาสมัครสาธารณสุข

อาสาสมัครสาธารณสุข หมายความถึง บุคคลที่สมัครใจ เสียสละ ทำงานเพื่อสังคมโดยส่วนรวม ในด้านการพัฒนาสุขภาพ ตามแนวนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข และไม่ได้รับค่าตอบแทนเป็นรายเดือน มีชื่อย่อว่า อสม. จำแนกเป็น 4 ประเภท ได้แก่

  1. อาสาสมัครสาธารณสุขในพื้นที่ภูมิภาค หมายความว่า อาสาสมัครสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่ส่วนภูมิภาค ทั้งในเขตชนบทและเขตเมือง รวมถึงเมืองพัทยา เรียกว่า อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)
  2. อาสาสมัครสาธารณสุข ในเขตกรุงเทพมหานคร หมายความว่า อาสาสมัครสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เรียกว่า อาสาสมัครกรุงเทพมหานคร (อสส.)
  3. อาสาสมัครสาธารณสุข ของหน่วยงานหรือองค์กรต่าง ๆ ที่ผ่านการอบรมตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุข เช่น อาสาสมัครสาธารณสุขการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (อสม.กฟผ.) และอาสาสมัครสาธารณสุขขนส่งมวลชน (อสม.ขสมก) ฯลฯ
  4. อาสาสมัครสาธารณสุขกิตติมศักดิ์ หมายความว่า บุคคลผู้ทำคุณประโยชน์หรือสนับสนุนการดำเนินงานของอาสาสมัครสาธารณสุข

วัตถุประสงค์ วัน อสม.แห่งชาติ

  1. เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพกันเองด้วยวิธีที่ง่ายประหยัด และทั่วถึง
  2. เพื่อช่วยบรรเทาภาวะขาดแคลนบุคลากรทางด้านสาธารณสุขในชนบท
  3. เพื่อแก้ไขปัญหารักษาพยาบาลหรือดูแลรักษาสุขภาพที่ไม่ถูกต้องของประชาชน

บทบาทหน้าที่ อสม

หน้าที่หลัก ๆ ของอาสาสมัครสาธารณสุข หรือ อสม. คือ ทำหน้าที่ดูแลคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนให้มีสุขภาพแข็งแรงอย่างทั่วถึงและต่อเนื่อง เพื่อให้คนในชุมชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ จนกลายเป็น ชุมชนจัดการระบบสุขภาพเข้มแข็ง เมืองไทยแข็งแรง ตามนโยบายของภาครัฐนั่นเอง

ทั้งนี้ ผู้ที่จะเข้ามาเป็นอาสาสมัครนั้น จะต้องมีความสมัครใจที่จะทำงานเพื่อส่วนรวมด้วยความเสียสละ และมีเวลาพอที่จะช่วยเหลือชุมชน นอกจากนี้ ควรจะเป็นคนที่มีที่อยู่อาศัยและประกอบอาชีพในหมู่บ้านนั้น ๆ ด้วย เพื่อให้ประชาชนเข้าไปติดต่อได้ง่าย

คุณสมบัติ อสม.

  1. มีความสมัครใจที่จะทำงานเพื่อส่วนรวมด้วยความเสียสละ และมีเวลาพอที่จะช่วยเหลือชุมชน
  2. มีความรู้อ่านออกเขียนได้
  3. เป็นผู้ที่ชาวบ้านไว้วางใจ
  4. มีที่อยู่อาศัยและประกอบอาชีพในหมู่บ้านนั้น ๆ
  5. มีอาชีพแน่นอนและมีรายได้เลี้ยงตนเอง
  6. ตั้งบ้านเรือนอยู่ในสถานที่ที่ประชาชนไปติดต่อได้ง่าย
  7. ไม่จำกัดเพศ และไม่จำกัดอายุ
  8. ไม่ควรเป็นข้าราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือแพทย์ประจำตำบล

ในการคัดเลือกอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน จะคัดเลือกโดยวิธีออกเสียงในที่ประชุม ซึ่งประกอบด้วยกรรมการพัฒนาหมู่บ้าน (ถ้ามี) กลุ่มผู้สื่อข่าวสาธารณสุข และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขตำบล แต่จะไม่มีการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการจากทางราชการ เพื่อหลีกเลี่ยงความเข้าใจว่า อสม. เป็นข้าราชการ ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี ที่อาสาสมัครสาธารณสุข ได้มีส่วนร่วมในการให้ความช่วยเหลือประชาชนให้มีสุขภาพอนามัยดีขึ้น

ช่วยให้ประเทศชาติลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่ไม่จำเป็นลง ได้อย่างมหาศาลโดยทำหน้าที่ไนการ แก้ข่าวร้ายกระจ่ายข่าวดีชี้บริการ ประสานงานสาธารณสุข บำบัดทุกข์ประชาชน ทำตนเป็นตัวอย่างที่ดี ด้วยความวิริยุอุตสาหะ โดยปัจจุบันได้มีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. เป็นจำนวนถึง 686,537 คน กระจายอยู่ทั่วประเทศทั้งในเขตเมือง และเขตชนบท เพื่อทำหน้าที่ในการ ถ่ายทอดความรู้ กระตุ้นเตือน และส่งเสริมชักชวนให้พี่น้องประชาชนดูแลสุขภาพและป้องกันโรค โดยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพให้ถูกต้องตามแนวสุขบัญญัติแห่งชาติ 10 ประการ ทำให้ประชาชนมีสุขภาพอนามัยและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

รัฐบาลได้ตระหนักถึงคุณค่าและคุณความดีของอาสาสมัครสาธารณสุขจึงได้มีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2536 กำหนดให้ วันที่ 20 มีนาคมของทุกปี เป็นวันอาสาสมัครสาธารณสุขแห่งชาติ ซึ่งไม่เพียงแต่จะเป็นวันที่มีความสำคัญ และมีความหมายต่ออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน เท่านั้น แต่ยังเป็นวันที่มีความสำคัญต่อการสาธารณสุขในประเทศไทยอีกด้วย เนื่องจากวันที่ 20 มีนาคม 2522 เป็นวันที่รัฐบาลได้บรรจุให้การสาธารณสุขมูลฐานเป็นนโยบายและโครงการระดับชาติ

อสม.ออนไลน์

อสม.ออนไลน์

อสม.ออนไลน์ คือ เครือข่ายสัังคมออนไลน์เฉพาะกลุ่มสำหรับหน่วยบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิและอสม. เพื่อสื่อสารข้อมูล ภาพ เสียง วิดีโอ ข้อความ และพิกัดแผนที่ระหว่างสมาชิกในกลุ่ม ผ่านรูปแบบ การแจ้งข่าวสาร และการสนทนาทำให้สมาชิกในเครือข่าย สามารถรับรู้ข้อมูลข่าวสาร และเหตุการณ์ความเคลื่อนไหว ด้านสาธารณสุขและภัยสุขภาพภายในชุมชน ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ฉับไว ถูกต้อง แม่นยำ

กิจกรรมวันอาสาสมัครสาธารณสุขแห่งชาติ

ในวันที่ 20 มีนาคมของทุกปี หน่วยงานและจังหวัดต่าง ๆ จะจัดกิจกรรมพิเศษเพื่อเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็ง ความสามัคคีในหมู่คณะ และสร้างขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานของ อสม. โดยจะมีการมอบประกาศเกียรติคุณและเชิดชูเกียรติให้แก่ อสม. ผู้ที่ปฏิบัติงานดีเด่นให้ปรากฏแก่สาธารณชน

งาน วัน อสม.แห่งชาติ

งาน วัน อสม.แห่งชาติ

ปี 2530

มีการประกวดผู้สื่อข่าวสาธารณสุข (ผสส.) อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) และหมู่บ้านสาธารณสุขมูลฐานดีเด่นขึ้นเป็นครั้งแรกซึ่งใช้ชื่อว่า โครงการประกวด ผสส.-อสม. และหมู่บ้านสาธารณสุขมูลฐานดีเด่น ประจำปี 2530 โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเป็นผู้ประสานงานในการคัดเลลือก ซึ่งในปีนี้ผู้ชนะการประกวดทุกประเภทรวมทั้งสิ้น 216 คน และเข้ารับรางวัลจาก ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ณ ทำเนีบยรัฐบาลเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2530 โดยก่อนรับรางวัล คณะผู้เข้ารับรางวัลได้ไปทัศนศึกษาที่บรมมหาราชวัง สวนสัตว์ดุสิตและฟาร์มจระเข้จังหวัดสมุทรปราการ ระหว่างวันที่ 18 – 20 สิงหาคม 2530

ปี 2532

หลังจากประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีในการจัดการประกวดครั้งแรก กระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้มีการจัดประกวดทุก 2 ปี โดยในปีนี้ได้เพิ่มการประกวดเจ้าหน้าที่สาธารรสุขระดับตำบล ในฐานะที่เป็นผู้สนับสนุนการทำงานของอาสาสมัครสาธารณสุขและประชาชนมาตลอดโดยเปลี่ยนชื่อโครงการในการประกวดครั้งนี้เป็น โครงการพัฒนาผู้นำชุมชนในงานสาธารณสุขมูลฐาน มีผู้เข้ารับรางวัลจำนวนทั้งสิ้น 288 คน ซึ่งได้เดินทางเข้าร่วมประชุมสัมมนา ณ สถานพักฟื้นสวางคนิวาส จังหวัดสมุทรปราการ มีการทัศนศึกษาสถานที่สำคัญในกรุงเทพมหานคร ได้แก่ พระบรมมหาราชวัง พระที่นั่งวิมานเมฆและสวนหลวง ร.9 ระหว่างวันที่ 1 – 3 สิงหาคม 2532 และเดินทางเข้ารับรางวัลจากรองนายกรัฐมนตรีนายพิชัย รัตตกุล ณ ทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 4 สิงหาคม 2532 ในปีนี้ผู้ชนะการประกวดจำนวน 36 คน จาก 9 จังหวัด (เขตละ 1 จังหวัด) ได้รับทุนจากองค์การอนามัยโลกไปดูงานสาธารณสุขมูลฐานที่ประเทศอินเดียเป็นระยะเวลา 1 สัปดาห์

ปี 2534

การจัดการประกวดยังคงดำเนินต่อไปภายใต้ชื่อโครงการเดิม และสถานที่จัดประชุมที่เดิมแต่ได้เปลี่ยนสถานที่รับรางวัลเป็น ห้องประชุมโรงพยาบาลสงฆ์ วันที่ 29 มีนาคม 2534 โดยมีนายแพทย์ไพโรจน์ นิงสานนท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานในพิธี และผู้ชนะการประกวดจำนวน 36 คนจาก 4 ภาค ได้รับทุนองค์การอนามัยโลกไปศึกษาดูงาน ณ ประเทศเกาหลีและสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นเวลา 1 สัปดาห์

ปี 2536

ในปีนี้ คณะผู้เข้ารับรางวัลแต่ละภาคเดินทางไปเข้าร่วมประชุมสัมมนา ณ ศูนย์ฝึกอบรมและพัฒนาการสาธารณสุขมูลฐานภาค ทั้ง 4 ภาค เป็นเวลา 1 วัน แล้วจึงเดินทางเข้าร่วมพิธีรับรางวัลจากนายบุญพันธ์ แขวัฒนะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2536 ณ โรงแรมบางกอกพาเลส กรุงเทพมหานคร และผู้ชนะการประกวดจำนวน 36 คน จาก 9 จังหวัด (9 เขตเดิม) ได้รับทุนจากองค์การอนามัยโลกดูงานประเทศเนปาล อินโดนีเซียและศรีลังกา เป็นเวลา 1 สัปดาห์

ปี 2537

ปีนี้ถือเป็นปีแห่งประวัติศาสตร์สำคัญยิ่งของอาสาสมัครสาธารณสุขไทย ที่รัฐบาลได้เห็นถึงความสำคัญมีมติอนุมัติให้วันที่ 20 มีนาคมของทุกปีเป็น วันอาสาสมัครสาธารณสุขแห่งชาติ เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2536 ปีนี้จึงนับว่าเป็นปีแรกแห่งการเฉลิมฉลองวันอาสาสมัครสาธารณสุขแห่งชาติ โดยได้เปลี่ยนชื่อโครงการเป็น โครงการพัฒนาศักยภาพอาสาสมัครสาธารณสุข งานเฉลิมฉลองวันอาสาสมัครสาธาณสุขแห่งชาติ ซึ่งมีกิจกรรมสำคัญ คือ การประกาศเกียรติคุณอาสาสมัครสาธาณสุข ณ บริเวณที่ตั้งกระทรวงสาธารณสุขแห่งใหม่ จ.นนทบุรี ในวันนั้นมีผู้แทนอาสาสมัครสาธารณสุขจากทุกจังหวัดทั่วประเทศเข้าร่วมชุมนุมจำนวน 7,000 คน ในส่วนภูมิภาคทุกจังหวัด ทุกอำเภอทั่วประเทศได้จัดกิจกรรมรวมพลังบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ พร้อมทั้งร่วมกันจัดตั้ง กองทุนวันอาสาสมัครสาธารณสุขแห่งชาติ ขึ้นด้วย และ อสม.ดีเด่นจำนวน 4 คน จับฉลากได้ไปทัศนศึกษา ณ ประเทศสิงคโปร์เป็นเวลา 5 วัน

ปี 2538

เป็นปีแรกของการมี อสม.ดีเด่น ระดับเขต ภาค และประเทศ ปีนี้จัดงานขึ้นภายใต้ชื่อ โครงการพัฒนาผู้นำชุมชนในงานสาธารณสุขมูลฐาน งานเฉลิมฉลองวันอาสาสมัครสาธารณสุขแห่งชาติ ประจำปี 2538 มีกิจกรรมที่สำคัญ คือ การประกาศเกียรติคุณอาสาสมัครสาธารณสุขผู้ทำงานดีเด่นและบำเพ็ญประโยชน์แก่ประเทศชาติ และเพิ่มการประกวดอาสาสมัครสาธารณสุขดีเด่นระดับเขตและระดับภาคขึ้น รวมทั้งมอบรางวัลสำหรับผู้นำในด้านนโยบายการพัฒนาสาธารณสุขมูลฐานซึ่งได้แก่ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้น และคณะผู้ได้รับรางวัลทั้งหมดเข้ารับรางวัลจากนายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล และอาสาสมัครสาธารณสุขดีเด่นระดับเขต ระดับชาติ ประธานชมรมอาสาสมัครสาธารณสุขแห่งประเทศไทย และประธานชมรมอาสาสมัครสาธารณสุขระดับภาคทุกภาค รวมจำนวน 99 คน ได้รับทุนจากองค์การอนามัยโลกไปศึกษาดูงาน ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน นอกจากนี้ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศยังได้จัดงานเฉลิมฉลองวันอาสาสมัครสาธารณสุขแห่งชาติ และร่วมรณรงค์ขจัดโรคที่กำลังเป็นปัญหาของประเทศ และป้องกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในวโรกาสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเถลิงสิริราชสมบัติครบ 50 ปีด้วย

ปี 2539

กิจกรรมในปีนี้ ได้เพิ่มการคัดเลือกอาสาสมัครสาธารณสุขดีเด่นเขตเมืองในระดับจังหวัด รูปแบบการจัดงานคณะผู้รับรางวัลจำนวนทั้งสิ้น 319 คน เข้าร่วมประชุมที่ศูนย์ฝึกอบรมและพัฒนาการสาธารณสุขมูลฐานภาค และเข้าร่วมกิจกรรมในกรุงเทพมหานครระหว่างวันที่ 17-20 มีนาคม 2539 ณ โรงแรมเรดิสัน มีการทัศนศึกษาที่ซาฟารีเวิร์ด และเข้ารับรางวัลจากนายบรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรี ณ ทำเนียบรัฐบาล และอาสาสมัครสาธารณสุขดีเด่นระดับเขต ระดับชาติ รวมทั้งผู้แทนหมู่บ้านสาธารณสุขมูลฐานดีเด่นทุกเขต ได้รับทุนไปศึกษาดูงาน ณ ประเทศอินโดนีเซีย เป็นเวลา 4 วัน รวมทั้งยังจัดให้มีกิจกรรม บริการวัดความดันโลหิตแก่ประชาชนอายุ 40 ปีขึ้นไป ในทุกหมู่บ้านทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 18 – 22 มีนาคม 2539 เพื่อเฉลิมฉลองพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในวโรกาสทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี

ปี 2540

การจัดงานเฉลิมฉลองวันอาสาสมัครสาธารณสุขแห่งชาติครั้งที่ 4 นี้ ได้เพิ่มการประกวดอาสาสมัครสาธารณสุขดีเด่นระดับชาติเขตเมืองอีก 1 คน และในปีนี้มีอาสาสมัครสาธารณสุขดีเด่นระดับชาติเขตชนบท 2 คน เนื่องจากมีความสามารถทัดเทียมกัน กรรมการไม่สามารถตัดสินเป็นเอกฉันท์ได้ ผู้เข้ารับรางวัลทั้งหมดเข้าร่วมประชุมสัมมนาที่ศูนย์ฝึกอบรมและพัฒนาการสาธารณสุขภาค และเดินทางเข้าร่วมกิจกรรมในกรุงเทพมหานครระหว่างวันที่ 17-20 มีนาคม 2540 ณ โรงแรมปริ๊นซ์พาเลส และทัศนศึกษาซาฟารีเวิร์ด จากนั้นเข้ารับรางวัลจากนายมนตรี พงษ์พานิช รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ณ ทำเนียบรัฐบาล สำหรับกิจกรรมในปีนี้อาสาสมัครสาธารณสุขทั่วประเทศได้ร่วมกันรณรงค์ ต่อต้านยาบ้าทุกหมู่บ้าน ระหว่างวันที่ 20-27 มีนาคม 2540

ปี 2541

เป็นปีที่ประเทศไทยประสบกับภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจ ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขจึงได้จัดงานเฉลิมฉลองเพียง 1 วันเท่านั้น คือ วันที่ 20 มีนาคม 2541 เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการประหยัดของประเทศ มีกิจกรรมการจัดประชุมสัมมนาที่กระทรวงสาธารณสุข และพิธีมอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ และพิธีมอบรางวัลแก่อสม.ดีเด่นและหมู่บ้านสาธารณสุขมูลฐานดีเด่น ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งผู้ที่ได้รับเครื่องราชฯ ประกอบด้วยอาสาสมัครสาธารณสุขดีเด่นระดับชาติ ปี 2538-2540 จำนวน 5 คน ส่วนผู้รับรางวัล คือ อสม.ดีเด่นระดับจังหวัด ระดับเขต ระดับภาค และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่รับผิดชอบหมู่บ้านสาธารณสุขมูลฐานดีเด่น รวมทั้งอาสาสมัครสาธารณสุขดีเด่นกรุงเทพมหานคร และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยรวมผู้รับรางวัลทั้งสิ้น 169 คน โดยมีรองนายกรัฐมนตรีนายสุวิทย์ คุณกิตติ เป็นประธาน และมีการจัดกิจกรรมรณรงค์เรื่อง บ้านสะอาด ในสัปดาห์วันอาสาสมัครสาธารณสุขแห่งชาติ ระหว่างวันที่ 20 – 27 มีนาคม 2541 โดยเน้นให้ อสม.มีบทบาทเป็นแกนนำหลักร่วมกับประชาชนทำความสะอาดและจัดบ้านเรือนทั้งในและนอกบริเวณบ้านให้เป็นระเบียบเรียบร้อยอยู่เสมอ เป็นการสนับสนุนปีแห่งการท่องเที่ยวของประเทศ

ปี 2542

จากที่มีมติคณะรัฐมนตรีประกาศให้วันที่ 20 มีนาคมของทุกปี เป็นวันอาสาสมัครสาธารณสุขแห่งชาติตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ เป็นเวลา 6 ปีของการจัดงานเฉลิมฉลองวันอาสาสมัครสาธารณสุขแล้ว ซึ่งถือเป็นปีแรกที่อสม.ดีเด่นกรุงเทพมหานครที่ผ่านการคัดเลือกระดับเขตแล้วมีสิทธิได้รับการคัดเลือกเป็น อสม.ดีเด่นระดับชาติในเขตเมืองด้วย กิจกรรมปีนี้ผู้เข้ารับรางวัลทั้งหมดจะเข้าร่วมกิจกรรมที่ศูนย์ฝึกอบรมและพัฒนาการสาธารณสุขมูลฐานภาคก่อน แล้วเดินทางเข้าร่วมกิจกรรมที่กรุงเทพมหานคร ณ โรงแรมรามาการ์เด้นท์ รวมทั้งรับรางวัลจากนายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี ณ ทำเนียบรัฐบาล มีการจัดกิจกรรมรณรงค์ บ้านปลอดยุงลาย เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสพระราชพิธีมหามงคลสมัยพระชนมายุครบ 6 รอบ ระหว่างวันที่ 20-27 มีนาคม 2542 พร้อมกันทั่วประเทศ

ปี 2543

ถือเป็นปีที่สำคัญอย่างยิ่งของทั้งอาสาสมัครสาธารณสุขและกระทรวงสาธารณสุข เพราะเป็นปีแห่งการบรรลุสุขภาพดีถ้วนหน้า ตามที่ได้ลงนามไว้ในกฎบัตรกับองค์การอนามัยโลกเมื่อปี 2520 ซึ่งเราทำสำเร็จได้ในระดับหนึ่ง สร้างความภาคภูมิใจให้กับทุกคนเป็นอย่างมาก และสำหรับการจัดงาน วันอาสาสมัครสาธารณสุขแห่งชาติ ในปีนี้ สำนักงานคณะกรรมการการสาธารณสุขมูลฐาน ได้จัดเฉลิมฉลองให้กับอาสาสมัครสาธารณสุขดีเด่นระดับจังหวัด เขต ชาติ และหมู่บ้านสาธารณสุขมูลฐานดีเด่น ณ โรงแรมนารายณ์ กรุงเทพมหานคร พร้อมทั้งพิธีรับรางวัลจากรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายกร ทัพพะรังสี ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล มีการจัดกิจกรรมรวมพลังของอาสาสมัครสาธารณสุขทั่วประเทศเพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่สังคม เป็นโครงการรณรงค์ต่อเนื่องจากปี 2542 คือ โครงการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออก เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีพระชนมายุครบ 72 พรรษา ในปี 2543 นี้จึงได้จัดกิจกรรมรณรงค์ บ้านและชุมชนปลอดยุงลาย ขึ้นระหว่างวันที่ 20 – 27 มีนาคม 2543 ซึ่งอาสาสมัครสาธารณสุขทั่วประเทศต่างร่วมแรงร่วมใจกันกำจัดลูกน้ำยุงลายเพื่อให้ชุมชนปลอดโรคไข้เลือดออก

ปี 2544

14 ปีแห่งการประกวดอสม.ดีเด่นและครั้งที่ 8 ของการเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ ปีนี้มีการปรับเปลี่ยนการคัดเลือกอสม.ดีเด่นระดับเขตเป็น อสม.ดีเด่นระดับภาค แบ่งเป็นเขตชนบท 4 คน เขตเมือง 5 คน(รวมกรุงเทพมหานคร 1 คน) แล้วคัดเลือกจากระดับภาคเป็น อสม.ดีเด่นระดับชาติเขตชนบท 1 คน เขตเมือง 1 คน สำหรับการจัดงานฯได้ให้ผู้ได้รับรางวัลทุกคนเข้าร่วมกิจกรรม ณ ศูนย์ฝึกอบรมและพัฒนาการสาธารณสุขมูลฐานของแต่ละภาคแล้วเดินทางเข้าร่วมประชุม ณ โรงแรมนารายณ์ ถนนสีลม กรุงเทพมหานคร และเข้ารับรางวัลและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ (สำหรับ อสม.ดีเด่นปี 2543) ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยมีนายพิทักษ์ อินทรวิทยนันท์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี ส่วนกิจกรรมการรณรงค์ในปีนี้เป็นไปเพื่อความสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่มุ่งเน้นให้ประชาชนมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า คือ ทั้งประชาชน อสม. ชมรมอสม.และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข รณรงค์ร่วมกันภายใต้แนวคิด แม้เราเป็นชาวบ้าน เราก็สามารถดูแลสุขภาพกันเองได้ ในสัปดาห์วันอาสาสมัครสาธารณสุขแห่งชาติระหว่างวันที่ 20-27 มีนาคม 2544

ปี 2545

ปีที่ 9 แห่งการเฉลิมคุณงามความของอสม.ที่ปฏิบัติงานด้วยความเสียสละและความวิริยะ อุตสาหะ อดทนทั้งกำลังกาย กำลังใจและทุนทรัพย์ ส่งผลให้ประชาชนมีสุขภาพอนามัยและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เป็นปีที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ปี 2545 เป็น ปีแห่งการพัฒนาอาสาสมัครไทย จึงเป็นโอกาสที่ดีที่จะแสดงให้สังคมรับรู้ถึงคุณงามความดีและเห็นคุณค่าของอสม.ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี ที่ผ่านมา

กระทรวงสาธารณสุขจัดให้มีพิธีมอบรางวัลแก่อาสาสมัครสาธารณสุขดีเด่นระดับชาติ ภาค เขต จังหวัด และผู้แทนหมู่บ้านสาธารณสุขมูลฐานดีเด่น จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขนางสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ในวันที่ 20 มีนาคม 2545 ณ ทำเนียบรัฐบาล ในส่วนของอาสาสมัครสาธารณสุขทุกหมู่บ้านทั่วประเทศได้ร่วมกันจัดกิจกรรมรณรงค์ภายใต้แนวคิดที่ว่า อสม.รวมพลังสร้างสุขภาพ ระหว่างวันที่ 20-27 มีนาคม 2545 ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่กำหนดให้เป็นปีแห่งการสร้างสุขภาพทั่วไทย

ปี 2546

นับเป็นปีที่มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกปีหนึ่ง คือ สำนักงานคณะกรรมการการสาธารณสุขมูลฐาน ได้เปลี่ยนชื่อเป็น กองสนับสนุนสุขภาพภาคประชาชน สังกัดกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ที่ตั้งขึ้นใหม่ตามการปฏิรูประบบราชการ เพื่อให้มีความชัดเจนด้านการสร้างผลผลิตของงานราชการ ด้วยการชูแนวคิด สิทธิ หน้าที่ ประชาชน การจัดงานในปีนี้ยังคงความต่อเนื่องจากที่ผ่านมาตามนโยบายรัฐบาล รวมพลังสร้างสุขภาพ ภายใต้ชื่อ โครงการ อสม.รวมพลังมหกรรมสร้างสุขภาพ เป็นการชุมนุมอสม.ดีเด่นตั้งแต่ระดับตำบลทุกตำบลทั่วประเทศกว่า 8,000 คน ณ อารีน่า อิมแพ็ค เมองทองธานี จ.นนทบุรี เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2546 ซึ่งถือว่าเป็นการเฉลิมฉลองเชิดชูเกียรติและมอบรางวัลที่มีการชุมนุมของอสม.ทั่วประเทศจำนวนมากที่สุดครั้งหนึ่ง โดยก่อนหน้านี้วันที่ 16 มีนาคม 2546 อสม.ดีเด่นระดับชาติ ภาค เขต และระดับจังหวัดเข้าร่วมประชุมนัดหมาย ซ้อมพิธีการรับรางวัล ก่อนล่วงหน้า 1 วัน และในส่วนภูมิภาคอสม.ระดับหมู่บ้าน ชุมชนร่วมและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขร่วมกันรณรงค์ รวมพลังสร้างสุขภาพ พร้อมกันทั่วประเทศ ในช่วงสัปดาห์วันอาสาสมัครสาธารณสุขแห่งชาติ 20-27 มีนาคม 2546

ปี 2547

การเฉลิมฉลองและเชิดชูเกียรติครั้งนี้มีการเปลี่ยนการคัดเลือกและตัดสินด้วยการแยกความสามารถ ความชำนาญและผลงานของอสม.แบ่งออกเป็นสาขา 10 สาขาฉนนั้นจึงมีอาสาสมัครสาธารณสุขดีเด่นระดับจังหวัด เขต ภาคและระดับภาคอย่างละ 10 คน 10 สาขา ผู้ได้รับรางวัลทั้งหมดร่วมประชุมสัมมนาที่โรงแรมแม็กซ์ ถนนพระราม 9 ก่อนหนึ่งวันก่อนที่จะเข้าร่วมชุมนุมใหญ่ร่วมกับ อสม.ดีเด่นระดับตำบลทั่วประเทศรวมจำนวนกว่า 8,000 คน เพื่อเชิดชูเกียรติ มอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ และรางวัล อสม.ดีเด่นทุกระดับ ณ อารีน่า อิมแพ็ค เมืองทองธานีในวันที่ 20 มีนาคม 2547 และในระหว่างสัปดาห์วันอาสาสมัครสาธารณสุขแห่งชาติ 20-27 มีนาคม 2547 ได้มีการรณรงค์รวมพลังสร้างสุขภาพด้วยการเต้นแอโรบิคตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และจังหวัดพร้อมกันทั่วประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นการเริ่มต้นการสร้างกระแสการออกกำลังกายแก่ประชาชนชาวไทยได้เป็นอย่างดีครั้งหนึ่งด้วย

Advertisement

Advertisement

NaniTalk S.

เป็นนักเขียนที่ขยันขันแข็งและมุ่งมั่นที่จะผลิตเนื้อหาที่มีคุณภาพ เรียนรู้และเติบโตอยู่เสมอ เชื่อว่าเนื้อหาที่ดีสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อโลกได้

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button
Shopee