วันสำคัญ

วันโอโซนโลก World Ozone Day มีความสำคัญอย่างไร

วันโอโซนโลก ตรงกับวันที่ 16 กันยายน ของทุกปี เป็นวันที่ให้ความสำคัญกับบรรยากาศโลกชั้นโอโซนซึ่งมันมีบทบาทสำคัญในสภาพแวดล้อม

Advertisement

วันโอโซนโลก

วันโอโซนโลก World Ozone Day นานาประเทศได้ตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมจึงได้ร่วมกันจัดทำอนุสัญญาการป้องกันชั้นบรรยากาศโอโซน ขึ้นในปี 2528 เรียกว่า “อนุสัญญาเวียนนา และพิธีสาร ว่าด้วยการเลิกใช้สารทำลายชั้นโอโซน” ขึ้น และ ในปี 2530 ได้จัดให้มีการลงนาม เรียกว่า “พิธีสารมอลทรีออล”

สาระสำคัญของอนุสัญญาเวียนนานับว่าเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศที่มุ่งมั่นในการ พิทักษ์ ชั้นโอโซน และ เป็นเครื่องมือทางกฎหมายข้อแรกที่กลายเป็นรูปแบบของการแก้ปัญหา สิ่งแวดล้อมร่วมกัน ปัจจุบันมีประเทศที่ร่วมให้สัตยาบันแล้วรวม 191 ประเทศพิธีสารมอนทรีออลกับการช่วยปกป้องมนุษยชาติ พิธีสารมอนทรีออล กำหนดให้ประเทศภาคีสมาชิก ลดและเลิกการผลิตและการใช้สารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน โดยเป็นการลดในรูปแบบขั้นบันได เพื่อให้ไม่ให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อประเทศภาคีสมาชิกทั่วโลก

หากไม่มีพิธีสารมอนทรีออลฉบับนี้ ชั้นบรรยากาศโอโซนที่คอยช่วยกรองรังสียูวีที่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตบน โลกจะถูกทำลายลง โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติได้ประเมินไว้ว่า หากพิธีสารมอนทรีออลไม่ได้ถูกจัดตั้งขึ้น จำนวนคนเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งผิวหนังในอีก 40 ปีข้างหน้าจะเพิ่มขึ้นสูงถึง 19 ล้านคนทั่วโลก และ 130 ล้านคนจะเป็นโรคตาต้อกระจก แม้ว่าระยะเวลาดังกล่าวจะดูเหมือนค่อนข้างนาน แต่ด้วยการเจริญเติบโตทางอุตสาหกรรม สารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซนจะยิ่งถูกผลิตมากขึ้นและนำไปใช้ในปริมาณมาก ปฏิกิริยาการทำลายโอโซนก็จะยิ่งสูงขึ้นเช่นกัน นอกจากนี้พิธีสารมอนทรีออลยังมีส่วนในการช่วยชะลอปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพ ภูมิอากาศไปอีก 10 ปี กล่าวคือ หากไม่มีพิธีสารดังกล่าว โลกจะเผชิญกับปัญหาการแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศเร็วขึ้นอีก 10 ปี

สำหรับประเทศไทยได้ร่วมลงนามในพิธีสารนี้ เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2531 และให้สัตยาบัน เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2532 มีผลบังคับใช้ต่อประเทศไทยเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2532

Advertisement

วันโอโซนโลกมีความสำคัญอย่างไร

  • เพื่อกระตุ้นให้ประเทศปฏิบัติต่ออนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก
  • เพื่อช่วยกันลดใช้สาร CFC และสารฮาลอนซึ่งเป็นตัวทำลายบรรยากาศโอโซนในชั้นบรรยากาศสาร CFC (Chlorofluorocarbon) รวม 5 ชนิดและสารฮาลอน (Holon) 3 ชนิด รวมสารควบคุมทั้งสิ้น 8 ชนิด ซึ่งสารเหล่านี้ถูกใช้ในอุตสาหกรรมหลายประเภท เช่น สารทำความเย็นในตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ ใช้เป็นก๊าซสำหรับเป่าโฟม และเป็นฉนวนในโฟมรวมทั้งใช้เป็นตัวทำละลายในการทำความสะอาด ล้างคราบไข มันสิ่งสกปรกในชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ หรือแม้แต่สารที่อยู่ในกระป๋องสเปรย์ ผลของพิธีสารในขั้นต้นสารเคมีที่ถูกควบคุม คือ สารฮาลอนใช้เป็นสารดับเพลิงในอุปกรณ์ป้องกัน และระงับอัคคีภัยซึ่งการใช้สาร CFC ก็มีมากในการอุตสาหกรรม นั่นคืออุตสาหกรรมยิ่งพัฒนา ก็จะมีการทำลายโอโซนกันมากเท่านั้น
โอโซน คือ
image : whatarethe7continents.com

โอโซน คือ

โอโซน (Ozone หรือ O3) คือ โอโซนเป็นก๊าซที่ถือกำเนิดขึ้นมาโดยธรรมชาติ เช่นจาก ปรากฏการณ์ฟ้าผ่า แสงจากดวงอาทิตย์ เป็นต้น ซึ่งเราจะสังเกตุได้ง่าย ๆ ว่า หลังจากที่ฝนตก อากาศจะสดชื่นขึ้น มลพิษในอากาศจะลดลง เป็นผลสืบเนื่องมาจากมีปริมาณโอโซนที่เพิ่มขึ้น โอโซนมีโมเลกุลที่ประกอบจากออกซิเจน 3 อะตอม เกิดจากการรวมตัวกันของก๊าซออกซิเจน 1 โมเลกุลกับอะตอมออกซิเจนอิสระ 1 อะตอมที่แตกตัวจากก๊าซออกซิเจนโดยการกระตุ้นของรังสีอัลตร้าไวโอเลตซี (UV-C) ปรากฏอยู่ในชั้นบรรยากาศของโลกโดยที่ชั้นสตราโทสเฟียร์ (Stratosphere) ซึ่งเป็นบรรยากาศที่ระดับความสูงระหว่าง 10 – 50 กิโลเมตรจากผิวดินเป็นชั้นบรรยากาศที่มีโอโซนหนาแน่นที่สุด หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นชั้นที่ผลิตแหล่งก๊าซโอโซน โดยชั้นโอโซนดังกล่าวทำหน้าที่เป็นเกราะคุ้มกัน ปกป้องพืชและสัตว์จากรังสีที่แผ่ออกมาจากดวงอาทิตย์ โดยเฉพาะรังสีอัลตร้าไวโอเลตบี (UV-B) ซึ่งเป็นรังสีที่เป็นอันตรายต่อชีวิตและธรรมชาติหากได้รับในปริมาณที่มากเกินไป

ก๊าซโอโซนถูกค้นพบครั้งแรกโดยนักเคมีชาวดัตช์ ชื่อ วอน มารุม (Van Marum) จากอุปกรณ์จับปริมาณก๊าซ โดยนายมารุมได้กลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์รอบ ๆ ขั้วผลิตกระแสไฟฟ้าจากอุปกรณ์ชุดทดลองของเขา อย่างไรก็ตาม การค้นพบโอโซนได้ถูกบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรในปี 2383 คือ คริสเตียน ฟรีดริช เชินไบน์ (Christian Friedrich Schönbein) นักเคมีชาวเยอรมัน โดยเขาตั้งชื่อก๊าซตามภาษากรีกคำว่า ozein ซึ่งแปลว่ากลิ่น หลังจากนั้น เครื่องผลิตโอโซนเครื่องแรกได้ถูกผลิตโดย วอน ซีเมนต์ (Von Siemens) ในกรุงเบอร์ลิน (Berlin)

โอโซนเข้มข้นมีสีฟ้าที่อุณหภูมิและความดันมาตรฐาน (Standard Temperature and Pressure; STP) เมื่ออุณหภูมิลดลงถึง -112 °C โอโซนจะเป็นเป็นของเหลวสีน้ำเงิน และเมื่ออุณหภูมิลดต่ำกว่า -193 °C ก็จะกลายเป็นของแข็งสีดำ

มนุษย์ได้นำโอโซนไปใช้ประโยชน์ในหลาย ๆ ด้าน เช่น นำไปใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตเคมีภัณฑ์ นำไปใช้เป็นสารซักฟอก ใช้ฆ่าแบคทีเรีย เป็นต้น ก๊าซโอโซนจัดเป็นก๊าซพิษ การสูดดมก๊าซโอโซนเป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ ซึ่งแตกต่างจากคำว่าโอโซนที่บางครั้งถูกใช้ในบริบทของการท่องเที่ยวหรือการพักผ่อนหย่อนใจ เช่นในวลีว่า “สูดโอโซน” Ozone, “รับโอโซน” หรือ “แหล่งโอโซน” เป็นต้น ถือว่าเป็นการใช้โอโซนผิดความหมาย เพราะความจริงแล้วโอโซนมีความเป็นพิษต่อมนุษย์ บริเวณที่มีโอโซนมากในประเทศไทย ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมแก่งคอย นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และย่านถนนสีลมในกรุงเทพมหานคร คำว่าโอโซนที่ใช้กันผิด ๆ จะหมายถึง ออกซิเจนหรืออากาศบริสุทธิ์ซึ่งดีต่อระบบการหายใจ ไม่ใช่ก๊าซโอโซนที่เป็นพิษ มีอันตรายต่อสุขภาพ

คุณสมบัติก๊าซโอโซน

  1. ฆ่าเชื้อโรคได้รวดเร็ว โดยเฉพาะแบคทีเรีย (ทำให้เกิดโรคและกลิ่นเหม็น) ที่ความเข้มข้นเพียง 0.01-0.04 PPM
  2. ทำลายกลิ่น สารเคมี และก๊าซพิษได้ดีเยี่ยม
  3. ไม่ทิ้งพิษตกค้าง เพราะเมื่อทำปฏิกิริยากับมลพิษเสร็จทุกครั้ง จะได้ออกซิเจน (O2) จึงเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อมที่ดี
  4. สามารถผลิตขึ้นได้จากอากาศทั่วไป และบริเวณที่มีไฟฟ้าใช้
  5. สามารถควบคุมได้ง่ายอย่างอัตโนมัติ
  6. ค่าใช้จ่ายในการใช้งานและบำรุงรักษาต่ำมากและใช้ได้ตลอดไป ไม่ต้องคอยเปลี่ยนอันใหม่ เหมือนสารเคมีดับกลิ่นอื่น ๆ

เนื่องจากโอโซนมีข้อดีต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการฆ่าเชื้อ กำจัดมลพิษ ในราคาที่ไม่สูง จึงทำให้เราพบเห็นการนำโอโซนไปใช้งานอย่างกว้างข้าง เช่น โรงงานผลิตน้ำดื่มผ่านการฆ่าเชื้อด้วยน้ำโอโซน, เครื่องฟอกอากาศ, เครื่องปรับอากาศในบ้าน เป็นต้น

ผลกระทบของโอโซน

ผลกระทบของโอโซน

ผลกระทบที่เป็นอันตรายที่สุด คือ โอโซนในบรรยากาศชั้นสตราโตสเฟียร์ที่ลดลงจะทำให้รังสี UV-B ที่ส่องมาถึงโลกได้มากขึ้น ส่งผลให้มนุษย์ได้รับรังสีมากขึ้น ซึ่งเป็นการทำลายโปรตีนที่เป็นส่วนประกอบในร่างกาย รวมทั้งนัยน์ตา และยังทำลายสาร DNA ที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ ทำให้เกิดโรคมะเร็งผิวหนัง นอกจากนี้ยังทำให้ระบบภูมิคุ้มกันโรคไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ

ผลกระทบที่มีต่อพืช สำหรับพืชชนิดที่ไวต่อรังสีเช่น ฝ้าย ถั่วต่าง ๆ แตงและผัก จะมีการเจริญเติบโตช้าลง และบางส่วนของเกสรไม่สามารถผสมได้ รังสีนี้เป็นตัวทำลายฮอร์โมนและคลอร์ฟีลล์ซึ่งทำหน้าที่ในการสังเคราะห์แสงได้น้อยลง ถ้าโอโซนยังถูกทำลายลงไปก็จะทำให้ผลผลิตการเกษตรและป่าไม้ของเราลดลง อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ผลกระทบต่อสัตว์ รังสี UV-B สามารถทะลุลงไปในน้ำและทำลายพืชน้ำประเภทสาหร่ายเซลเดียว ซึ่งเป็นจุดกำเนิดห่วงโซอาหารในทะเล ถ้าหากมีรังสีนี้เพิ่มขึ้นก็ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลทั้งระบบ จะทำให้ปริมาณสัตว์น้ำลดลง

ผลกระทบในด้านมลภาวะ เป็นการเพิ่มมลพิษในอากาศให้สูงขึ้นอีกด้วย เพราะโอโซนเป็นก๊าซพิษ ถ้าปริมาณโอโซนในบรรยากาศชั้นสตราโตสเฟียร์ลดลงรังสี UV-B จะแผ่ลงมาในบรรยากาศชั้นโทรโพสเฟียร์ ซึ่งมีระดับต่ำกว่าทำให้เกิดปฏิกิริยาเคมีเพิ่มขึ้น นั้นคือ พื้นที่ใดที่มีระดับไนโตรเจนออกไซด์สูงพอที่จะทำให้เกิดผลิตผลของโอโซน ก็จะทำให้เกิดมลพิษในอากาศเพิ่มขึ้น และก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพอีกทางหนึ่งด้วย

ผลกระทบต่อวัสดุมากมายหลายชนิด จะทำให้วัสดุเสื่อมสภาพเร็วขึ้น พลาสติกที่ใช้นอกอาคารจะมีอายุการใช้งานสั้นลงอย่างมาก เว้นแม้แต่วัสดุที่ทำจากแผ่นโพลิไวนิลคลอไรด์ (PVC) ดูเหมือนว่าจะเสื่อมสภาพเร็วกว่าปกติ และอีกมายมาย

Advertisement

Advertisement

NaniTalk S.

เป็นนักเขียนที่ขยันขันแข็งและมุ่งมั่นที่จะผลิตเนื้อหาที่มีคุณภาพ เรียนรู้และเติบโตอยู่เสมอ เชื่อว่าเนื้อหาที่ดีสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อโลกได้

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button