วันสำคัญ

วันเลิกทาส 1 เมษายน เรื่องที่คนไทยควรรู้ ?

วันเลิกทาส ตรงกับวันที่ 1 เมษายน ของทุกปี การเลิกทาส เป็นพระราชกรณียกิจอันสำคัญยิ่งของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) เป็นการยกเลิกระบบที่คนชั้นสูงตั้งขึ้น เพื่อกดขี่ราษฎรให้ทำงานรับใช้หรือส่งทรัพย์สินให้โดยไม่มีกำหนดว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อใด

วันเลิกทาส

วันเลิกทาส

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ประมาณว่าไทยมีทาสเป็นจำนวนกว่าหนึ่งในสามของพลเมืองของประเทศ เพราะเหตุว่าพ่อแม่เป็นทาสแล้ว ลูกที่เกิดจากพ่อแม่ที่เป็นทาสก็ตกเป็นทาสอีกต่อ ๆ กันเรื่อยไป ทาสนั้นจะต้องหาเงินมาไถ่ตัวเอง มิฉะนั้นแล้วก็จะต้องเป็นทาสไปตลอดชีวิต เพราะตามกฎหมายถือว่ายังมีค่าตัวอยู่

ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.5) ทรงประกาศ “พระราชบัญญัติพิกัดเกษียณลูกทาสลูกไทย” เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2417 แก้พิกัดค่าตัวทาสใหม่ โดยให้ลดค่าตัวทาสลงตั้งแต่อายุ 8 ขวบ จนกระทั่งหมดค่าตัวเมื่ออายุได้ 20 ปี เมื่ออายุได้ 21 ปี ผู้นั้นก็จะเป็นอิสระ มีผลกับทาสที่เกิดตั้งแต่ปี 2411 เป็นต้นมา และห้ามมิให้มีการซื้อขายบุคคลที่มีอายุมากกว่า 20 ปีเป็นทาสอีก

เมื่อถึงปี 2448 ก็ทรงออก “พระราชบัญญัติเลิกทาส ร.ศ. 124” ให้ลูกทาสทุกคนเป็นไทเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2448 ส่วนทาสประเภทอื่นที่มิใช่ทาสในเรือนเบี้ย ทรงให้ลดค่าตัวเดือนละ 4 บาท นับตั้งแต่เดือนเมษายน 2448 เป็นต้นไป นอกจากนี้ยังมีบทบัญญัติป้องกันมิให้คนที่เป็นไทแล้วกลับไปเป็นทาสอีก และเมื่อทาสจะเปลี่ยนเจ้าเงินใหม่ ห้ามมิให้ขึ้นค่าตัว

บทความที่เกี่ยวข้อง
Advertisement

หนึ่งในจุดเปลี่ยนสำคัญที่นำไปสู่การเลิกทาสในสยาม คือ การทำสนธิสัญญาเบาว์ริงในปี 2398 ที่ทำให้สยามเปิดการค้าเสรีกับประเทศตะวันตก ส่งผลให้เศรษฐกิจและสังคมไทยต้องเปลี่ยนแปลงไปจากการกำเกษตรเพื่อยังชีพมาเป็นผลิตเพื่อขาย ประเทศจำเป็นต้องมีการปฏิรูปที่ดิน และต้องการแรงงานเพื่อป้อนเข้าสู่ระบบการผลิตเพื่อค้าขายกับต่างชาติ แต่ด้วยความที่สยามมีทาสมากอีกทั้งทาสก็เป็นกันยาวนานไม่สิ้นสุด พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงมีพระราชดำริให้ชำระกฎหมาย เปลี่ยนแปลงแก้ไขความเป็นทาสในรุ่นลูกเสียใหม่

รัชกาลที่ 5 ทรงใช้ความวิริยะอุตสาหะจัดการเลิกทาสด้วยวิธีการละมุนละม่อม ค่อย ๆ ทำตามลำดับขั้นตอน จนในที่สุดข้าทาสและไพร่ที่หลุดพ้นจากระบบดั้งเดิม ได้กลายเป็นราษฎรสยามและต่างมีโอกาสประกอบอาชีพหลากหลาย

ทาส

ทาส

ทาส หมายถึง บุคคลซึ่งถูกนับสิทธิเสมือนสิ่งของของผู้อื่น ไม่มีอิสระในการดำรงชีวิต และมีหน้าที่รับใช้ผู้อื่นโดยมิได้รับการตอบแทนจากเจ้าของ (นายทาส) เช่น การรับใช้ทางด้านแรงงาน และหากไม่เชื่อฟังคำสั่ง อาจถูกลงโทษได้ตามแต่นายทาสจะกำหนด ยกเว้นเป็นการกระทำอันทำให้ถึงแก่ความตาย

แบ่งออกได้ทั้งหมด 7 ประเภท

  1. ทาสสินไถ่ เป็นทาสที่มีมากที่สุดในบรรดาทาสทั้งหมด โดยเงื่อนไขของการเป็นทาสชนิดนี้ คือ การขายตัวเป็นทาส เช่น พ่อแม่ขายบุตร สามีขายภรรยา หรือขายตัวเอง ดังนั้น ทาสชนิดนี้จึงเป็นคนยากจน ไม่สามารถเลี้ยงดูครอบครัวหรือตนเองได้ จึงได้เกิดการขายทาสขึ้น โดยสามารถเปลี่ยนสถานะกลับไปเมื่อมีผู้มาไถ่ถอน และทาสชนิดนี้ที่ปรากฏในวรรณคดีไทยคือนางสายทองซึ่งขายตัวให้กับนางศรีประจันนั่นเอง
  2. ทาสในเรือนเบี้ย เด็กที่เกิดขึ้นระหว่างที่แม่เป็นทาสของนายทาส ทาสชนิดนี้ไม่สามารถไถ่ถอนตนเองได้
  3. ทาสที่ได้รับมาด้วยมรดก ทาสที่ตกเป็นมรดกของนายทาส เกิดขึ้นก็ต่อเมื่อนายทาสคนเดิมเสียชีวิตลง และได้มอบมรดกให้แก่นายทาสคนต่อไป
  4. ทาสท่านให้ ทาสที่ได้รับมาจากผู้อื่นอีกทีหนึ่ง
  5. ทาสที่ช่วยไว้จากทัณฑ์โทษ ในกรณีที่บุคคลนั้น เกิดกระทำความผิดและถูกลงโทษเป็นเงินค่าปรับ แต่บุคคลนั้น ไม่มีความสามารถในการชำระค่าปรับ หากว่ามีผู้ช่วยเหลือให้สามารถชำระค่าปรับได้แล้ว ถือว่าบุคคลนั้น เป็นทาสของผู้ให้ความช่วยเหลือในการชำระค่าปรับ
  6. ทาสที่ช่วยไว้ให้พ้นจากความอดอยาก ในภาวะที่ไพร่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองให้ประกอบอาชีพได้แล้ว ไพร่อาจขายตนเองเป็นทาสเพื่อให้ได้รับการช่วยเหลือจากนายทาส
  7. ทาสเชลย ภายหลังจากได้รับการชนะสงคราม ผู้ชนะสงครามจะกวาดต้อนผู้คนของผู้แพ้สงครามไปยังเมืองของตน เพื่อนำผู้คนเหล่านั้นไปเป็นทาสรับใช้

การพ้นจากความเป็นทาส

  • โดยการหาเงินมาไถ่ถอน
  • การบวชเป็นสงฆ์โดยได้รับความยินยอมจากนายทาส
  • ไปการสงครามและถูกจับเป็นเชลย หลังจากนั้น สามารถหลบหนีออกมาได้
  • แต่งงานกับนายทาสหรือลูกหลานของนายทาส
  • ไปแจ้งทางการว่านายทาสเป็นกบฏ และผลสืบสวนออกมาว่าเป็นจริง
  • การประกาศไถ่ถอนจากพระมหากษัตริย์ ในช่วงของการเลิกทาส

ราคาทาส

ชาย

  • แรกเกิด – 5 บาท
  • 7–8 ปี – 8 ตำลึง
  • 100 ปี – 4 บาท

หญิง

  • แรกเกิด – 4 บาท
  • 7–8 ปี – 7 ตำลึง
  • 100 ปี – 3 บาท
ชาวตะวันตกวิจารณ์การหมอบกราบ

ชาวตะวันตกวิจารณ์การหมอบกราบ

ธรรมเนียมอย่างหนึ่งซึ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของชาวตะวันตกอันเนื่องมาจากแนวคิดที่ต่างกัน ทำให้ชาวตะวันตกวิจารณ์ว่าเป็นการกระทำที่กดขี่เหยียบย่ำมนุษย์ด้วยกันนั่น คือ ธรรมเนียมการหมอบคลานของบรรดาข้าทาสบริวารที่ปฏิบัติต่อบรรดาเจ้านายของตน

ดังปรากฏในคำวิจารณ์ของชาวตะวันตกที่มีโอกาสเข้ามาติดต่อกับชาวสยามในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ เช่น มิสเตอร์ฟินเลสัน (Mr. Finlayson) หนึ่งในคณะทูตของ จอห์น ครอว์เฟิร์ด บันทึกวิจารณ์ไว้ว่า

วิธีที่บรรดาคนรับใช้ปฏิบัติต่อเสนาบดีดุจทาสนั้น เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจทั้งเป็นการเหยียบย่ำมนุษยชาติด้วยกันเอง ตลอดระยะเวลาการเข้าพบเสนาบดีนั้น พวกเขาทั้งหมอบราบกับพื้นเบื้องหน้าเสนาบดีในระยะห่าง ในขณะที่พูดกับเสนาบดีนั้น พวกเขาไม่กล้ามองสบตาเสนาบดี

และยังบันทึกถึงเรื่องนี้อีกหลายตอน เช่น

ในการนำเครื่องดื่มออกมารับรองแขกเมืองนั้น บรรดาผู้รับใช้คลานขึ้นไปข้างหน้าโดยข้อศอกและนิ้วเท้ายันตัวเคลื่อนไปอย่างช้าๆ ในลักษณะเช่นนี้ พวกเขาผลักจานไปข้างหน้าเป็นระยะๆ ด้วยท่าทีอันเกิดจากการถูกบังคับเยี่ยงสัตว์

และ หัวหน้าผู้เย่อหยิ่งผู้นี้ ซึ่งมีตำแหน่งเสนาบดีลำดับที่ ๕ ตามความสำคัญ ยังต้องหมอบคลานเยี่ยงสัตว์ เมื่อไปเข้าเฝ้า พระราชโอรสของพระเจ้าแผ่นดิน ทุกคนในประเทศนี้ต้องหมอบคลานเมื่ออยู่เบื้องหน้าเจ้านายผู้บังคับบัญชาประชาชาติทั้งมวล เป็นทาสของพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งทรงจัดการชีวิตและทรัพย์สินของพวกเขาตามพระราชอัธยาศัย

และ จอห์น ครอว์เฟิร์ด (John Crawfurd) บรรยายการเข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินไว้ว่า

“ นอกจากทางแคบๆ ที่เหลือเป็นทางเดินสำหรับทูตและคณะผู้ติดตามแล้ว พื้นท้องพระโรงทั้งหมดเต็มไปด้วยผู้คนที่หมอบราบอยู่กับพื้น ศีรษะของพวกเขาก้มต่ำลงจรดพื้นหันไปทางบัลลังก์ มือของพวกเขาเท่านั้นที่ประสานกันอยู่เหนือศีรษะในท่าแสดงความจงรักภักดี มันเป็นความยำเกรงและการยกย่องสรรเสริญต่อพระเจ้ามากกว่าที่จะเป็นความเคารพนับถือที่แสดงต่อผู้ปกครองแผ่นดิน ”

คำวิจารณ์เหล่านี้ไม่เป็นผลดีต่อการติดต่อคบค้าสมาคมกับชาวตะวันตก เพราะนโยบายสำคัญในการรักษาเอกราชของชาติของพระมหากษัตริย์ไทย คือ การพัฒนาบ้านเมืองให้เจริญทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ เพื่อมิให้ชาวตะวันตกใช้เป็นข้ออ้างในการเข้าแทรกแซงการบริหารบ้านเมืองของไทย ทรงตระหนักพระทัยถึงคำวิพากษ์วิจารณ์ของชาวตะวันตก เกี่ยวกับขนบธรรมเนียมหมอบคลานอันแสดงถึงความไม่เท่าเทียมกัน ซึ่งชาวตะวันตกถือเป็นเรื่องสำคัญของเหล่ามนุษยชาติที่ทุกชีวิตจะต้องมีความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตที่ดีเสมอกัน

ดังนั้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นวันแรก จึงทรงประกาศยกเลิกธรรมเนียมการหมอบคลานว่า

ธรรมเนียมที่หมอบคลานนั้น ให้เปลี่ยนอิริยาบถเป็นยืนเป็นเดิน ธรรมเนียมที่ถวายบังคมและกราบไหว้นั้น ให้เปลี่ยนอิริยาบถเป็นก้มศีรษะ

Advertisement

Advertisement

NaniTalk S.

เป็นนักเขียนที่ขยันขันแข็งและมุ่งมั่นที่จะผลิตเนื้อหาที่มีคุณภาพ เรียนรู้และเติบโตอยู่เสมอ เชื่อว่าเนื้อหาที่ดีสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อโลกได้

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button
Shopee