วันสำคัญ

วันสําคัญทางพระพุทธศาสนา 2567 มีกี่วันมาดูกัน

วันสําคัญทางพระพุทธศาสนา 2567 นิยมระบุตามปฏิทินจันทรคติ โดยปกติจะเป็นวันที่เคยมีเหตุการณ์สำคัญเมื่อครั้งพุทธกาล หรือเมื่อถึงกำหนดต้องปฏิบัติประเพณีสำคัญตามธรรมเนียมในศาสนาพุทธ

วันสําคัญทางพระพุทธศาสนา

วันสำคัญทางศาสนาพุทธที่ชาวพุทธยึดถือมานาน มีดังนี้

มาฆบูชา

วันมาฆบูชา

วันมาฆบูชา ตรงกับวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2567 วันมาฆบูชา (ภาษาอังกฤษ: Makha Bucha Day) คือ วันสำคัญของชาวพุทธเถรวาทและวันหยุดราชการในประเทศไทย วันมาฆบูชาได้รับการยกย่องเป็นวันสำคัญทางศาสนาพุทธ

เนื่องจากเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นเมื่อ 2,500 กว่าปีก่อน คือ พระโคตมพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ท่ามกลางที่ประชุมมหาสังฆสันนิบาตครั้งใหญ่ในพระพุทธศาสนา วันมาฆบูชา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 แต่ถ้าปีใดมีเดือนอธิกมาส คือมีเดือน 8 สองครั้ง วันมาฆบูชาก็จะเลื่อนไปเป็นวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4

วันวิสาขบูชา

วันวิสาขบูชา

วันวิสาขบูชา ตรงกับวันที่ 22 พฤษภาคม 2567 ตรงกับวัน ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 วิสาขบูชา ย่อมาจาก วิสาขปุรณมีบูชา แปลว่า การบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ วิสาขปุรณมีบูชานับว่าเป็นวันสำคัญสากลทางพระพุทธศาสนา สำหรับชาวพุทธทุกนิกายทั่วโลก เป็นวันหยุดราชการในหลาย ๆ ประเทศ อีกทั้งยังเป็นวันสำคัญในระดับนานาชาติตามข้อมติของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ

เนื่องจากเป็นวันคล้ายวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญที่สุดในพระพุทธศาสนา 3 เหตุการณ์ ได้แก่ การประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธโคดม ซึ่งทั้ง 3 เหตุการณ์นี้ได้เกิดขึ้นตรงกัน ณ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 หรือวันเพ็ญแห่งเดือนวิสาขะ (ต่างปีกัน) ชาวพุทธจึงถือว่าเป็นวันที่รวมการเกิดเหตุการณ์อันน่าอัศจรรย์ยิ่ง และเรียกการบูชาในวันนี้ว่า วิสาขบูชา ย่อมาจาก วิสาขปุรณมีบูชา หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ

วันอัฏฐมีบูชา

วันอัฏฐมีบูชา หรือ วันถวายพระเพลิงพระพุทธเจ้า

วันอัฏฐมีบูชา ตรงกับวันที่ 30 พฤษภาคม 2567 วันอัฏฐมีบูชา (ภาษาอังกฤษ: Atthami Bucha Day) คือ วันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า (หลังเสด็จดับขันธปรินิพพานได้ 8 วัน) ถือเป็นวันสำคัญในพระพุทธศาสนาวันหนึ่ง ตรงกับวันแรม 8 ค่ำ เดือนวิสาขะ (เดือน 6 ของไทย)

วันอาสาฬหบูชา
image : lovepik.com

วันอาสาฬหบูชา

วันอาสาฬหบูชา ตรงกับวันที่ 20 กรกฎาคม 2567 อาสาฬหบูชา (ภาษาอังกฤษ: Asarnha Bucha Day) เป็นวันสำคัญทางศาสนาพุทธนิกายเถรวาทและวันหยุดราชการในประเทศไทย ตรงกับวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8

อาสาฬหบูชา ย่อมาจาก อาสาฬหปูรณมีบูชา แปลว่า การบูชาในวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ อันเป็นเดือนที่สี่ตามปฏิทินของประเทศอินเดีย ตรงกับวันเพ็ญ เดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติของไทย ซึ่งมักจะตรงกับเดือนกรกฎาคมหรือเดือนสิงหาคม แต่ถ้าในปีใดมีเดือน 8 สองหน ก็ให้เลื่อนไปทำในวันเพ็ญเดือน 8 หลังแทน

เข้าพรรษา
image : lovepik.com

วันเข้าพรรษา

เข้าพรรษา ตรงกับวันที่ 21 กรกฎาคม 2567 วันเข้าพรรษา (ภาษาอังกฤษ: Vassa) เป็นวันสำคัญวันหนึ่งในพระพุทธศานาที่พระสงฆ์เถรวาทจะอธิษฐานว่าจะพักประจำอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่งตลอดฤดูฝนเป็นระยะเวลา 3 เดือนตามที่พระธรรมวินัยได้บัญญัติไว้โดยไม่ไปค้างแรมที่อื่น

อาจพูดเป็นภาษาทั่วไปว่าจำพรรษา (พรรษา แปลว่า ฤดูฝน , จำ แปลว่า พักอยู่) พิธีเข้าพรรษานี้ถือว่าเป็นข้อปฏิบัติสำหรับพระสงฆ์โดยตรง ไม่สามารถละเว้นได้ทุกกรณี ซึ่งการเข้าพรรษาตามปกติจะเริ่มนับตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี (หรือเดือน 8 หลัง ถ้ามีเดือน 8 สองหน) และจะสิ้นสุดลงในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หรือ วันออกพรรษา

ออกพรรษา วันออกพรรษา

วันออกพรรษา

ออกพรรษา คือ (ภาษาอังกฤษ End of Buddhist Lent Day) เมื่อเทศกาลเข้าพรรษาได้ผ่านพ้นไปถึง 3 เดือน ก็จะเป็นช่วงเวลาของ วันออกพรรษา ซึ่งถือเป็นการสิ้นสุดระยะการจำพรรษา หรือออกจากการอยู่ประจำที่วัดในช่วงฤดูฝนตลอด 3 เดือนของพระภิกษุสงฆ์ โดยวันออกพรรษา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี ซึ่งเรียกอีกอย่างว่า วันมหาปวารณา คำว่า ปวารณา นั้นแปลว่า อนุญาตหรือยอมให้ โดยในปีนี้ ออกพรรษา 2566/2023 ตรงกับวันที่ 17 ตุลาคม 2567

วันมหาปวารณา คำว่า ปวารณา แปลว่า อนุญาต หรือ ยอมให้ ในวันออกพรรษานี้พระสงฆ์จะประกอบพิธีทำสังฆกรรม เรียกว่า มหาปวารณา เป็นการเปิดโอกาสให้ภิกษุว่ากล่าวตักเตือนซึ่งกันและกันได้ เนื่องจากในระหว่างที่เข้าพรรษาอยู่ด้วยกัน พระสงฆ์บางรูปอาจมีข้อบกพร่องที่ต้องแก้ไข และการให้ผู้อื่นว่ากล่าวตักเตือนก็จะทำให้รู้ข้อบกพร่องของตน อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้ถามข้อสงสัยซึ่งกันและกันได้ด้วย

พระผู้ใหญ่ก็กล่าวตักเตือนพระผู้น้อยได้ และพระผู้มีอาวุโสน้อยก็สามารถชี้แนะถึงข้อไม่ดีของพระผู้ใหญ่ได้เช่นกัน แม้พระผู้ใหญ่จะมีอาวุโสมากกว่า แต่ท่านก็มิได้สำคัญตนผิดคิดว่าท่านทำอะไรแล้วถูกไปหมดทุกอย่าง เพื่อเป็นเครื่องมือชี้ให้เห็นวิธีการคอยสังวร คือ ตามระวัง ไม่ประมาท ไม่ยอมให้ความเลวร้ายเกิดขึ้นได้ เหมือนล้อมรั้วไว้ก่อนที่วัวจะหาย ไม่ว่าจะอยู่ในเทศกาลเข้าพรรษาหรือออกพรรษา พระท่านจะประพฤติดี ปฏิบัติชอบ ตามระบอบของพระธรรมวินัยอยู่ตลอดเวลา

สำหรับคำกล่าว ปวารณา มีคำกล่าวเป็นภาษาบาลี ดังนี้ สังฆัมภันเต ปะวาเรมิ ทิฎเฐนะ วา สุเตนะ วาปะริสังกายะ วา วะทันตุ มัง อายัสมันโต อะนุกัมปัง อุปาทายะ ปัสสันโต ปะฏิกกะริสสามิ มีความหมายว่า ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ กระผมขอปวารณาต่อสงฆ์ ด้วยได้เห็นหรือได้ฟังก็ตาม ขอท่านทั้งหลายโปรดอนุเคราะห์ ว่ากล่าวตักเตือนกระผมด้วย เมื่อกระผมมองเห็นแล้ว จักประพฤติตัวเสียใหม่ให้ดี

อ่านต่อ

NaniTalk S.

เป็นนักเขียนที่ขยันขันแข็งและมุ่งมั่นที่จะผลิตเนื้อหาที่มีคุณภาพ เรียนรู้และเติบโตอยู่เสมอ เชื่อว่าเนื้อหาที่ดีสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อโลกได้

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button