วันสำคัญ

วันวิสาขบูชา 2567 ประวัติ ความสำคัญ กิจกรรม

วิสาขบูชา 2024/2567 ตรงกับวันที่ 22 พฤษภาคม วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา และ เป็นวันหยุดราชการของไทย ซึ่งประวัติเป็นวันที่พระพุทธเจ้า ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน มาบรรจบกัน ในวันนี้พุทธศาสนิกชนจะไปทำบุญ ตักบาตร เวียนเทียนที่วัด

Advertisement

วันวิสาขบูชา

วันวิสาขบูชา

วิสาขบูชาย่อมาจาก “วิสาขปุรณมีบูชา” แปลว่า “การบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ” วิสาขปุรณมีบูชานับว่าเป็นวันสำคัญสากลทางพระพุทธศาสนา สำหรับชาวพุทธทุกนิกายทั่วโลก เป็นวันหยุดราชการในหลาย ๆ ประเทศ อีกทั้งยังเป็นวันสำคัญในระดับนานาชาติตามข้อมติของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ เนื่องจากเป็นวันคล้ายวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญที่สุดในพระพุทธศาสนา 3 เหตุการณ์ ได้แก่ การประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธโคดม ซึ่งทั้ง 3 เหตุการณ์นี้ได้เกิดขึ้นตรงกัน ณ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 หรือวันเพ็ญแห่งเดือนวิสาขะ (ต่างปีกัน) ชาวพุทธจึงถือว่าเป็นวันที่รวมการเกิดเหตุการณ์อันน่าอัศจรรย์ยิ่ง และเรียกการบูชาในวันนี้ว่าวันวิสาขบูชา

ประวัติวันวิสาขบูชา

วันวิสาขบูชา (Visakha Bucha Day) ถือเป็นวันสำคัญยิ่งทางพระพุทธศาสนา เพราะเป็นวันที่เกิด 3 เหตุการณ์สำคัญที่เกี่ยวกับวิถีชีวิตของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวียนมาบรรจบกันในวันเพ็ญเดือน 6 แม้จะมีช่วงระยะเวลาห่างกันนับเป็นเวลาหลายสิบปี ซึ่งเหตุการณ์อัศจรรย์ 3 ประการ ได้แก่…

วันที่พระพุทธเจ้าประสูติ

พระพุทธเจ้าประสูติ

วันวิสาขบูชา เป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ เมื่อพระนางสิริมหามายา พระมเหสีของพระเจ้าสุทโธทนะ แห่งกรุงกบิลพัสดุ์ ทรงพระครรภ์แก่จวนจะประสูติ พระนางแปรพระราชฐานไปประทับ ณ กรุงเทวทหะ เพื่อประสูติในตระกูลของพระนางตามประเพณีนิยมในสมัยนั้น ขณะเสด็จแวะพักผ่อนพระอิริยาบถใต้ต้นสาละ ณ สวนลุมพินีวัน พระนางก็ได้ประสูติพระโอรส ณ ใต้ต้นสาละนั้น ซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือน 6 ก่อนพุทธศักราช 80 ปี ครั้นพระกุมารประสูติได้ 5 วัน ก็ได้รับการถวายพระนามว่า “สิทธัตถะ” แปลว่า “สมปรารถนา”

เมื่อข่าวการประสูติแพร่ไปถึงอสิตดาบส 4 ผู้อาศัยอยู่ในอาศรมเชิงเขาหิมาลัย และมีความคุ้นเคยกับพระเจ้าสุทโธทนะ ดาบสจึงเดินทางไปเข้าเฝ้า และเมื่อเห็นพระราชกุมารก็ทำนายได้ทันทีว่า นี่คือผู้จะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงกล่าวพยากรณ์ว่า “พระราชกุมารนี้จักบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ เห็นแจ้งพระนิพพานอันบริสุทธิ์อย่างยิ่ง ทรงหวังประโยชน์แก่ชนเป็นอันมาก จะประกาศธรรมจักรพรหมจรรย์ของพระกุมารนี้จักแพร่หลาย” แล้วกราบลงแทบพระบาทของพระกุมาร พระเจ้าสุทโธทนะทอดพระเนตรเห็นเหตุการณ์นั้นทรงรู้สึกอัศจรรย์และเปี่ยมล้นด้วยปีติ ถึงกับทรุดพระองค์ลงอภิวาทพระราชกุมารตามอย่างดาบส

พระพุทธเจ้าตรัสรู้

พระพุทธเจ้าตรัสรู้

วันวิสาขบูชา เป็นวันที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ หลังจากออกผนวชได้ 6 ปี จนเมื่อพระชนมายุ 35 พรรษา เจ้าชายสิทธัตถะก็ทรงตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ณ ใต้ร่มไม้ศรีมหาโพธิ์ ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ในตอนเช้ามืดของวันพุธ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีระกา ก่อนพุทธศักราช 45 ปี ปัจจุบันสถานที่ตรัสรู้แห่งนี้เรียกว่า พุทธคยา เป็นตำบลหนึ่งของเมืองคยา แห่งรัฐพิหารของอินเดีย

Advertisement

   สิ่งที่ตรัสรู้ คือ อริยสัจสี่ เป็นความจริงอันประเสริฐ 4 ประการของพระพุทธเจ้า ซึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จไปที่ต้นมหาโพธิ์ และทรงเจริญสมาธิภาวนาจนจิตเป็นสมาธิได้ฌานที่ 4 แล้วบำเพ็ญภาวนาต่อไปจนได้ฌาน 3 คือ

  • ยามต้น : ทรงบรรลุ “ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ” คือ ทรงระลึกชาติในอดีตทั้งของตนเองและผู้อื่นได้
  • ยามสอง : ทรงบรรลุ “จุตูปปาตญาณ” คือ การรู้แจ้งการเกิดและดับของสรรพสัตว์ทั้งหลาย ด้วยการมีตาทิพย์สามารถเห็นการจุติและอุบัติของวิญญาณทั้งหลาย
  • ยามสาม หรือยามสุดท้าย : ทรงบรรลุ “อาสวักขยญาณ” คือ รู้วิธีกำจัดกิเลสด้วย อริยสัจ 4 (ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค) ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในคืนวันเพ็ญเดือน 6 ซึ่งขณะนั้นพระพุทธองค์มีพระชนมายุได้ 35 พรรษา
พระพุทธเจ้าเสด็จเข้าสู่ปรินิพพาน

พระพุทธเจ้าเสด็จเข้าสู่ปรินิพพาน

วันวิสาขบูชา

วันวิสาขบูชา เป็นวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จเข้าสู่ปรินิพพาน (ดับสังขารไม่กลับมาเกิดสร้างชาติ สร้างภพอีกต่อไป)เมื่อพระพุทธองค์ได้ตรัสรู้และแสดงธรรมเป็นเวลานานถึง 45 ปี จนมีพระชนมายุได้ 80 พรรษา ได้ประทับจำพรรษา ณ เวฬุคาม ใกล้เมืองเวสาลี แคว้นวัชชี ในระหว่างนั้นทรงประชวรอย่างหนัก ครั้นเมื่อถึงวันเพ็ญเดือน 6 พระพุทธองค์กับพระภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย ก็ไปรับภัตตาหารบิณฑบาตที่บ้านนายจุนทะ ตามคำกราบทูลนิมนต์ พระองค์เสวยสูกรมัททวะที่นายจุนทะตั้งใจทำถวายก็เกิดอาพาธลง แต่ทรงอดกลั้นมุ่งเสด็จไปยังเมืองกุสินารา ประทับ ณ ป่าสาละ เพื่อเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน

เมื่อถึงยามสุดท้ายของคืนนั้น พระพุทธองค์ก็ทรงประทานปัจฉิมโอวาทว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลายอันว่าสังขารทั้งหลายย่อมมีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังกิจทั้งปวงอันเป็นประโยชน์ของตนและประโยชน์ของผู้อื่นให้บริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด” หลังจากนั้นก็เสด็จเข้าดับขันธ์ปรินิพพาน ในราตรีเพ็ญเดือน 6 นั้น     

วันวิสาขบูชาหลักธรรมที่ควรนำมาปฏิบัติ

ความกตัญญู

ความกตัญญู คือ ความรู้อุปการคุณที่มีผู้ทำไว่ก่อน เป็นคุณธรรมคู่กับความกตเวที คือ การตอบแทนอุปการคุณที่ผู้อื่นทำไว้นั้น

  • บิดามารดา มีอุปการคุณแก่ลูกในฐานะผู้ให้กำเนิดและเลี้ยงดูจนเติบโต ให้การศึกษาอบรมสั่งสอน ให้เว้นจากความชั่ว มั่นคงในการทำความดี เมื่อถึงคราวมีคู่ครองได้จัดหาคู่ครองที่เหมาะสมให้ และมอบทรัพย์สมบัติให้ไว้เป็นมรดก
  • ลูกเมื่อรู้อุปการะคุณที่บิดามารดาทำไว้ ย่อมตอบแทนด้วยการประพฤติตัวดี สร้างชื่อเสียงให้แก่วงศ์ตระกูลเลี้ยงดูท่าน และช่วยทำงานของท่านและเมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว ก็ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ท่าน
  • ครูอาจารย์มีอุปการคุณแก่ศิษย์ ในฐานะเป็นผู้ประสาทความรู้ให้ฝึกฝนแนะนำให้เป็นคนดี สอนศิลปวิทยาให้อย่างไม่ปิดบังยกย่องให้ปรากฎแก่คนอื่น และช่วยคุ้มครองให้ศิษย์ทั้งหลาย
  • ศิษย์เมื่อรู้อุปการคุณที่ครูอาจารย์ทำไว้ ย่อมตอบแทนด้วยการตั้งใจเรียนให้เกียรติ และให้ความเคารไม่ล่วงละเมิดโอวาทของครู
  • ความกตัญญูและความกตเวทีนี้ ถือว่าเป็นเครื่องหมายของคนดีส่งผลให้ครอบครัว และสังคมมีความสุขได้เพราะบิดามารดาจะรู้จักหน้าที่ของตนเองด้วยการทำอุปการคุณให้ก่อน และลูกก็จะรู้จักหน้าที่ของตนเองด้วยการทำดีตอบแทน
  • นอกจากบิดากับลูก และครูอาจารย์กับศิษย์แล้ว คุณธรรมข้อนี้ก็สามารถนำไปใช้ได้แม้ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง อันจะส่งผลให้สังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข
  • ในทางพระพุทธศาสนาพระพุทธเจ้า ทรงเป็นบุพการรีในฐานะที่ทรงสถาปนาพระพุทธศาสนา และทรงสอนทางพ้นทุกข์ให้แก่เวไนยสัตว์
  • พุทธศาสนิกชน รู้พระคุณอันนี้จึงตอบแทนด้วยอามิสบูชาและปฎิบัติบูชากล่าวคือการจัดกิจกรรมใน วันวิสาขบูชา เป็นส่วนหนึ่งที่ชาวพุทธแสดงออกซึ่งความกตัญญูกตเวที ต่อพระองค์ด้วยการทำนุบำรุงส่งเสริมพระพุทธศาสนา และประพฤติปฎิบัติธรรมเพื่อดำรงอายุพระพุทธศาสนาสืบไป

อริยสัจ 4

อริยสัจ 4 คือ ความจริงอันประเสริฐ หมายถึงความจริงของชีวิตที่ไม่ผันแปร เกิดมีได้แก่ทุกคน มี 4 ประการ

  • ทุกข์ ได้แก่ปัญหาของชีวิตพระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ก็เพื่อให้ทราบว่ามนุษย์ทุกคนมีทุกข์เหมือนกัน ทั้งทุกข์ขั้นพื้นฐานและทุกข์เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตประจำวัน ทุกข์ขั้นพื้นฐานคือทุกข์ที่เกิดจากการเกิด การแก่ และการตาย ส่วนทุกข์ที่เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตประจำวัน คือ ทุกข์ที่เกิดจากการพลัดพรากจากสิ่งที่รัก ทุกข์ที่เกิดจากการประสบกันสิ่งที่ไม่เป็นที่รักทุกข์ที่เกิดจากไม่ได้ตั้งใจปรารถนา รวมทั้งทุกข์ที่เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตด้านต่าง ๆ อาทิความ ยากจน
  • สมุทัย คือ เหตุแห่งปัญหาพระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ก็เพื่อให้ทราบว่า ทุกข์ทั้งหมดซึ่งเป็นปัญหา ของชีวิตล้วนมีเหตุให้เกิดเหตุนั้น คือ ตัญหา อันได้แก่ความอยากได้ต่าง ๆ ซึ่งประกอบไปด้วยความยึดมั่น
  • นิโรธ คือ การแก้ปัญหาได้พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ก็เพื่อให้ทราบว่า ทุกข์คือปัญหาของชีวิต ทั้งหมดที่สามารถแก้ไขได้นั้นต้องแก้ไขตามทางหรือวิธีแก้ 8 ประการ (ดูมัชฌิมาปฎิปทา)
  • มรรค การปฏิบัติเพื่อจำกัดทุกข์เพื่อหลุดพ้นจากทุกข์ การปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหาเพื่อบรรลุเป้าหมายการแก้ปัญหาที่ต้องการ

ความไม่ประมาท

ความไม่ประมาท คือ การมีสติเสมอทั้งขณะทำขณะพูดและขณะคิด สติคือการระลึกได้ในภาคปฎิบัติเพื่อนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน หมายถึง การระลึกรู้ทันการเคลื่อนไหว ของอริยาบท 4 คือ เดิน ยืน นั่ง นอน การฝึกให้เกิดสติทำได้โดยตั้งสติกำหนดการเคลื่อนไหวของอริยาบทกล่าว คือ ระลึกทันทั้งในขณะ ยืน เดิน นั่ง และนอน รวมทั้ง ระลึกรู้ทัน ในขณะพูดคิด และขณะทำงานต่าง ๆ เมื่อทำได้อย่างนี้ก็ชื่อว่า มีความไม่ประมาทการทำงานต่าง ๆ สำเร็จได้ก็ด้วยความไม่ประมาท กล่าว คือ ผู้ทำย่อมต้องมีสติระลึกรู้อยู่ว่าตนเองเป็นใครมีหน้าที่อะไร และกำลังทำอย่างไรหากมีสติระลึกรู้ได้อย่างนั้นก็ย่อมไม่ผิดพลาด

กิจกรรมวันวิสาขบูชา

วิสาขปุรณมีบูชา ถือว่าเป็นวันสำคัญยิ่งที่ชาวพุทธทั่วโลกจะมารวมตัวกันเพื่อจัดพิธีทำบุญใหญ่ หรือจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อเป็นการบำเพ็ญกุศลระลึกถึงพระพุทธเจ้า โดยในฐานะที่วิสาขปุรณมีบูชาได้รับการยกย่องให้เป็นวันสำคัญของโลก เมื่อวิสาขปุรณมีบูชามาถึง องค์การสหประชาชาติ ณ มหานครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา จะมีการอัญเชิญพระเจดีย์วิสาขบูชานุสรณ์ สกลโลก ประกาศบูชาวันวิสาขะ ภายในประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ประดิษฐานอยู่ ณ สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติเป็นการถาวรและเปิดให้ประชาชนเดินทางเข้ามาสักการะ

ในประเทศไทย นอกจากพุทธศาสนิกชนจะเดินทางเข้าวัดบำเพ็ญกุศล ถือศีล ฟังธรรมแล้ว ยังนิยมการปล่อยนกปล่อยปลา และเวียนเทียนรอบพระอุโบสถในช่วงค่ำเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาอีกด้วย เมื่อวิสาขปุรณมีบูชามาถึง พุทธศาสนิกชนชาวไทยนิยมทำบุญตักบาตรในตอนเช้า และตลอดวันก็จะมีการบำเพ็ญกุศลความดีอื่น ๆ อาทิ ตั้งใจรักษาศีล 5 ศีล 8 งดเว้นการทำบาปทั้งปวง ทำบุญถวายสังฆทาน ให้อิสระทาน หรือการปล่อยนกปล่อยปลา ฟังพระธรรมเทศนา รวมถึงเดินทางไปเวียนเทียนรอบพระอุโบสถตั้งแต่ช่วงเย็นกันเป็นจำนวนมาก

เวียนเทียน

เวียนเทียน

เวียนเทียน คือ การเดินเวียนรอบปูชนียสถานสำคัญ เช่น อุโบสถวิหาร หรือพระพุทธรูปเพื่อระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัยในวันสำคัญ โดยใช้เทียนธูปและดอกไม้เป็นเครื่องสักการบูชา ถือไว้ในมือแล้วเดินเวียน 3 รอบ ขณะที่เดินรอบนั้นพึงตั้งจิตให้สงบ พร้อมสวดระลึกถึงพระพุทธคุณ ด้วยการสวดบท “อิติปิโส” ระลึกถึงพระธรรมคุณ ด้วยการสวด สวากขาโต และระลึกถึงพระสังฆคุณ ด้วยการสวด สุปะฏิปันโน จนกว่าจะเวียนจบ 3 รอบ

พิธีการเวียนรอบปูชนียวัตถุ หรือ ปูชนียสถาน เพื่อเป็นการแสดงความเคารพนั้น ไทยได้รับคตินี้มาจากอินเดียพร้อมกับพระพุทธศาสนา โดยปรากฏหลักฐานการแสดงความเคารพโดยการเวียนเทียนในพระไตรปิฎก ซึ่งใช้คำว่าเวียนประทักษิณาวัตร คือ เวียนขวา 3 รอบ เป็นเครื่องหมายถึงการแสดงออกซึ่งการเคารพบูชาต่อสิ่งนั้น ๆ

ไทยได้รับคตินิยมนี้มาและปรับประยุกต์ให้เข้ากับพื้นฐานทางวัฒนธรรมของไทยโดยนำมาใช้เป็นการแสดงความบูชาต่อพระรัตนตรัยมาตั้งแต่โบราณ มีหลักฐานปรากฏเป็น “ฐานประทักษิณ” สำหรับการกระทำพิธีเวียนเทียน ในโบราณสถานทางศาสนา มาตั้งแต่สมัยทวารวดี รวมทั้งปรากฏข้อความในพงศาวดารว่ามีการกระทำพิธีเวียนเทียนในวันสำคัญทางศาสนาสืบมาจนถึงปัจจุบัน

ความหมายการเวียนเทียน

เวียนเทียนรอบที่หนึ่ง : รำลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า โดยภาวนาบท อิติปิโส ภะคะวาฯ ไปจนจบ เพื่อให้จิตใจมีสมาธิ
เวียนเทียนรอบที่สอง : รำลึกถึงคุณพระธรรม ภาวนาบทสวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโมฯ ไปจนจบ
เวียนเทียนรอบที่สาม : รำลึกคุณพระสงฆ์ ภาวนาบทสุปฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆฯ ไปจนจบ ระหว่างนั้นต้องทำจิตใจให้สงบ แน่วแน่กับบทบูชา

คำถวายดอกไม้ธูปเทียน

ยะมัมหะ โข มะยัง ภะคะวันตัง สะระณัง คะตา, โย โน ภะคะวา สัตถา, ยัสสะ จะ มะยัง, ภะคะวะโต ธัมมัง โรเจมะ, อะโหสิ โข โส ภะคะวา, มัชฌิเมสุ ชะนะปะเทสุ อะริยะเกสุ มะนุสเสสุ อุปปันโน, ขัตติโย ชาติยา, โคตะโม โคตเตนะ, สักยะปุตโต สักยะกุลา ปัพพะชิโต, สะเทวะเก โลเก สะมาระเก สะพัรหมะเก สัสสะมะณะพราหมะณิยา ปะชายะ, สะเทวะมะนุสสายะ อะนุตตะรัง สัมมาสัมโพธิง อะภิสัมพุทโธ, นิสสังสะยัง โข โส ภะคะวา, อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ, วิชชาจะระณะสัมปันโน สุคะโต โลกะวิทู อะนุตตะโร ปุริสะทัมมะ- สาระถิ สัตถา เทวะมะนุสสานัง พุทโธ ภะคะวา, สะวากขาโต โข ปะนะ เตนะ ภะคะวะตา ธัมโม, สันทิฏฐิโก อะกาลิโก เอหิปัสสิโก โอปะนะยิโก, ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ

สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, อุชุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, ญายะปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, สามีจิปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, ยะทิทัง จัตตาริ ปุริสะยุคานิ, อัฏฐะ ปุริสะปุคคะลา, เอสะ ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, อาหุเนยโย ปาหุเนยโย ทักขิเณยโย อัญชะลิกะระณีโย, อะนุตตะรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสะ, อะยัง โข ปะนะ ปะฏิมา ตัง ภะคะวันตัง อุททิสสะกะตา, ยาวะเทวะ ทัสสะเนนะ ตัง ภะคะวันตัง อะนุสสะริตะวา ปะสาเทนะ สังเวคะปะฏิลาภายะ, มะยัง โข เอตะระหิ อิมัง วิสาขะปุณณะมีกาลัง ตัสสะ ภะคะวะโต ชาติสัมโพธินิพพานะกาละสัมมะตัง ปัตะวา

อิมัง ฐานัง สัมปัตตา, อิเม ทัณฑะทีปะธูปาทิ สักกาเร คะเหตะวา อัตตะโน กายัง สักการุปะธานัง กะริตะวา, ตัสสะ ภะคะวะโต ยะถาภุจเจ คุเณ อะนุสสะรันตา, อิมัง ปะฏิมัง ติกขักตุง ปะทักขิณัง กะริสสามะ, อิมัง ยะถา คะหิเตหิ สักกาเรหิ ปูชัง กุรุมานา, สาธุ โน ภันเต, ภะคะวา สุจิระปะรินิพพุโตปิ ญาตัพเพหิ คุเณหิ อะตีตารัมมะณะตายะ ปัญญายะมาโน อิเม อัมเหหิ คะหิเต สักกาเร ปะฏิคคัณหาตุ, อัมหากัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ.

คำแปล

เราทั้งหลายถึงซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์ใดว่าเป็นที่พึ่ง, พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์ใดเป็นศาสดาของเราทั้งหลาย, และเราทั้งหลายชอบซึ่งธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์ใด, พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นแล ได้อุบัติขึ้นแล้วในหมู่มนุษย์ชาวอริยกะ ในมัชฌิมชนบท, พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์โดยพระชาติ เป็นโคดม (เหล่ากอแห่งพระอาทิตย์) โดยพระโคตร, เป็นบุตรแห่งศากยะ เสด็จออกบรรพชาแล้วแต่ศากยสกุล เป็นผู้ตรัสรู้พร้อมเฉพาะแล้วซึ่งพระอะนุตตะระสัมมาสัมโพธิญาณ, ในโลกกับทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ พร้อมทั้งเทวดาลแะมนุษย์ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นทรงเป็นพระอรหันต์ เป็นผู้ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ (ความรู้และความประพฤติ) เป็นผู้เสด็จไปดีแล้ว เป็นผู้รู้แจ้งโลก เป็นผู้สามารถฝึกบุรุษที่สมควรฝึกได้อย่างไม่มีใครยิ่งไปกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้ตื่นแล้ว เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้มีความเจริญจำแนกธรรมสั่งสอนเวไนยสัตว์ โดยไม่ต้องสงสัยแล

อนึ่ง พระธรรมเป็นธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นตรัสไว้ดีแล้ว อันผู้บรรลุจะพึงเห็นได้ด้วยตนเอง เป็นธรรมที่ปฏิบัติได้และให้ผลได้อย่างไม่จำกัดกาลเวลา เป็นธรรมที่ควรกล่าวกับผู้อื่นว่าท่านจงมาดูเถิด เป็นธรรมที่ควรน้อมเข้ามาใส่ตัว เป็นธรรมที่ผู้รู้พึงรู้ได้เฉพาะตน

และ พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้วแล เป็นผู้ปฏิบัติตรงแล้ว เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อรู้ธรรมเป็นเครื่องออกจากทุกข์แล้ว เป็นผู้ปฏิบัติสมควรแล้ว นี้คือคู่แห่งบุรุษ 4 คู่ นับเรียงตัวบุรุษได้ 4 บุรุษ นั่นแหละคือพระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นสงฆ์ควรแก่สักการะที่เขานำมาบูชา, เป็นสงฆ์ควรแก่สักการะที่เขาจัดไว้ต้อนรับ, เป็นผู้ควรรับทักษิณาทาน, เป็นผู้ที่บุคคลทั่วไปควรทำอัญชลี, เป็นเนื้อนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า, พระปฏิมานี้แล นักปราชญ์ได้อุทิศเฉพาะต่อพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น สร้างไว้แล้วเพียงเพื่อเป็นเครื่อง ให้ระลึกถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นด้วยการเห็นแล้ว ได้ความเลื่อมใส และความระลึกถึง

บัดนี้เราทั้งหลายมาถึง วันวิสาขบูชา อันเป็นที่รู้กันทั่วไปว่า เป็นวันที่ประสูติ วันตรัสรู้ และวันปรินิพพานของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น จึงมาประชุมกันแล้วในที่นี้ ถือเครื่องสักการะมีธูปเทียนเป็นต้นเหล่านี้ ทำกายของตนเองให้เป็นดังภาชนะรองรับเครื่องสักการะ ระลึกถึงพระคุณทั้งหลายของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์ นั้นตามความเป็นจริง บูชาด้วยเครื่องสักการะตามที่ได้ถือไว้แล้ว จักทำประทักษิณซึ่งประปฏิมากรนี้สิ้นวาระ 3 รอบ

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขออัญเชิญพระผู้มีพระภาคเจ้าแม้เสด็จดับขันธปรินิพพานไปนานแล้ว ยังทรงปราฏอยู่ด้วยพระคุณสมบัติอันข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย จะพึงรู้โดยความเป็นอตีตารมณ์ ขอจงทรงรับซึ่งเครื่องสักการะอันข้าพระพุุทธเจ้าทั้งหลาย ถือไว้แล้วนี้ เพื่อประโยชน์และเพื่อความสุข แก่ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ตลอดกาลนาน เทอญ ฯ

วันวิสาขบูชาโลก

งานวันวิสาขบูชาโลก เกิดขึ้นเนื่องด้วยว่า วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ที่เกี่ยวเนื่องด้วยพระบรมศาสดา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงเป็นบรมครูผู้ยิ่งใหญ่ สั่งสอนชาวโลกด้วยพระธรรมคำสั่งสอนที่พระองค์ทรงค้นพบ ตั้งแต่แรกจวบจนกระทั่งวาระสุดท้ายของพระชนม์ชีพ พระพุทธองค์ทรงมีพุทธประวัติที่งดงาม หมดจด ชัดเจนตั้งแต่ประสูติ ตรัสรู้และปรินิพพาน และทรงเป็นบุคคลที่อัศจรรย์คือ ทรงประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานในวันเดียวกัน คือ วันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำเดือน 6 หรือ วันวิสาขบูชา ด้วยเหตุนี้เอง องค์การสหประชาชาติจึงได้กำหนดให้วันวิสาขบูชา เป็นวัน “วันสำคัญสากลของสหประชาชาติ” หรือวันสำคัญสากลของโลก

คณะกรรมการจัดกิจกรรมวิสาขบูชานานาชาติ ได้ประชุมพิจารณาหาเจ้าภาพในการจัดกิจกรรมนานาชาติ ระหว่างวันที่ 8-9 ตุลาคม 2554 ณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย โดยมีประเทศที่เสนอตัวเป็นเจ้าภาพ 2 ประเทศ ประกอบด้วย ประเทศศรีลังกาและประเทศไทย ซึ่งที่ประชุมพิจารณาแล้วมีมติมอบหมายให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในการจัดงานวิสาขบูชาโลก เนื่องจากในปี 2555 นอกจากจะเป็นการถวายพุทธบูชาฉลอง 2,600 ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าแล้ว ยังเป็นปีมหามงคลของปวงชนชาวไทย เพราะเป็นปีที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา และเป็นปีที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเจริญพระชนมายุ 60 พรรษา จึงเห็นสมควรให้จัดกิจกรรมการประชุมวิสาขบูชานานาชาติ ขึ้นในประเทศไทย เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติแด่ทั้ง 2 พระองค์

ประโยชน์ของวันวิสาขบูชา

วันสำคัญทางพระพุทธศาสนามีประโยชน์กับทุกคน โดยเฉพาะนักเรียนสามารถนำมาใช้สำหรับทำบุญ ตักบาตร ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตแล้วยังทำให้ชีวิตสดชื่นแจ่มใสตลอดเวลาและยังได้บุญได้กุศล หรือเข้าวัดฟังเทศ ฟังธรรม และเป็นการทำบุญโดยไม่ให้ผู้อื่นเดือดร้อน และทำให้ชีวิตของครอบครัวของเราแจ่มใส่ก็จะทำให้สบายใจในเวลาทำงาน และได้รับบุญกุศลอันยิ่งใหญ่

ทำบุญวันวิสาขบูชา

ทำบุญวันวิสาขบูชา

เข้าวัดใกล้บ้าน

ทำบุญ ตักบาตร ฟังธรรม เวียนเทียน และบำรุงพระพุทธศาสนาที่วัดใกล้บ้าน ทำจิตใจให้ผ่องใส เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูก สอนให้ลูกรู้จักการเจริญสมาธิภาวนา นอกจากจะทำให้เด็กสงบนิ่งมากขึ้นแล้ว ยังช่วยให้เป็นคนมีสมาธิ และสติมากขึ้นอีกด้วย

ทำบุญช่วงเช้า

การทำบุญช่วงเช้าคือการใส่บาตรที่วัด เตรียมอาหารคาวหวาน เครื่องปัจจัยไทยธรรม หรือเครื่องสังฆทานต่าง ๆ พร้อมรับศีลและรับพรจากพระ ต่อด้วยการฟังธรรมเพื่อเข้าถึงวันสำคัญและเจริญจิตภาวนาต่อคำสอนของพระพุทธเจ้า

ถือศีล

หลังจากการรับศีลและรับพรจากพระแล้ว ก็ตั้งใจมั่นที่จะถือศีลไปตลอดทั้งเดือน หรือจะเริ่มจาก 7 วัน 15 วัน ก็ตามแต่สะดวก เพียงตั้งใจมั่นแล้วทำให้ได้ตามที่คิดเอาไว้ พร้อมกับสวดมนต์ไหว้พระอย่างสม่ำเสมอในทุก ๆ วัน เพื่อเป็นการสร้างสมาธิและเตือนสติให้ตนเองอยู่ในศีลให้มากที่สุด

เข้าร่วมการเวียนเทียนที่วัด

ตอนช่วงค่ำสามารถที่จะเข้าร่วมพิธีการเวียนเทียนได้ที่วัดใกล้บ้าน เพื่อเป็นการส่องสว่างโคมประทีป ที่เป็นการแสดงถึงความศรัทธาและการระลึกถึงพระรัตนไตร คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พร้อมเดินไปด้วยความสำรวมและสงบเงียบที่สุด

เข้ารับศีลที่วัด

ถ้าต้องการเข้าถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าและทำให้จิตใจขาวบริสุทธิ์ ก็สามารถเข้ารับศีล 5 ศีล 8 หรือศีลอุโบสถได้ที่วัด และรักษาศีลด้วยการนุ่งขาว ห่มขาว พร้อมนั่งสมาธิและเรียนรู้จิตที่สงบโดยแท้ได้ที่วัด โดยเลือกวัดที่เป็นสถานปฏิบัติธรรมที่เงียบสงบ ไม่ยุ่งกับโลกภายนอกได้ยิ่งดี

สถานสงเคราะห์เด็ก

ใช้เวลาช่วงวันหยุดจัดการแบ่งของเล่น หนังสือ เสื้อผ้าสภาพดีของลูกที่ไม่ได้ใช้แล้ว หรือไปซื้อของที่จำเป็นบริจาคให้กับบ้านเด็กต่าง ๆ แล้วพาลูกไปทำบุญถึงที่ ให้ลูกได้เห็นว่าครอบครัวของเราโชคดีมากแล้วที่ได้เกิดมามีพร้อมมากกว่าเด็ก ๆ ผู้ด้อยโอกาสอีกมากมาย

ทำกิจกรรมอาสาสมัคร

มีกิจกรรมหลากหลายให้ได้คุณได้อาสา สำหรับการสอนน้อง ๆ เด็กตาบอดคุณสามารถสอนภาษา สอนการบ้าน และการอ่านหนังสือลงเทป หรือซีดี ทั้งคุณ และลูกคุณอาจจะทึ่งเมื่อพบว่า น้อง ๆ ที่ตาบอด มีความมุมานะในการเรียนมากกว่าคนตาดีมากมายนัก

ดูแลสัตว์พิการ และสัตว์จรจัด

กิจกรรมนี้เหมาะสมเป็นอย่างยิ่งถ้าลูกของคุณเป็นคนรักสัตว์ หรืองอแงอยากจะมีสัตว์เลี้ยง พาลูกของคุณไปอาบน้ำให้สุนัขพิการดู ให้เด็กได้สัมผัส และเรียนรู้อะไรหลาย ๆ อย่างจากสัตว์ที่ถูกทอดทิ้งเหล่านี้ คุณสามารถซื้อของใช้จำเป็นไปบริจาคให้เหล่าสัตว์ได้เช่นกัน

ทำบุญโลงศพ

วิธีนี้เป็นการทำบุญให้กับเพื่อนมนุษย์ยากไร้ ศพไร้ญาติให้ได้พักผ่อนอย่างสงบ สอนให้ลูกเรียนรู้ว่าบุญสามารถทำได้แม้กับผู้ที่เสียชีวิตไปแล้ว คุณสามารถเลือกทำบุญทั้งโลงพร้อมผ้าขาวห่อศพครบชุด หรือแล้วแต่กำลังศรัทธา

ทำบุญออนไลน์

หากคุณไม่มีเวลา หรือไม่สะดวกจะออกไปทำบุญ เปิดเว็บไซต์ www.taejai.com ศูนย์เชื่อมต่อระหว่างผู้ให้ กับผู้รับ เพื่อค้นหา และสนับสนุนเงินทุนให้กับโครงการต่าง ๆ ที่ได้รับการตรวจสอบแล้วว่าช่วยก่อให้เกิดประโยชน์ทางสังคมอย่างยั่งยืน คุณสามารถร่วมดู และพิจารณาโครงการต่าง ๆ ไปพร้อม ๆ กับลูกก่อนตัดสินใจให้การสนับสนุน และลองถามความคิดเห็นของลูกคุณต่อโครงการต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นต่อมคิดในเรื่องสังคมต่าง ๆ ได้อีกด้วย

ตัวอย่างการทำบุญที่กล่าวมา เป็นเพียงส่วนหนึ่งในหนทางอีกมากมายที่คุณ และครอบครัวสามารถทำความดีต่อสังคมได้โดยไม่ต้องรอวันพระ เลือกวิธีที่คุณชอบ แล้วพาครอบครัวไปทำดีกันดีกว่า

แคปชั่นวันวิสาขบูชา

  • วันนี้วันพระใหญ่ สงบจิต สงบใจ กัน
  • คิดดี ทำดี ใจจะมีสุข
  • ทุกข์ มีไว้ให้เห็น ไม่ได้มีไว้ให้เป็น
  • แก่นของพระพุทธศาสนา คือ การรู้แจ้งสภาพนามธรรม รูปธรรม ว่าไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เป็นเพียงสภาพธรรมะที่เกิดดับ
  • หากไม่ศึกษาพระธรรม จะไม่เข้าใจว่า ชีวิตแต่ละวันก็เหมือนชมมายากล เป็นเพียงมายาภาพลวงตา ไม่ใช่ความจริง
  • ดอกบัวคือสายใย เชื่อมใจไทยทุกที่
  • จงพากันมีสติคอยระวังตัว อย่าให้เป็นคนประเภทใบลานเปล่า ๆ เรียนเปล่าและตายทิ้งเปล่า ไม่มีธรรมอันเป็นสมบัติของตัวอย่างแท้จริงติดตัวบ้างเลย

Advertisement

Advertisement

NaniTalk S.

เป็นนักเขียนที่ขยันขันแข็งและมุ่งมั่นที่จะผลิตเนื้อหาที่มีคุณภาพ เรียนรู้และเติบโตอยู่เสมอ เชื่อว่าเนื้อหาที่ดีสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อโลกได้

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button