กฎหมาย

บุตรบุญธรรม : เส้นสายใยรักที่เหนือกว่าสายเลือด

คุณเคยคิดไหมว่า “ความเป็นพ่อแม่” ไม่ได้ถูกจำกัดเพียงแค่สายเลือด การรับบุตรบุญธรรม คือหนึ่งในเส้นทางอันดีงามที่สามารถเติมเต็มความหมายของคำว่า ครอบครัว และสร้างโอกาสอันสดใสให้กับเด็กที่ขาดความรักความอบอุ่น บทความนี้จะพาคุณคุณรู้จักถึงคำว่า บุตรบุญธรรม

บุตรบุญธรรม

คือ บุตรของผู้อื่นที่บุคคลได้จดทะเบียนรับเป็นบุตรของตน โดย บิดา หรือมารดาบุญธรรมกับบุตรบุญธรรมมิใช่สายเลือดเดียวกัน แต่เกิดจากความยินยอมพร้อมใจกัน ระหว่างบิดาหรือมารดาบุญธรรมกับบิดามารดาที่แท้จริงของเด็ก และเด็กที่เป็นบุตรบุญธรรมด้วยเหตุผลบางประการ เช่นเพื่ออนาคตของเด็ก หรือเพื่อให้ผู้รับบุตรบุญธรรมที่ไม่มีบุตรได้มีบุตรสมใจปรารถนา การจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม กฎหมายจะให้ความคุ้มครองสิทธิเด็กให้มีฐานะอย่างเดียวกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดา หรือมารดาบุญธรรมทันทีนับแต่วันที่จดทะเบียน

ประโยชน์ของการรับบุตรบุญธรรม

การรับบุตรบุญธรรมนั้น นอกจากจะมอบความสุขและความอบอุ่นให้กับทั้งผู้รับบุตรบุญธรรมและบุตรบุญธรรมแล้ว ยังมีประโยชน์ทางด้านอื่นๆ อีกด้วย อาทิ เช่น

  • สำหรับผู้รับบุตรบุญธรรม ได้เติมเต็มความฝันในการเป็นพ่อแม่ ได้สร้างครอบครัวที่อบอุ่น ได้รับความรักและความผูกพันจากบุตรบุญธรรม
  • สำหรับบุตรบุญธรรม ได้รับการเลี้ยงดูในครอบครัวที่อบอุ่นและมีคุณภาพชีวิตที่ดี ได้รับการศึกษาที่ดี ได้เติบโตในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย

สิทธิของบุตรบุญธรรม

เช่น มีสิทธิได้รับมรดก มีสิทธิใช้นามสกุลของบิดา หรือมารดาบุญธรรม โดยที่บิดา หรือมารดาบุญธรรมไม่มีสิทธิที่จะมารับมรดกของบุตรบุญธรรม นอกจากนี้แล้ว บุตรบุญธรรมยังไม่เสียสิทธิที่พึงมีตามกฎหมายในครอบครัวเดิมแต่อย่างใด คือ ยังมีสิทธิรับมรดก ของบิดามารดาที่แท้จริงได้ และบิดามารดาที่แท้จริงมีสิทธิไปมาหาสู่เยี่ยมเยียนได้ตามสมควร ทั้งนี้กฎหมายยังคุ้มครองเด็กโดยบิดา หรือมารดาบุญธรรมจะเลิกรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมได้ต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดาที่แท้จริงเสียก่อน และจะฟ้องให้มีการเลิกรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมโดยไม่มีเหตุอันควรไม่ได้

เงื่อนไขการรับบุตรบุญธรรม

สำหรับผู้ที่จะรับบุตรบุญธรรมได้นั้นต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปี และต้องแก่กว่าผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรมอย่างน้อย 15 ปี การรับบุตรบุญธรรมจะสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อได้จดทะเบียนตามกฎหมายเท่านั้น ในกรณีที่มีคู่สมรสจะรับบุตรบุญธรรมทั้งคู่ต้องจดทะเบียนรับเป็นบุตรบุญธรรมด้วยกันทั้งคู่ หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจดทะเบียนรับเพียงฝ่ายเดียวแม้อีกฝ่ายจะยินยอมไม่ถือเป็นบุตรบุญธรรมของคู่สมรสของผู้รับบุตรบุญธรรมด้วยแต่อย่างใด การรับบุตรบุญธรรมที่สมบูรณ์ทำให้บุตรบุญธรรมมีฐานะอย่างเดียวกับบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้รับบุตรบุญธรรมนั้น โดยที่บุตรบุญธรรมนั้นไม่สูญเสียสิทธิและหน้าที่ในครอบครัวที่ได้กำเนิด

ดังนั้น บุตรบุญธรรมมีสิทธิได้รับมรดก 2 ทาง คือ 1. รับมรดกของผู้รับบุตรบุญธรรม 2. รับมรดกของบิดามารดาที่แท้จริง

หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับบุตรบุญธรรมอย่าลังเลที่จะติดต่อเรา TAPANAT&PARTNERS  เราพร้อมดูแลคุณ

อ่านต่อ

ทนายโอ๊ค

ฐปณัฐ เป็นทนายความและที่ปรึกษาอิสระ จบการศึกษาจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปัจจุบันทำงานเป็นทนายความประจำสำนักงานกฎหมายฐปณัฐแอนด์พาร์ทเนอร์ ให้คำ แนะนําแก่ลูกค้าชาวต่างชาติและชาวไทยมีความเชี่ยวชาญด้านการดําเนินคดีและการระงับข้อพิพาท ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ แพ่ง อาญา ทรัพย์สินทางปัญญา รวมถึงการบังคับคดี

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button