นิทานชาดก

นิทานชาดก : ความลับไม่มีในโลก

เคยสงสัยไหมว่า การกระทำของเรานั้นมีใครรู้บ้าง? ถึงแม้เราจะคิดว่าไม่มีใครเห็น แต่แท้จริงแล้ว ยังมีสิ่งอื่นที่สามารถรับรู้ได้ นิทานชาดกเรื่อง “ความลับไม่มีในโลก” สอนให้เราตระหนักว่า การกระทำของเรานั้นไม่มีความลับ แม้แต่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็ยังรับรู้ได้ ดังนั้น จึงควรทำแต่สิ่งดีงาม ไม่เบียดเบียนผู้อื่น

ความลับไม่มีในโลก

ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่วัดเชตวัน เมืองสาวัตถี ปรารภอุบายเครื่องข่มกิเลสที่เกิดขึ้นภายในพวกภิกษุในยามรุ่งแจ้งได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธก ว่า…

กาลครั้นหนึ่งนานมาแล้ว พระโพธิสัตว์เกิดในตระกูลพราหมณ์ในเมืองพาราณสี เมื่อเติบโตขึ้นเป็นหนุ่มได้ไปเรียนศิลปวิทยาในสำนักอาจารย์คนหนึ่งในเมืองนั้นเอง

ที่สำนักเรียน อาจารย์มีลูกสาวสวยคนหนึ่ง ต้องการอยากจะได้ลูกเขยเป็นผู้มีศีลธรรม คิดแผนการได้อย่างหนึ่งแล้ว ก็เรียกประชุมลูกศิษย์ทั้งหมด ประกาศให้ทราบว่า “นี่เธอทั้งหลาย ลูกสาวเราเติบโตเป็นสาวแล้ว เราจักให้เธอแต่งงานแต่ยังขาดผ้าประดับอยู่อีกมาก ขอให้พวกเธอจงลักเอาผ้าประดับพวกญาติๆ แต่มีข้อแม้ว่าจะต้องไม่มีใครเห็นนะ ผ้าที่มีคนเห็นเราจะไม่รับ” พวกลูกศิษย์รับคำ ตั้งแต่วันนั้นมา ลูกศิษย์คนอื่น ๆ ก็พากันนำผ้าประดับที่แอบลักได้มอบให้อาจารย์

ท่านก็เก็บรวบรวมไว้ที่หนึ่ง มีเพียงพระโพธิสัตว์เท่านั้นที่ไม่มีผ้าอะไรมามอบให้ อาจารย์จึงถามว่า “ทำไมเธอถึงไม่ลักผ้าประดับมาให้อาจารย์ละ” พระโพธิสัตว์ตอบว่า “อาจารย์ แม้แต่ท่านก็ไม่รับเอาสิ่งของที่เขาเอามาให้ เมื่อมีคนเห็น ผมก็ไม่เห็นที่ลับในการทำบาปเลย” แล้วกล่าวเป็นคาถาว่า

“ชื่อว่าที่ลับในโลก ย่อมไม่มีแก่ผู้กระทำบาปกรรม ต้นไม้ที่เกิดในป่าก็ยังมีคนเห็น คนพาลย่อมสำคัญบาปกรรมนั้นว่าเป็นความลับ”

อาจารย์เลื่อมใสเขามาก จึงยกลุกสาวให้แก่เขา พร้อมกับประกาศให้ศิษย์ทุกคนทราบและให้นำผ้าที่ทุกคนนำมาให้กลับคืนบ้านไป

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า

ความลับไม่มีในโลก แม้นไม่มีผู้อื่นทราบ ตัวเราเองย่อมรู้ดีอยู่แก่ใจ

อ่านต่อ

Fern A.

สามารถสร้างสรรค์เรื่องราวที่หลากหลาย ทั้งนิทาน นิทานชาดก และนิทานอีสป โดยฉันจะเน้นไปที่การถ่ายทอดเรื่องราวที่สนุกสนานและเต็มไปด้วยข้อคิดสอนใจ เพื่อให้ผู้อ่านได้รับประโยชน์จากเรื่องราวเหล่านั้น เชื่อว่านิทานเป็นสื่อที่ทรงพลัง สามารถปลูกฝังค่านิยมที่ดีให้กับเด็ก ๆ ได้ นิทานสามารถช่วยให้เด็ก ๆ เรียนรู้เกี่ยวกับโลกรอบตัว รู้จักการคิดวิเคราะห์ รู้จักแยกแยะสิ่งดีสิ่งเลว รู้จักแก้ไขปัญหา และรู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่น

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button