นิทานชาดก

นิทานชาดก : พญาแร้ง

นิทานชาดก : พญาแร้ง เป็นนิทานที่สอนให้รู้ว่า “บุญคุณเป็นสิ่งที่ควรทดแทน” กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีพญาแร้งผู้หนึ่งอาศัยอยู่บนขุนเขาคิชฌบรรพต มีพญาแร้งเป็นผู้นำ มีบริวารมากมาย พญาแร้งผู้นี้เป็นผู้กตัญญูรู้คุณต่อผู้มีพระคุณ เมื่อครั้งยังเป็นลูกแร้งน้อย แร้งแม่และแร้งพ่อได้เลี้ยงดูเป็นอย่างดี แร้งผู้นี้จึงตอบแทนบุญคุณด้วยการเลี้ยงดูแร้งแม่และแร้งพ่อเป็นอย่างดีเช่นกัน

พญาแร้ง

ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่วัดเชตวันเมืองสาวัตถีทรงปรารภภิกษผู้เลี้ยงมารดารูปหนึ่ง ได้ตรัสว่า “สาธุ สาธุ โบราณบัณฑิตได้ทำอุปการะแก่ผู้มิใช่ญาติ เพื่อตอบแทนบุญคุณส่วนมารดาบิดาถือเป็นภาระของภิกษุโดยแท้” แล้วทรงนำอดีตนิทานมาสาธก ว่า…

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พระโพธิสัตว์เกิดเป็นพยาแร้งเลี้ยงดูบิดามารดาอยู่ที่คิชฌบรรพต ต่อมาวันหนึ่งเกิดพายุฝนห่าใหญ่พัดกระหน่ำ ฝูงแร้งไม่สามารถทนพายุฝนได้ พากันบินหนีตายเข้ามาอาศัยอยู่ในเมืองพาราณสี

วันนั้น เศรษฐีชาวเมืองพาราณสีคนหนึ่ง ออกจากเมืองจะไปอาบน้ำเห็นฝูงแร้งเปียกมอมแมมอยู่ จึงหอบไปรวมกันในที่แห่งหนึ่ง ก่อไฟให้ผิงแล้วนำไปไว้ที่ป่าช้า นำเนื้อโคมาเลี้ยงพวกแร้งเป็นอย่างดี

เมื่อพายุฝนหยุดแล้ว ฝูงแร้งมีร่างกายเข้มแข็งแล้วพากันบินกลับรังที่ภูเขาตามเดิม วันหนึ่งฝูงแร้งจับกลุ่มปรึกษากันว่า

“พวกเรารอดตายมาได้ ก็เพราะการช่วยเหลือของเศรษฐีคนหนึ่ง พวกเราจะตอบแทนบุญคุณของท่านอย่างไรดี” จึงตกลงร่วมกันว่า

“ตั้งแต่วันนี้ไป แร้งตัวใดได้ผ้าหรือเครื่องนุ่งห่มใด ๆ ก็พึงคาบไปทิ้งที่บ้านเศรษฐีนะ”

นับแต่วันนั้นมาฝูงแร้งก็ดูทีเผลอของพวกมนุษย์ที่ตากผ้าไว้ที่กลางแดด ต่างพากันโฉบเฉี่ยวเอาผ้าไปทิ้งไว้ที่บ้านเศรษฐีเป็นประจำ เศรษฐีพอเห็นผ้านั้นแล้ว ก็นำไปเก็บไว้ในที่ส่วนหนึ่งต่างหากไม่นำเอามาใช้

ชาวเมืองเกิดความเดือดร้อนเพราะฝูงแร้งลักผ้าไป จึงเข้ากราบทูลพระราชา พระองค์รับสั่งให้ดักบ่วงและข่ายเพื่อจับพญาแร้ง เมื่อชาวเมืองจับพญาแร้งได้แล้ว จะนำไปถวายพระราชา เศรษฐีก็กำลังจะเข้าเฝ้าพระราชาเช่นกัน จึงเดินตามกันไป
พระราชาตรัสถามพญาแร้งว่า “พวกเจ้าคาบผ้าชาวเมืองไปหรือ?”

  • พญาแร้งตอบว่า “จริง พระเจ้าข้า”
  • พระราชา “พวกเจ้าเอาไปให้ใคร”
  • พญาแร้ง “ให้เศรษฐี พระเจ้าข้า”
  • พระราชา “ทำไมละ”
  • พญาแร้ง “เพราะเศรษฐีช่วยเหลือชีวิตของพวกข้าพระองค์จึงต้องตอบแทนบุญคุณ .. พระเจ้าข้า”
  • พระราชาตรัสถามอีกว่า “เขาลือกันว่า แร้งเห็นซากศพได้ ถึง ๑๐๐ โยชน์มิใช่หรือ เหตุไร พวกเจ้ามาใกล้ข่ายและบ่วงแล้วก็ไม่รู้สึกตัวเล่า”

พญาแร้งตอบเป็นคาถาว่า

“เมื่อใดสัตว์มีความเสื่อมในขณะจะสิ้นชีวิต เมื่อนั้นนถึงจะมาใกล้ข่ายและบ่วงก็ไม่รู้”

พระราชาตรัสถามเศรษฐีว่า “เป็นจริงตามนั้นหรือไม่ ท่านเศรษฐี”

เศรษฐีได้กราบทูลว่า “จริงพระเจ้าข้า ขอพระองค์โปรดทรงปล่อยแร้งตัวนี้ไปเถิด ข้าพระองค์จะคืนผ้าเหล่านั้นแก่เจ้าของเดิม พระเจ้าข้า”

พระราชาจึงรับสั่งให้ปล่อยแร้งไปตามเดิม เศรษฐีก็คืนผ้าให้แก่เจ้าของเดิมไป

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า

บุญคุณต้องตอบแทนแม้แต่สัตว์เดรัจฉานยังรู้จักตอบแทนบุญคุณ และอย่าได้ประมาทในวัยเพราะความตายไม่เคยเว้นใคร

อ่านต่อ

Fern A.

สามารถสร้างสรรค์เรื่องราวที่หลากหลาย ทั้งนิทาน นิทานชาดก และนิทานอีสป โดยฉันจะเน้นไปที่การถ่ายทอดเรื่องราวที่สนุกสนานและเต็มไปด้วยข้อคิดสอนใจ เพื่อให้ผู้อ่านได้รับประโยชน์จากเรื่องราวเหล่านั้น เชื่อว่านิทานเป็นสื่อที่ทรงพลัง สามารถปลูกฝังค่านิยมที่ดีให้กับเด็ก ๆ ได้ นิทานสามารถช่วยให้เด็ก ๆ เรียนรู้เกี่ยวกับโลกรอบตัว รู้จักการคิดวิเคราะห์ รู้จักแยกแยะสิ่งดีสิ่งเลว รู้จักแก้ไขปัญหา และรู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่น

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button