นิทานชาดก : เหยี่ยวนกเขา เป็นนิทานที่เล่าถึงนกมูลไถตัวหนึ่งที่ถูกเหยี่ยวนกเขาจับได้ นกมูลไถได้พูดกับเหยี่ยวนกเขาว่า “ถ้าอยู่ในถิ่นของเราแล้วท่านไม่มีโอกาสจับเราได้หรอก” เหยี่ยวนกเขาจึงปล่อยนกมูลไถไป นกมูลไถจึงบินกลับไปหาเหยี่ยวนกเขาอีกครั้งและท้าทายให้จับอีกครั้ง เหยี่ยวนกเขาโถมเข้าหานกมูลไถด้วยความมั่นใจ แต่กลับกระแทกเข้ากับก้อนดินตายคาที่
เหยี่ยวนกเขา
ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่วัดเชตวัน เมืองสาวัตถี ทรงปรารภพระสูตรว่าด้วยโอวาทของนกที่ไม่ควรเที่ยวหากินไกลถิ่นที่อยู่ของตน ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธก ว่า…
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พระโพธิสัตว์เกิดเป็นนกมูลไถอาศัยหากินอยู่ตามก้อนดินมูลไถ วันหนึ่ง มันบินไปหากินต่างถิ่นถูกเหยี่ยวนกเขาจับได้ จึงพูดขึ้นว่า
“วันนี้เราเคราะห์ร้าย เพราะมาหากินต่างถิ่น ถ้าอยู่ในถิ่นของเราแล้ว ท่านไม่มีโอกาสจับเราได้หรอก”
เหยี่ยวนกเขาได้ฟังเช่นนั้นจึงปล่อยมันไปพร้อมกับพูดว่า “เจ้านกน้อย ในที่ไหน ๆ เจ้าก็ไม่รอด พ้นกรงเล็บของเราไปได้ดอกให้โอกาสเจ้าแก้ตัว”
นกมูลไถพอถูกปล่อยเป็นอิสระก็บินกลับไปถึงที่อยู่ของตน ขึ้นไปจับบนก้อนดินใหญ่แล้วร้องท้าทายเหยี่ยวนกเขาว่า “มาเลยเจ้าเหยี่ยวโง่ แน่จริงมาจับข้าอีกสิ”
เหยี่ยนกเขาเห็นมันร้องท้าเช่นนี้นจึงโถมกำลังปีกโฉบเข้าหามันทันที นกมูลไถรู้ว่าเหยี่ยวนกเขาใกล้จะถึงตัวแล้วก็บินกลับเข้าไปในระหว่างก้อนดินมูลไถ เหยี่ยวมาด้วยความเร็วด้วยหวังจะขย้ำนกมูลไถให้แหลกคากรงเล็บ จึงกระแทกอกเข้ากับก้อนดินตาถลนออกตายคาที่ ณ ตรงนั้นเอง
เมื่อเหยี่ยวตายแล้ว นกมูลไถจึงขึ้นมายืนบนอกของเหยี่ยวด้วยมั่นใจว่าชนะข้าศึกได้แล้ว กล่าวเป็นคาถาว่า
“เรานั้นเป็นผู้เพียบพร้อมด้วยอุบาย ยินดีแล้วในที่หากินอันเป็นเขตแห่งบิดา เห็นประโยชน์ของตนอยู่ เป็นผู้หลีกพ้นจากศัตรู ย่อมเบิกบานใจ”
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
ถิ่นใครถิ่นมันอย่าคิดทำในสิ่งที่ตนเองไม่ถนัดและไม่มีความชำนาญ เพราะจะนำความฉิบหายมาให้มากกว่าสิ่งดี