นิทานชาดก

นิทานชาดก : นกหัวขวานกับราชสีห์

นกหัวขวานตัวหนึ่งอาศัยอยู่ในป่า อยู่มาวันหนึ่ง ราชสีห์ตัวหนึ่งกินเนื้อด้วยความมูมมาม ทำให้กระดูกติดคอจนคอบวม ไม่สามารถจับเหยื่อได้ นกหัวขวานสงสารจึงเข้าไปช่วยราชสีห์ เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป เชิญติดตามได้ในนิทานชาดก “นกหัวขวานกับราชสีห์”

นกหัวขวานกับราชสีห์

ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่วัดเวฬุวันเมืองราชคฤห์ ทรงปรารภความอกตัญญูของพระเทวทัต ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธกว่า กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พระโพธิสัตว์เกิดเป็นนกหัวขวานอาศัยอยู่ในป่าแห่งหนึ่ง มีราชสีห์ตัวหนึ่งเที่ยวหากินอยู่ในบริเวณเดียวกัน วันหนึ่ง ราชสีห์กินเนื้อด้วยความมูมมามจึงทำให้กระดูกติดคอจนคอบวม มันไม่สามารถจับเหยื่อหากินได้นอนปวดร้าวทรมานอยู่ หลายวันต่อมานกหัวขวานบินเที่ยวหากินไปพบมันเข้าจึงจับกิ่งไม้ร้องถามไปว่า “ท่านราชสีห์ ท่านนอนร้องครวญครางอยู่ เป็นอะไรหรือ ?”

“กระดูกติดคอเรานะสิ เรานอนเจ็บปวดทรมานมาหลายวันแล้ว ช่วยเราด้วย” มันร้องตอบ นกหัวขวานพูดว่า “เราอยากจะช่วยท่านอยู่ แต่ไม่กล้าจะเข้าไปในปากท่าน กลัวท่านจะกินเรา” ราชสีห์อ้อนวอนว่า “ท่านอย่ากลัวไปเลย เราไม่กินท่านดอก ช่วยเราด้วยนะ”

นกหัวขวานใจอ่อนด้วยความกรุณาสงสารราชสีห์จึงรับคำช่วยเหลือ ให้ราชสีห์นอนตะแคงแล้วใช้ท่อนไม้ค้ำปากของมันให้อ้าปากไว้ เพื่อไม่ให้มันหุบปากได้ แล้วเข้าไปในปากราชสีห์ ใช้ปากจิกกระดูกให้เคลื่อนเข้าไปในท้องของมันแล้วจิกท่อนไม้ให้ล้มลง บินขึ้นไปจับบนกิ่งไม้ตามเดิม ทำให้ราชสีห์หมดทุกข์เที่ยวจับเหยื่อกินได้เป็นปกติ

อีกหลายวันต่อมา นกหัวขวานบินหากินไปพบราชสีห์กำลังนอนแทะเนื้ออยู่ คิดจะทดสอบจิตใจของราชสีห์ จึงจับบนกิ่งไม้เหนือราชสีห์นั้นแล้วพูดว่า “ท่านจอมแห่งไพร ขอแสดงความเคารพ เราเคยได้ช่วยเหลือท่านอย่างหนึ่ง แล้วท่านจะมีอะไรตอบแทนกันบ้างหนอ”

ราชสีห์ตอบว่า “เจ้านกหัวขวานเอ๋ย ในวันนั้น ขณะที่เจ้าอยู่ในปากของเรา เจ้าเอาชีวิตรอดออกมาได้ก็นับว่าเป็นบุญของเจ้าแล้วละ เจ้าจะเอาอะไรอีก” นกหัวขวานได้ฟังเช่นนั้นแล้วกล่าวเป็นคาถาว่า

“ผู้ไม่รู้อุปการคุณที่ผู้อื่นทำแล้ว ผู้ที่ไม่เคยทำความดีอย่างใดอย่างหนึ่งแก่ใคร ผู้ที่ไม่ตอบแทนอุปการคุณที่ผู้อื่นทำให้แล้ว น่าตำหนิ ความกตัญญูไม่มีในผู้ใด การคบหาผู้นั้น ก็ไร้ประโยชน์ แม้อุปการคุณที่กระทำต่อหน้า มิตรธรรมยังหาไม่ได้ในบุคคลใด บัณฑิตไม่ริษยา ไม่ด่าบุคคลนั้น พึงค่อย ๆ หลีกห่างออกจากบุคคลนั้นไปเสีย” กล่าวจบก็บินหนีเข้าป่าไป

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า

คบคนพาลพาลพาไปหาผิด คบบัณฑิตบัณฑิตพาไปหาผล ผู้ไม่รู้บุญคุณที่เขาทำไว้แล้ว ไม่ควรคบสมาคมด้วย

Fern A.

สามารถสร้างสรรค์เรื่องราวที่หลากหลาย ทั้งนิทาน นิทานชาดก และนิทานอีสป โดยฉันจะเน้นไปที่การถ่ายทอดเรื่องราวที่สนุกสนานและเต็มไปด้วยข้อคิดสอนใจ เพื่อให้ผู้อ่านได้รับประโยชน์จากเรื่องราวเหล่านั้น เชื่อว่านิทานเป็นสื่อที่ทรงพลัง สามารถปลูกฝังค่านิยมที่ดีให้กับเด็ก ๆ ได้ นิทานสามารถช่วยให้เด็ก ๆ เรียนรู้เกี่ยวกับโลกรอบตัว รู้จักการคิดวิเคราะห์ รู้จักแยกแยะสิ่งดีสิ่งเลว รู้จักแก้ไขปัญหา และรู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่น

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button