นิทานชาดก

นิทานชาดก : นกกระจาบ

นิทานชาดก : นกกระจาบ เป็นนิทานที่สอนให้รู้ว่า ความสามัคคี เป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะสามารถช่วยให้เราผ่านพ้นอุปสรรคต่างๆ ไปได้ เช่นเดียวกับฝูงนกกระจาบในนิทานเรื่องนี้ ที่อาศัยความสามัคคีในการเอาชนะนายพรานผู้โหดร้ายได้สำเร็จ

นกกระจาบ

ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้า ประทับอยู่วัดนิโคธาราม เมืองกบิลพัสดุ์ ทรงปรารภการทะเลาะกันของพระประยูรญาติ ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธกว่า…

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีฝูงนกกระจาบหลายพันตัวอาศัยอยู่ในป่าแห่งหนึ่ง มีนายพรานคนหนึ่ง มีอาชีพจับนกกระจาบขายอยู่เป็นประจำ วันหนึ่ง นกกระจาบจ่าฝูงได้แนะนำนกกระจาบทุกตัวว่า

“ท่านทั้งหลาย เมื่อถูกตาข่ายนายพรานครอบแล้ว ให้ท่านทุกตัวสอดหัวเข้าในตาข่ายตาหนึ่งๆ แล้วพากันบินไปที่ต้นไม้มีหนาม ทิ้งตาข่ายไว้แล้วบินหนีไปนะ”

หมู่นกกระจาบพากันรับคำ ต่อมาอีกสองวัน ฝูงนกกระจาบถูกตาข่ายนายพรานเข้าก็พากันทำเช่นนั้น นกทุกตัวสามารถหนีรอดไปได้ กว่านายพรานจะปลดตาข่ายออกจากหนามก็ค่ำมืดพอดี

อยู่มาวันหนึ่ง ขณะที่หากินอาหาร มีนกกระจาบตัวหนึ่ง บินลงพื้นที่หากินเหยียบถูก หัวนกกระจาบอีกตัวหนึ่งเข้า ตัวถูกเหยียบหัวโกรธจึงเป็นเหตุให้ทะเลาะกันลามไปทั้งฝูงว่า “เห็นจะมีแต่ท่านเท่านั้นกระมัง ที่ยกตาข่ายขึ้นได้ ตัวอื่นไม่มีกำลังหรอกนะ”

ฝ่ายนกกระจาบจ่าฝูง เห็นพวกนกมัวแต่ทะเลาะกัน ก็คิดว่า

“ขึ้นชื่อว่า การทะเลาะกัน ย่อมไม่มีความปลอดภัย ความพินาศจะเกิดขึ้น” จึงได้พาบริวารส่วนหนึ่งบินหนีไปอยู่ที่อื่น ฝ่ายนายพราน พอผ่านไปสองสามวัน ก็มาดักตาข่ายอีก พอฝูงนกกระจาบติดตาข่ายนายพรานในครั้งนี้อีก ต่างทะเลาะกันเกี่ยงกันบินขึ้น จึงถูกนายพรานรวบไปเป็นอาหารและขายทั้งหมด

นายพรานจึงกล่าวเป็นคาถาว่า

“นกกระจาบทั้งหลาย ร่าเริง บันเทิงใจ พาเอาข่ายไปได้ เมื่อใดพวกมันทะเลาะกัน เมื่อนั้น พวกมันจักตกอยู่ในเงื้อมมือของเรา”

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า

การทะเลาะกัน นำมาซึ่งความพินาศ

Fern A.

สามารถสร้างสรรค์เรื่องราวที่หลากหลาย ทั้งนิทาน นิทานชาดก และนิทานอีสป โดยฉันจะเน้นไปที่การถ่ายทอดเรื่องราวที่สนุกสนานและเต็มไปด้วยข้อคิดสอนใจ เพื่อให้ผู้อ่านได้รับประโยชน์จากเรื่องราวเหล่านั้น เชื่อว่านิทานเป็นสื่อที่ทรงพลัง สามารถปลูกฝังค่านิยมที่ดีให้กับเด็ก ๆ ได้ นิทานสามารถช่วยให้เด็ก ๆ เรียนรู้เกี่ยวกับโลกรอบตัว รู้จักการคิดวิเคราะห์ รู้จักแยกแยะสิ่งดีสิ่งเลว รู้จักแก้ไขปัญหา และรู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่น

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button