เรื่องน่าสนใจ

ประเพณีบุญบั้งไฟ ความสำคัญและตำนานของอีสาน

ประเพณีบุญบั้งไฟ เป็นหนึ่งในฮีตสิบสองเดือนของชาวอีสาน นิยมทำกันในเดือน 6 หรือเดือน 7 อันเป็นช่วงฤดูฝนเข้าสู่การทำนา ตกกล้า หว่าน ไถ เพื่อเป็นการบูชาเทพยดาอารักษ์หลักบ้านหลักเมืองและบูชาพญาแถนขอฝนให้ตกต้องตามฤดูกาล

ความสําคัญ ประเพณีบุญบั้งไฟ

ประเพณีบุญบั้งไฟ (ภาษาอังกฤษ: Bun Bang Fai Rocket Festival) เป็นประเพณีท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อดั้งเดิมของชาวไทยภาคอีสาน (Thailand Rocket Festival) รวมไปถึงประเทศลาวด้วย โดยมีความเชื่อว่าการจุดบั้งไฟเป็นการบูชาพระยาแถน ซึ่งเป็นเทพที่ดูแลให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล บางความเชื่อก็เชื่อว่า การจุดบั้งไฟนั้นเพื่อเป็นการบูชาพระธาตุเกศแก้วจุฬามณีบนสวรรค์ ซึ่งจะทำกันในเดือนหก เพื่อขอฝนให้ตกลงมาทันการเพาะปลูกข้าวกล้า และนอกจากจุดบั้งไฟเพื่อขอฝนแล้ว การจุดบั้งไฟยังเป็นการเสี่ยงทายอย่างหนึ่ง คือเชื่อกันว่าหากจุดบั้งไฟแล้วลอยขึ้นสูง ทำนายได้ว่าปีนี้ฝนจะตกต้องตามฤดูกาล น้ำท่าข้าวปลาอาหารอุดมสมบูรณ์ดี ดังนั้นจึงมีการจัดงานบุญบั้งไฟก่อนจะถึงฤดูกาลทำไร่ทำนาของทุกปี โดยแต่ละท้องถิ่นจะจัดงานไม่ตรงกัน

บุญบั้งไฟยโสธร

จังหวัดยโสธร งานบุญบั้งไฟ (Bun Bang Fai Thailand) ของจังหวัดยโสธรได้รับการสนับสนุนจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยในการประชาสัมพันธ์ จึงมีความยิ่งใหญ่ ได้รับความนิยม และเป็นที่รู้จักมากกว่าที่อื่นๆ โดยจะจัดขึ้นในวันเสาร์-อาทิตย์ สัปดาห์ที่สองของเดือนพฤษภาคมในทุกปี ในงานจะมีขบวนแห่บั้งไฟแบบโบราณ รำเซิ้งแบบโบราณ และกิจกรรมอื่นๆ อีกหลายอย่าง

จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นจังหวัดที่มีการจัดงานบุญบั้งไฟที่ได้รับความนิยมมากอีกจังหวัดหนึ่ง โดยเฉพาะที่อำเภอสุวรรณภูมิ ซึ่งวันจัดงานคือวันเสาร์-อาทิตย์ ในสัปดาห์แรกของเดือนมิถุนายนในทุกปี ที่นี่จะมี บั้งไฟเอ้ (เอ้ แปลว่า ตกแต่ง) ซึ่งมีขนาดใหญ่ และบั้งไฟมีลวดลายไม่เหมือนที่อื่น เรียกว่าลายศรีภูมิ ซึ่งมีความงามอย่างมีเอกลักษณ์ อีกทั้งยังมีขบวนรำที่สวยงามมากด้วย ขณะที่อำเภอพนมไพรจะจัดงานบุญบั้งไฟในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 7 ของทุกปี โดยมีการจุดบั้งไฟถวายมากที่สุดในประเทศไทย

จังหวัดหนองคาย เป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่มีการจัดงานบุญบั้งไฟอย่างยิ่งใหญ่ โดยมีขบวนแห่บั้งไฟ ประกวดบั้งไฟสวยงาม การจัดพิธีจุดบั้งไฟเสี่ยง ฯลฯ นอกจากนี้ก็ยังมีจัดงานบุญบั้งไฟ (Rocket Festival Thailand) ในจังหวัดอื่นๆ อีกหลายจังหวัด รวมถึงทางภาคเหนือก็มีประเพณีบุญบั้งไฟบ้างเหมือนกัน

ตำนานบุญบั้งไฟ

พญาคันคากกับพญาแถน

ประเพณีบุญบั้งไฟ ปรากฏอยู่ในตำนานเรื่องพญาคันคาก มีการกล่าวถึงการจุดบั้งไฟเพื่อบูชาพญาแถน โดยเฉพาะในเรื่องพญาคันคาก ซึ่งตำนานนั้นมีอยู่ว่า พญาคันคากเป็นพระโพธิสัตว์ เสวยชาติเป็นโอรสของกษัตริย์ เหตุที่ได้ชื่อว่า พญาคันคาก เป็นเพราะเมื่อครั้งประสูติมีรูปร่างผิวพรรณเหมือนคางคก หรือที่ชาวอีสานเรียกกันว่า คันคาก และถึงแม้พระองค์จะมีรูปร่างอัปลักษณ์ แต่พระอินทร์ก็คอยช่วยเหลือ จนพญาคันคากเป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้าน จนลืมที่จะเซ่นบูชาพระยาแถน พระยาแถนจึงโกรธ ไม่ยอมปล่อยน้ำฝนให้ตกลงมายังโลกมนุษย์

ศึกการต่อสู้ระหว่างพญาคันคากและพญาแถนจึงเกิดขึ้น โดยพญาคันคากได้นำทัพสัตว์ต่างๆ ขึ้นไปรบ จนได้รับชัยชนะ พญาแถนจึงปล่อยให้ฝนตกลงมาเช่นเดิม แต่มีข้อแม้ว่าจะต้องจุดบั้งไฟขึ้นไปบูชาเป็นประจำทุกปี จึงเป็นที่มาว่าเมื่อถึงเดือนหกอันเป็นต้นเดือนฤดูฝน ชาวอีสานจึงทำบั้งไฟจุดขึ้นบนฟ้าถวายพญาแถน เพื่อฝนจะได้ตกต้องตามฤดูกาลนั่นเอง จากตำนานพญาคันคากนี่เอง ทำให้ชาวยโสธรได้สร้างแลนด์มาร์กแห่งใหม่เพื่อแสดงถึงความเชื่อของชาวอีสาน คือ พิพิธภัณฑ์พญาคันคาก

ผาแดงนางไอ่

นางไอ่เป็นธิดาพระยาขอมผู้ครองเมืองชะธีตา นางไอ่เป็นสตรีที่มีสิริโฉมงดงามเป็นที่เลื่องลือไปในนครต่าง ๆ ทั้งโลกมนุษย์และบาดาล มีชายหนุ่มหมายปองจะได้อภิเษกกับนางมากมาย ในจำนวนผู้ที่มาหลงรักนางไอ่ มีท้าวผาแดงและท้าวพังคี โอรสสุทโธนาค เจ้าผู้ครองนครบาดาล ท้าวทั้งสองต่างเคยมีความผูกพันกับนางไอ่มาแต่อดีตชาติ จึงต่างช่วงชิงจะได้เคียงคู่กับนาง แต่ก็พลาดหวัง จึงมิได้อภิเษกทั้งคู่เพราะแข่งขันบั้งไฟแพ้

ท้าวพังคีนาคไม่ยอมลดละ แปลงกายเป็นกระรอกเผือกคอยติดตามนางไอ่ สุดท้ายถูกฆ่าตาย พญานาคผู้เป็นพ่อจึงขึ้นมาถล่มเมืองล่มไป กลายเป็นหนองน้ำใหญ่ คือ หนองหาน หนองหานในตำนานท้าวผาแดงนางไอ่ ที่เป็นที่ถกเถียงกันว่าที่ไหนกันแน่ มีอยู่ถึง 3 ที่ ได้แก่ หนองหาน ที่ อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี และหนองหาน อำเภอกุมภวาปี ซึ่งก็ไม่ไกลจากที่แรกมากนัก และอีกที่หนึ่งก็คือหนองหาร จังหวัดสกลนคร

ในตำราอ้างอิงถึงเรื่องผาแดงนางไอ่จบลงด้วยการเกิดเป็นหนองน้ำ ขนาดใหญ่จากการต่อสู้ของพญานาคกับท้าวผาแดง ต่างก็มีข้อมูลอ้างอิงถึง หนองน้ำที่ชื่อหนองหาน แต่กล่าวต่างกันไปในตำราแต่ละเล่มถึงหนองน้ำ ทั้ง 3 แห่ง

ประเภทของบั้งไฟ
Image via i-san.tourismthailand.org

ประเภทของบั้งไฟ

ประเภทที่ 1 ได้แก่ บั้งไฟที่ไม่มีหาง เช่นบั้งไฟพุ บั้งไฟพะเนียง บั้งไฟตะไล บั้งไฟดอกไม้ บั้งไฟโครงขาว บั้งไฟม้า

ประเภทที่ 2 ได้แก่ บั้งไฟที่มีหาง ซึ่งแบ่งเป็น 4 หมวดหมู่ ดังนี้

  1. บั้งไฟน้อย เป็นบั้งไฟที่มีขนาดเล็กบั้งไฟชนิดนี้ถูกนำมาใช้เพื่อเสี่ยงทายดูว่าฝนจะตกต้องตามฤดูกาลหรือไม่ ถ้าหากว่าบั้งไฟถูกยิงขึ้นไปสูงสุดหมายถึงฝนจะดี
  2. บั้งไฟร้อย เป็นบั้งไฟที่บรรจุดินปืนน้อยกว่า 12 กิโลกรัม ซึ่งได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อการแข่งขัน
  3. บั้งไฟหมื่น เป็นบั้งไฟที่บรรจุดินปืนระหว่าง 12 – 119 กิโลกรัม
  4. บั้งไฟแสน เป็นบั้งไฟที่มีขนาดใหญ่ที่สุดซึ่งบรรจุดินปืน 120 กิโลกรัมการแห่บั้งไฟ

ประเภทของบั้งไฟแบบต่าง ๆ

บั้งไฟโหวด

บั้งไฟโบดหรือโหวดเป็นบั้งไฟขนาดเล็กตัวกระบอกจะยาวขึ้น ประมาณ 4-10 นิ้ว บรรจุหมื่อหนักประมาณ 1 ส่วน 8 ถึง 1 ส่วน 2 กิโลกรัม ใช้หางยาวประมาณ 1-4 เมตร มีกระบอกไม้ไผ่เล็ก ๆ มัดวางรอบตัวบั้งไฟ นิยมทำประกอบกันในบั้งไฟใหญ่ (บั้งไฟหมื่น, บั้งไฟแสน) ปัจจุบันไม่ค่อยนิยมทำ เพราะไม่มีช่าง

บั้งไฟม้า

บั้งไฟชนิดนี้เป็นบั้งไฟขนาดเล็กจุดไปตามทิศทางที่กำหนดใช้เส้นลวดเป็นวิถีตรึงไปยังเป้าหมายที่ต้องการ ลักษณะทั่วไปเป็นบั้งไฟที่ทำจากกระบอกไม้ไผ่ 1 ปล้อง ขนาดแล้วแต่ต้องการ โดยทั่วไปเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 นิ้ว ยาวประมาณ 1 ฟุตทางภาคกลางและภาคอีสานเรียกว่า “ลูกหนู” คล้ายม้าที่กำลังวิ่ง ถ้าติดรูปอะไรก็เรียกชื่อไปตามนั้น เป็นคนขี่ม้า รูปวัว แล้วแต่จะทำรูปอะไร บางครั้งภาคเหนือเรียกว่า บอกไฟยิง

บั้งไฟช้าง

บั้งไฟชนิดนี้ไม่มีหาง มีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่ากระโพกหรือตะโพก เวลาจุดไม่ต้องการให้พุ่งขึ้นไปแต่ต้องการมีเสียงร้องคล้ายกับช้างร้อง วิธีทำบั้งไฟให้ใช้กระบอกไม้ไผ่ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดยาวเพียงป้องเดียวให้มีข้อปิดทั้ง 2 ด้าน ทุบไม้ไผ่ให้แตกเล็กน้อย เจาะรู เพื่อบรรจุหมื่อแล้วต่อชนวนเข้ารูแท่งหมื่อทำจากหมื่อถ่าน 3-4 อัดลงในไม้ไผ่ขนาดเล็กให้แน่น แล้วผ่าเอาแท่งหมื่อออกมาคล้ายข้าวหลาม ให้ได้แท่งประมาณ 3 นิ้ว การจุดนั้นนิยมต่อพ่วงชนวนบั้งไฟใหญ่ เวลาจุดชนวนผ่าจะเกิดเสียงดังเหมือนเสียงช้างร้อง นิยมวางต่อกันเป็นช่วง ๆ กระบอก ถ้าต้องการจะให้มีเสียงดังอย่างไรก็จะมีเทคนิคในการทำให้เกิดเสียงนั้น ๆ

บั้งไฟแสน

บั้งไฟชนิดนี้เป็นบั้งไฟขนาดใหญ่ที่สุด บรรจุดินปืนหนัก 120 กิโลกรัมขึ้นไป บั้งไฟขนาดนี้ทำยากที่สุดจะต้องอาศัยความชำนาญเป็นพิเศษ เพราะบั้งไฟขนาดนี้หากแตกแล้วจะเป็นอันตรายมาก เพราะฉะนั้นก่อนทำบั้งไฟจะต้องมีพิธีกรรมบวงสรวงให้ถูกต้องตามหลักการทำบั้งไฟแสนเสียก่อนจึงจะลงมือทำ เมื่อตกบั้งไฟเสร็จเรียบร้อยแล้วจะมีการตกแต่งประดับประดาบั้งไฟ

บั้งไฟตะไล

บั้งไฟชนิดนี้ก็คือบั้งไฟจินายขนาดใหญ่นั่นเอง มีความยาวประมาณ 9-12 นิ้ว รูปร่างกลมมีไม้บาง ๆ แบน ๆ เป็นวงกลมครอบหัวท้ายบั้งไฟเมื่อพุ่งขึ้นสู่ฟ้าไปโดยทางขวาง

บั้งไฟตื้อ

บั้งไฟตื้อหรือบั้งไฟกระแตนั่งตอ เป็นบั้งไฟขนาดเล็กมีหางสั้น วิธีทำ ตัดกระบอกไม้ไผ่ขนาด 1 นิ้วครึ่งยาวประมาณ 3 นิ้ว อัดหมื่อให้แน่นประมาณ 2 นิ้ว ใช้หมื่อถ่านสามหรือถ่านสี่อัดด้วยเถียดไม้ให้แน่น ต่อหางซึ่งทำจากไม้ไผ่ เหลาเป็นแท่งเล็กๆ ใช้เลื่อยตัดมุมข้อออกจนเห็นหมื่อ เจาะให้เป็นรูเล็ก ๆ แล้วติดชนวน เวลาจะจุดเอาหางเสียบลงในแท่นที่ตั้งพอให้ตั้งได้ จุดชนวนจากด้านบน บั้งไฟจะพุ่งและหมุนขึ้นสู่อากาศ เกิดเสียงดังตือ ๆ เวลาหมุนจะไม่ค่อยมีทิศทาง ใช้จุดในงานศพ เวลาจุดมีอันตรายมากไม่ค่อยนิยมทำกัน

บั้งไฟพลุ

บั้งไฟพลุ เป็นบั้งไฟที่นิยมจุดในเทศกาลต่าง ๆ เช่น งานกฐิน งานบุญมหาชาติ หรือ งานเปิดกีฬา ฯลฯ เป็นบั้งไฟที่จุดแล้วทำให้เกิดเสียงดัง ในอดีตนิยมจุดในงานกฐิน เพื่อเป็นการบอกข่าวไปยังพี่น้องประชาชนทั่วไปให้ทราบ

ส่วนประกอบของบั้งไฟ

บั้งไฟมีรูปทรงคล้ายเครื่องดนตรีพื้นบ้านชนิดหนึ่ง เรียกว่า โหวดบั้งไฟแบบดั้งเดิมใช้ลำไม้ไผ่มามัดเป็นลำดับบั้งไฟ ใช้มีดตัดส่วนบั้งไฟให้หัวเป็นปากฉลาม เมื่อจุดบั้งไฟให้พุ่งขึ้นลงจากฟ้าปากฉลามปะทะกับแรงลม ทำให้เกิดเสียงดังโหยหวนคล้ายเสียงโหวดจากรูปทรงบั้งไฟโหวดนี้เองทำให้ช่าง ทำบั้งไฟ ถือเป็นโครงสร้างของบั้งไฟต่อมา บั้งไฟแต่ละลำประกอบด้วยส่วนสำคัญ 3 ส่วน

  1. เลาบั้งไฟ เลาบั้งไฟคือส่วนประกอบที่ทำหน้าที่บรรจุดินปืน มีลักษณะเป็นรูปทรงกระบอกกลมยาว มีความยาวประมาณ 1.5 – 7 เมตร ทำด้วยลำไม้ไผ่แล้วใช้ริ้วไม้ไผ่ (ตอก) ปิดเป็นเกลียวเชือกพันรอบเลาบั้งไฟอีกครั้งหนึ่งให้แน่น และใช้ดินปืนที่ชาวบ้านเรียกว่า”หมื่อ” อัดให้แน่นลงไปในเลาบั้งไฟ ด้วยวิธีใช้สากตำแล้วเจาะรูสายชนวน เสร็จแล้วนำเลาบั้งไฟ ไปมัดเข้ากับส่วนหางบั้งไฟ ในสมัยต่อมานิยมนำวัสดุอื่นมาใช้เป็นเลาบั้งไฟแทนไม้ไผ่ ได้แก่ ท่อเหล็ก ท่อพลาสติก เป็นต้น เรียกว่าเลาเหล็กซึ่งสามารถอัดดินปืนได้แน่นและมีประสิทธิภาพในการยิงได้สูงกว่า
  2. หางบั้งไฟ หางบั้งไฟถือเป็นส่วนสำคัญทำหน้าที่คล้ายหางเสือ ของเรือคือสร้างความสมดุลให้กับบั้งไฟคอยบังคับทิศทางบั้งไฟให้ยิงขึ้นไปในทิศทางตรงและสูง บั้งไฟแบบเดิมนั้น ทำจากไม้ไผ่ทั้งลำ ต่อมาพัฒนาเป็นหางท่อนเหล็กและหางท่อนไม้ไผ่ติดกันหางท่อนเหล็กมีลักษณะเป็นท่อนกลม ทรงกระบอกมีความยาวประมาณ 8-12 เมตร ทำหน้าที่เป็นคานงัดยกลำตัวบั้งไฟชูโด่งชี้เอียงไปข้างหน้าทำมุมประมาณ 30-40 องศากับพื้นดิน โดยบั้งไฟจะยื่นไปข้างหน้ายาวประมาณ 7-8 เมตร ปลายหางด้านหนึ่งตั้งอยู่บนฐานที่ตั้งบั้งไฟ
  3. ลูกบั้งไฟ เป็นลำไม้ไผ่ที่นำมาประกอบเลาบั้งไฟโดยมัดรอบลำบั้งไฟ บั้งไฟลำหนึ่งจะประกอบด้วยลูกบั้งไฟประมาณ 8-15 ลูก ขึ้นอยู่กับขนาดของบั้งไฟ เดิมลูกบั้งไฟมีแปดลูกมีชื่อเรียกเรียงตามลำดับคู่ขนาดใหญ่ไปหาคู่ที่มีขนาดเล็กกว่าได้แก่ ลูกโอ้ ลูกกลาง ลูกนางและลูกก้อย ลูกบั้งไฟช่วยให้รูปทรงของบั้งไฟกลมเรียวสวยงาม นอกจากนี้ลูกบั้งไฟยังเป็นพื้นผิวรองรับการเอ้หรือการตกแต่งลวดลายปะติดกระดาษ ( โดยที่นิยมทั่วไป คือ ลายสับ ส่วนที่เป็นเอกลักษณ์เพียงหนึ่งเดียวที่มีการกำหนดมาตรฐาน ลายกรรไกรตัด ในประเทศไทย คือ “ลายศรีภูมิ” พบมีการทำในเขตอำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด )
สรุปประเพณีบุญบั้งไฟ
Image – rove.me

สรุปประเพณีบุญบั้งไฟ

ประเพณีบุญบั้งไฟเป็นงานประเพณีที่สร้างความสนุกสนาน และความสมัครสมานสามัคคีของประชาชนในชุมชน เป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของชาวอีสานเอาไว้ให้สืบทอดถึงลูกหลาน และสืบสานประเพณีความเชื่อในเรื่องการขอฝนของชาวอีสานที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน อีกทั้งยังเป็นการตักเตือนให้รู้ว่าธรรมชาติเป็นสิ่งไม่แน่นอน เกษตรกรไม่ควรประมาท

ที่มา – wikipedia.org , trueid.net , thai.tourismthailand.org

อ่านต่อ

NaniTalk S.

เป็นนักเขียนที่ขยันขันแข็งและมุ่งมั่นที่จะผลิตเนื้อหาที่มีคุณภาพ เรียนรู้และเติบโตอยู่เสมอ เชื่อว่าเนื้อหาที่ดีสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อโลกได้

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button