วันสำคัญ

วันสถาปนาลูกเสือแห่งชาติ วันลูกเสือโลก

วันสถาปนาลูกเสือแห่งชาติ National Scout Day ตรงกับวันที่ 1 กรกฎาคม ของทุกปี เป็นอีกวันสำคัญวันหนึ่ง ซึ่งเป็นวันสำคัญต่อชาวลูกเสือไทยทั่วประเทศ เพราะเป็นวันคล้าย วันสถาปนาลูกเสือแห่งชาติ มารู้จักประวัติและกิจกรรมวันสถาปนาลูกเสือกัน

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

วันสถาปนาลูกเสือแห่งชาติ

สถาปนาลูกเสือแห่งชาติ (ภาษาอังกฤษ: National Scout Day) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อพระชนมายุได้ 13 พรรษา ได้เสด็จไปทรงศึกษา ณ ประเทศอังกฤษ ระหว่างที่ทรงศึกษาอยู่นั้น ได้ทรงทราบเรื่องการสู้รบเพื่อรักษาเมืองมาฟิคิง (Mafeking) ของลอร์ด เบเดน โพเอลล์ (Lord Baden Powell) ซึ่งตั้งกองทหารเด็กเป็นหน่วยสอดแนมช่วยรบในการรบกับพวกบัวร์ (Boar) จนประสบผลสำเร็จ และตั้งกองลูกเสือแห่งแรกที่ประเทศอังกฤษ เมื่อปี 2450 เมื่อพระองค์เสด็จนิวัติสู่ประเทศไทยก็ได้ทรงจัดตั้งกองเสือป่า (Wild Tiger Corps) ขึ้น เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2454 มีจุดมุ่งหมายเพื่อฝึกหัดให้ข้าราชการและพลเรือนได้เรียนรู้วิชาทหาร ต่อจากนั้นอีก 2 เดือน ก็ได้พระราชทานกำเนิดลูกเสือไทยขึ้นเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2454 ด้วยมีพระราชปรารภว่า เมื่อฝึกผู้ใหญ่เป็นเสือป่า เพื่อเตรียมพร้อมในการช่วยเหลือชาติบ้านเมืองแล้ว เห็นควรที่จะมีการฝึกเด็กชายปฐมวัยให้มีความรู้ทางเสือป่าด้วย เมื่อเติบโตขึ้นจะได้รู้จักหน้าที่และประพฤติตนให้เป็นประโยชน์ต่อชาติบ้านเมือง

จากนั้น ทรงตั้งกองลูกเสือกองแรก ขึ้นที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง (วชิราวุธวิทยาลัย ในปัจจุบัน) และจัดตั้งกองลูกเสือ ตามโรงเรียนต่าง ๆ รวมถึงกำหนดข้อบังคับลักษณะปกครองลูกเสือขึ้น ทั้งพระราชทานคำขวัญแก่ลูกเสือว่า “เสียชีพอย่าเสียสัตย์” โดยผู้ที่นับว่าเป็นลูกเสือไทยคนแรกคือ นายชัพน์ บุนนาค ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “นายลิขิตสารสนอง”

  • 2463 ได้จัดส่งผู้แทนคณะลูกเสือไทย จำนวน 4 คน ไปร่วมงานชุมนุมลูกเสือโลก ครั้งที่ 1 (1st World Scout Jamboree) ซึ่งจัดเป็นครั้งแรกของโลก ณ อาคารโอลิมเปีย กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
  • 2465 คณะลูกเสือไทย ได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกของสมัชชาลูกเสือโลก ซึ่งขณะนั้นมีสมาชิกรวมทั้งสิ้น 31 ประเทศ ประเทศทั้ง 31 ประเทศนี้ นับเป็นสมาชิกรุ่นแรก หรือสมาชิกผู้ก่อการจัดตั้ง (Foundation Members) สมัชชาลูกเสือโลกขึ้นมา
  • 2467 ได้จัดส่งผู้แทนคณะลูกเสือไทย 10 คน ไปร่วมงานชุมนุมลูกเสือโลก ครั้งที่ 2 ณ ประเทศเดนมาร์ก

หลังจากนั้นกิจการลูกเสือก็ได้ซบเซาลง จนในปี 2506 สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี พระราชธิดาพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงรับเป็นองค์อุปถัมภิกา พร้อมกับพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ในรัชกาลที่ 6 ที่ทรงรับไว้พระอนุเคราะห์ (โดยไม่ออกพระนาม) ทำให้กิจการลูกเสือไทยกลับมาฟื้นฟูอีกครั้ง แม้ทั้งสองพระองค์จะสิ้นพระชนม์ไปแล้วแต่ดอกผลแห่งพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ก็ยังใช้จุนเจือกิจการคณะลูกเสือแห่งชาติต่อมา และยังคงได้รับการสืบสานให้เจริญก้าวหน้ามาโดยลำดับนับจนปัจจุบัน โดยมีสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงเป็นประมุขคณะลูกเสือแห่งชาติ และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พร้อมทั้ง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี และ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ทรงเป็นองค์อุปถัมภิกาคณะลูกเสือแห่งชาติ

ประเภทของลูกเสือไทย

  • ลูกเสือสำรอง : อายุตั้งแต่ 7-10 ปี เทียบเท่าชั้นเรียน ป.1 – ป.4 โดยมีคติพจน์คือ ทำดีที่สุด
  • ลูกเสือสามัญ : อายุตั้งแต่ 11-12 ปี เทียบเท่าชั้นเรียน ป.5 – ป.6 โดยมีคติพจน์คือ จงเตรียมพร้อม
  • ลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ : อายุตั้งแต่ 13-15 ปี เทียบเท่าชั้นเรียน ม.1 – ม.3 โดยมีคติพจน์คือ มองไกล
  • ลูกเสือวิสามัญ : อายุตั้งแต่ 16 – 18 ปี เทียบชั้นเรียน ม.4 – ม.6 โดยมีคติพจน์คือ บริการ
  • ลูกเสือชาวบ้าน : อายุตั้งแต่ 15 – 18 ปี มีคติพจน์คือ เสียชีพอย่าเสียสัตย์
  • สำหรับเนตรนารี จะมีรูปแบบประเภทเหมือนกัน แตกต่างกันที่ชื่อเรียก
คำปฏิญาณของลูกเสือ
ภาพจาก : sasint

คำปฏิญาณของลูกเสือ

“ด้วยเกียรติของข้า ข้าสัญญาว่า”

  • ข้อ 1 ข้าจะจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์
  • ข้อ 2 ข้าจะช่วยเหลือผู้อื่นทุกเมื่อ
  • ข้อ 3 ข้าจะปฏิบัติตามกฎของลูกเสือ

กฏของลูกเสือ 10 ข้อ ได้แก่

  • ข้อ 1 ลูกเสือมีเกียรติเชื่อถือได้
  • ข้อ 2 ลูกเสือมีความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์
  • ข้อ 3 ลูกเสือมีหน้าที่กระทำตนให้เป็นประโยชน์และช่วยเหลือผู้อื่นทุกเมื่อ
  • ข้อ 4 ลูกเสือเป็นมิตรของคนทุกคนและเป็นพี่น้องกับลูกเสือทั่วโลก
  • ข้อ 5 ลูกเสือเป็นผู้สุภาพเรียบร้อย
  • ข้อ 6 ลูกเสือมีความเตตากรุณาต่อสัตว์
  • ข้อ 7 ลูกเสือเชื่อฟังคำสั่งของบิดามารดาและผู้บังคับบัญชาด้วยความเคารพ
  • ข้อ 8 ลูกเสือมีใจร่าเริงและไม่ย่อท้อต่อความลำบาก
  • ข้อ 9 ลูกเสือเป็นผู้มัธยัสถ์
  • ข้อ 10 ลูกเสือประพฤติชอบด้วย กาย วาจา ใจ

เพลงราชสดุดีลูกเสือ

ข้าลูกเสือเชื้อไทยใจเคารพ ขอน้อมนบบาทบงสุ์พระทรงศรี พระบาทมงกุฎเกล้าฯ จอมเมาลี ทรงปรานีก่อเกื้อลูกเสือมา ทรงอุตส่าห์อบรมบ่มนิสัย ให้มีใจรักชาติศาสนา ทรงสั่งสอนสรรพกิจวิทยา เป็นอาภาผ่องพุทธิ์วุฒิไกร ดังดวงจันทราทิตย์ประสิทธิ์แสง กระจ่างแจ้งแจ่มภพสบสมัย พระคุณนี้จะสถิตสนิทใน ดวงหทัยทวยราษฎร์ไม่คลาดเอย

กิจกรรมวันสถาปนาลูกเสือ

  1. ทำบุญใส่บาตร เพื่ออุทิศเป็นพระราชกุศลแด่พระองค์ท่านผู้ให้กำเนิดลูกเสือแห่งประเทศไทย
  2. จัดนิทรรศการ เผยแผ่ ประวัติความเป็นมาของลูกเสือและผลงานต่าง ๆ
  3. ร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ในวันลูกเสือ เช่น การนำพวงมาลาไปถวายบังคมที่พระบรมรูปฯ สถานพระบรมราชานุสรณ์ หรือที่ที่ทางราชการกำหนด
  4. เข้าร่วมกิจกรรมสาธารณประโยชน์ต่าง ๆ

พิธีการวันสถาปนาลูกเสือแห่งชาติ

กำหนดการ ระดับสถานศึกษา

  1. กองลูกเสือ เนตรนารี ตั้งแถวในสนาม
  2. ประธาน (ผู้อำนวยการโรงเรียน) มาถึงยืนบนแท่นรับการเคารพ
  3. ผู้บังคับขบวนสวนสนามสั่ง “ลูกเสือ-ตรง” “ทำความเคารพผู้อำนวยการลูกเสือโรงเรียน” “ตรงหน้า, ระวัง” “วันทยา – วุธ”
  4. วงดุริยางค์ลูกเสือบรรเลงเพลงมหาฤกษ์จบเพลง ผู้บังคับขบวนสวนสนาม สั่ง “เรียบ – อาวุธ”
  5. ประธาน เดินไปหน้าโต๊ะหมู่ที่ประดิษฐานพระบรมฉายาลักษณ์พระประมุขคณะลูกเสือแห่งชาติ ถวายความเคารพ (วันทยหัตถ์)
  6. ผู้บังคับขบวนสวนสนาม สั่ง “ลูกเสือตรงหน้า, ระวัง”
  7. ประธานเปิดกรวยดอกไม้ถวายราชสักการะเสร็จแล้วถอยหลัง 1 ก้าว ถวายความเคารพ (วันทยหัตถ์)
  8. ผู้บังคับขบวนสวนสนาม สั่ง “วันทยา – วุธ” วงดุริยางค์ลูกเสือบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี จบเพลงผู้บังคับขบวนสวนสนาม สั่ง“เรียบ – อาวุธ”“ตามระเบียบ, พัก”
  9. ประธานขึ้นยืนบนแท่นรับการเคารพรองผู้อำนวยการลูกเสือ โรงเรียนกล่าวรายงาน กิจการลูกเสือ ในรอบปี
  10. ประธานมอบโล่แก่ผู้มีอุปการคุณ หรือเกียรติบัตรผู้บังคับบัญชาลูกเสือดีเด่น หรือเข็มบำเพ็ญ ประโยชน์ (ถ้ามี)
  11. ผู้กำกับกลุ่มลูกเสือ นำลูกเสือทบทวนคำปฏิญาณ
  12. ประธานให้โอวาท จบคำให้โอวาท ผู้บังคับขบวนสวนสนาม สั่ง “ตรงหน้า,ระวัง” “วันทยา – วุธ”
  13. วงดุริยางค์ลูกเสือบรรเลงเพลงมหาฤกษ์ จบเพลงผู้บังคับขบวนสวนสนาม สั่ง “เรียบ – อาวุธ”
  14. แตรเดี่ยวเป่าให้สัญญาณเตรียมสวนสนาม ๒ ครั้งผู้บังคับขบวนสวนสนามสั่ง “ลูกเสือเตรียมสวนสนาม”
  15. แตรเดี่ยวเป่าให้สัญญาณหน้าเดิน ๒ ครั้งผู้บังคับขบวนสวนสนามสั่ง “แบก – อาวุธ” “เลี้ยวขวา”“หน้าเดิน”
  16. ขบวนลูกเสือ-เนตรนารีสวนสนาม และเดินกลับเข้าสู่ที่ตั้งในสนาม ให้อยู่ในท่าพักตามระเบียบ
  17. ผู้บังคับขบวนสวนสนาม สั่งลูกเสือทำความเคารพประธานในพิธี “ลูกเสือตรงหน้า,ระวัง” “วันทยา-วุธ”วงดุริยางค์ลูกเสือบรรเลงเพลงมหาฤกษ์จบเพลงผู้บังคับขบวนสวนสนาม สั่ง “เรียบ – อาวุธ”
  18. ประธานในพิธีเดินทางกลับผู้บังคับขบวนสวนสนาม สั่ง “แยก”

กำหนดการ ระดับจังหวัด

  1. วงดุริยางค์ กองลูกเสือ เนตรนารี ตั้งแถวสนาม
  2. ผู้อำนวยการจังหวัดมาถึง ผู้บังคับขบวนสวนสนาม สั่ง “ ลูกเสือ- ตรง” “ทำความเคารพผู้อำนวยการ ลูกเสือจังหวัด” “ตรงหน้า,ระวัง” “วันทยา – วุธ”วงดุริยางค์ลูกเสือบรรเลงเพลงมหาฤกษ์ จบเพลงมหาฤกษ์ ผู้บังคับขบวนสวนสนามสั่ง “เรียบ – อาวุธ” “ตามระเบียบ, พัก”
  3. พิธีเชิญธงลูกเสือประจำจังหวัด ( ขบวนเชิญธงประกอบด้วยผู้กำกับลูกเสือ 1 คน แตรเดี่ยว 1 คู่ เจ้าหน้าที่ประจำธง 4 คน และ แถวลูกเสือ 1 กอง )
  4. เมื่อขบวนเชิญธงมาถึง (ตั้ง) ระยะแสดงความเคารพ ผู้บังคับสวนสนามสั่ง “ลูกเสือ-ตรง” “ทำความเคารพธงลูกเสือประจำจังหวัด”“ทางขวา(ทางซ้าย) ระวัง, วันทยา – วุธ”วงดุริยางค์ลูกเสือบรรเลงเพลง มหาชัย 3 จบ เมื่อจบเพลงมหาชัย ขบวนเชิญธงจะหยุดตรงหน้าปะรำพิธีพอดี ผู้บังคับขบวนสวนสนามสั่ง “เรียบ – อาวุธ” “ตามระเบียบ , พัก”
  5. รองผู้อำนวยการลูกเสือจังหวัด รายงานกิจการลูกเสือในรอบปี
  6. ผู้ช่วยผู้ตรวจการลูกเสือจังหวัด อ่านรายชื่อ ผู้เข้ารับเข็มลูกเสือบำเพ็ญประโยชน์ โล่สมนาคุณ
  7. ผู้ตรวจการลูกเสือจังหวัด นำกล่าวทบทวนคำปฏิญาณ
  8. ผู้อำนวยการลูกเสือจังหวัดให้โอวาท จบคำให้โอวาท ผู้บังคับขบวนสวนสนามสั่ง “ลูกเสือตรงหน้า,ระวัง”“วันทยา – วุธ” วงดุริยางค์ลูกเสือบรรเลงเพลงมหาฤกษ์ จบเพลงผู้บังคับขบวนสวนสนามสั่ง “เรียบ – อาวุธ” จบเพลงผู้บังคับขบวนสวนสนามสั่ง “เรียบ – อาวุธ”

การจัดขบวนสวนสนาม

  1. วงดุริยางค์ลูกเสือ
  2. ธงลูกเสือ 4 ประเภท
  3. ผู้บังคับขบวนสวนสนาม (ของจังหวัด)
  4. กองบังคับการผสม (ของจังหวัด)
  5. กองพันลูกเสือประเภทต่าง ๆ
  6. การแสดงกิจกรรม
  7. เชิญธงลูกเสือประจำจังหวัดกลับ
  8. ผู้อำนวยการลูกเสือจังหวัดเดินทางกลับ วงดุริยางค์ลูกเสือบรรเลงเพลงมหาฤกษ์
วันลูกเสือโลก

วันลูกเสือโลก

โรเบิร์ต สตีเฟนสัน สไมธ์ เบเดน-โพเอลล์ (Robert Stephenson Smyth Baden – Powell) หรือมักจะเรียกกันสั้น ๆ ว่า ลอร์ด เบเดน-โพเอลล์ และรู้จักกันดีในวงการลูกเสือในนาม บี.พี. (B.P.) คือผู้ที่ให้กำเนิดกิจการลูกเสือ (SCOUT) ขึ้นมาในโลกใบนี้ การกำเนิดของลูกเสือไม่ได้เกิดขึ้นเพียงข้ามคืน แต่บ่มเพาะอยู่ในตัวของท่าน B.P. มาอย่างยาวนาน
B.P. มีพี่น้อง 7 คน อยู่กับมารดา โดยกำพร้าบิดาตั้งแต่อายุ 3 ขวบ ในวัยเด็กของท่านแสดงให้เห็นถึงนิสัยรักผจญภัย และชอบใช้ชีวิตกลางแจ้ง ท่านมักจะเดินทางไกลไปพักแรมร่วมกับพี่น้องของท่านตามที่ต่าง ๆ ในอังกฤษ ชอบท่องเที่ยวในป่ารอบโรงเรียน ซุ่มดูสัตว์ต่าง ๆ นอกจากนั้น ยังเป็นผู้รักษาประตูมือดี และเป็นนักแสดงละครที่ได้รับความนิยมในโรงเรียน รวมทั้งรักดนตรี และวาดภาพอีกด้วย

เมื่ออายุได้ 19 ปี ท่านได้เข้าร่วมกับกองทหารม้าของอังกฤษไปประจำอยู่ที่อินเดีย ความสามารถอันโดดเด่นด้านการใช้ชีวิตกลางแจ้งของท่าน แสดงให้เห็นจากการที่ท่านได้รับรางวัลการล่าหมูป่าบนหลังมาด้วยหอกเล่มเดียว (Pig Sticking) ซึ่งเป็นกีฬาที่อันตราย และได้รับความนิยมอย่างมาก

ในปี 2430 B.P. ได้ไปประจำการอยู่ในแอฟริกา ซึ่งต้องรบกับชนเผ่าพื้นเมืองที่ป่าเถื่อนดุร้าย ไม่ว่าจะเป็น ซูลู อาซันติ หรือมาตาบีลี และด้วยความสามารถของท่านในการสอดแนม การสะกดรอย รวมทั้งความกล้าหาญของท่าน ทำให้ท่านเป็นที่หวาดกลัวของบรรดาชนพื้นเมืองจนถึงกับตั้งฉายาท่านว่า “อิมปีซ่า” (Impeesa) หมายความว่า “หมาป่าผู้ไม่เคยหลับนอน” และด้วยความสามารถของท่าน ทำให้ท่านได้เลื่อนยศอย่างรวดเร็ว
ในปี 2432 อังกฤษมีปัญหาด้านความสัมพันธ์กับสาธารณรัฐทรานสวาล พันเอก เบเดน-โพเอลล์ ได้รับคำสั่งให้นำทหารม้าสองกองพันเดินทางไปป้องกันเมืองมาฟอีคิง ซึ่งเป็นเมืองยุทธศาสตร์สำคัญ เพราะตั้งอยู่ใจกลางของแอฟริกาใต้ ที่นี่เองเป็นสถานที่ที่ทำให้ท่านได้รับชื่อเสียงเป็นอย่างมาก ในการรักษาเมืองไว้จากเงื้อมมือของข้าศึกที่ล้อมอยู่ด้วยกำลังมากกว่าอย่างมหาศาลไว้ได้ถึง 217 วัน จนกระทั่งกองทหารของอังกฤษได้บุกเข้าไปช่วยเหลือเป็นผลสำเร็จ

หลังจากศึกคราวนี้ ท่านได้เลื่อนยศเป็นพลตรี และได้รับการนับถือจากชาวอังกฤษให้เป็นวีรบุรุษ

ในปี 2444 B.P. เดินทางกลับไปยังอังกฤษ และด้วยชื่อเสียงของท่านในฐานะวีรบุรุษ ทำให้หนังสือที่ท่านเขียนขึ้นเพื่อให้ทหารอ่าน ชื่อ “Aids to Scoutting” หรือ “การสอดแนมเบื้องต้น” ได้รับความนิยมจนกระทั่งนำไปใช้เป็นแบบเรียนในโรงเรียนชายมากมาย

จุดนี้เอง ทำให้ B.P. เกิดประกายความคิดถึงโอกาสที่จะพัฒนาเด็กอังกฤษให้เติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่เข้มแข็ง เพราะถ้าหนังสือสำหรับผู้ใหญ่เกี่ยวกับการปฏิบัติการสอดแนม สามารถดึงดูดความสนใจของเด็กได้ ถ้าท่านทำหนังสือสำหรับเด็กโดยเฉพาะก็คงจะได้ผลมากยิ่งขึ้น

B.P. จึงเริ่มศึกษาเรื่องราวของการฝึกอบรมเด็กจากทุกยุคทุกสมัย และนำประสพการณ์ในอินเดีย และแอฟริกา มาดัดแปลง และค่อย ๆ พัฒนาความคิดเกี่ยวกับการลูกเสืออย่างช้า ๆ ด้วยความระมัดระวัง จนกระทั่งฤดูร้อนของปี 2450 ท่านจึงได้รวบรวมเด็กยี่สิบคน ไปพักแรมกับท่านที่เกาะบราวซี (Brownsea) ในช่องแคบอังกฤษ ซึ่งนับเป็นการอยู่ค่ายพักแรมของลูกเสือครั้งแรกของโลก และประสพผลสำเร็จอย่างงดงาม

ต้นปี 2451 B.P. ได้จัดพิมพ์คู่มือการฝึกอบรมขึ้น แบ่งออกเป็นหกตอนในชื่อ “Scoutting for Boys” หรือ “การสอดแนมสำหรับเด็ก” ซึ่งมีภาพประกอบที่เขียนโดยตัวท่านเองอยู่ด้วย เมื่อหนังสือเริ่มวางจำหน่าย แม่แต่ตัวท่านเองก็ไม่นึกไม่ฝันว่า มันจะเป็นจุดที่ทำให้เกิดกองลูกเสือขึ้นมากมาย ไม่เฉพาะในอังกฤษเท่านั้น แต่แพร่หลายไปในหลาย ๆ ประเทศอีกด้วย

เมื่อกิจการลูกเสือเติบโตขึ้น B.P. ได้มองเห็นโอกาสที่จะได้ทำประโยชน์ให้กับสังคมได้ ด้วยการใช้การลูกเสือบ่มเพาะเด็กรุ่นใหม่ให้เป็นพลเมืองดี แทนที่จะต้องมาฝึกผู้ใหญ่ให้เป็นทหาร ท่านจึงได้ลาออกจากกองทัพในปี 2453 ขณะที่มียศพันโท เพื่อเดินเข้าสู่ชีวิตที่ท่านเรียกว่า “ชีวิตที่สอง” (Second Life) ที่ให้บริการโลกใบนี้ด้วยกิจการลูกเสือ และได้รับผลรางวัลเป็นความรักและนับถือจากลูกเสือทั่วโลก

ปี 2455 B.P. เดินทางรอบโลกไปพบปะกับลูกเสือในประเทศต่าง ๆ และเริ่มต้นเสริมสร้างการเป็นพี่น้องกันของลูกเสือทั่วโลก น่าเสียดายที่สงครามโลกครั้งที่หนึ่งทำให้งานนี้ต้องหยุดชงักลงชั่วขณะ แต่ก็เริ่มสานต่อหลังจากสงครามสิ้นสุดลง

จนกระทั่งปี 2463 ก็ได้จัดให้มีการชุมนุมลูกเสือระหว่างประเทศขึ้นในกรุงลอนดอน ซึ่งถือเป็นการชุมนุมลูกเสือโลกเป็นครั้งแรก (1st World Jamboree) และในคืนวันสุดท้ายของการชุมนุม บรรดาลูกเสือที่เข้าร่วมชุมนุมก็ร่วมกันประกาศให้ B.P. ดำรงตำแหน่งประมุขของคณะลูกสือโลก (Chief Scout of the World) และเมื่อกิจการลูกเสือดำเนินมาครบ 21 ปี พระเจ้ายอร์ชที่ 5 ก็ได้พระราชทานบรรดาศักดิ์ให้ท่านเป็นขุนนาง มีชื่อยศว่า Lord Baden Powell of Gilwell เมื่อ B.P. มีอายุครบ 80 ปี กำลังของท่านก็เริ่มทรุดลง ท่านได้กลับไปพักผ่อนในช่วงบั้นปลายชีวิตในแอฟริกาที่ท่านรัก และถึงแก่กรรมในวันที่ 8 มกราคม 2484 เมื่อมีอายุ 84 ปี

NaniTalk S.

เป็นนักเขียนที่ขยันขันแข็งและมุ่งมั่นที่จะผลิตเนื้อหาที่มีคุณภาพ เรียนรู้และเติบโตอยู่เสมอ เชื่อว่าเนื้อหาที่ดีสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อโลกได้

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button