นิทานชาดก

นิทานชาดก : ชื่อนั้นสำคัญไฉน

ชื่อเป็นสิ่งที่ติดตัวเรามาตั้งแต่เกิด บางคนมีชื่อที่ไพเราะ บางคนมีชื่อที่ความหมายดี แต่บางคนก็อาจรู้สึกไม่ชอบชื่อของตัวเอง คิดว่าชื่อไม่เป็นมงคล ส่งผลต่อชีวิตไม่ดี จึงอยากจะเปลี่ยนชื่อใหม่

Advertisement

ชื่อนั้นสำคัญไฉน

ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้า ประทับอยู่วัดเชตวัน เมืองสาวัตถี ทรงปรารภพระภิกษุผู้หวังความสำเร็จโดยชื่อรูปหนึ่ง ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธกว่า…

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พระโพธิสัตว์เกิดเป็นอาจารย์ทิศาปาโมกข์ อยู่ในเมืองตักกสิลา มีลูกศิษย์คนหนึ่งชื่อว่า ปาปกะ (นายบาป) เขาคิดว่าชื่อของเขาไม่เป็นมงคล จึงเข้าไปหาอาจารย์ และขอให้อาจารย์ตั้งชื่อให้ใหม่ อาจารย์จึงบอกให้ไปเที่ยวแสวงหาชื่อที่ตนเองชอบใจมาแล้วจะทำพิธีเปลี่ยนชื่อให้

เขาได้ออกเดินทางไปแสวงหาชื่อใหม่ จนถึงเมืองหนึ่ง เดินผ่านขบวนญาติหามศพไปป่าช้า จึงถามถึงชื่อคนตาย พวกญาติจึงบอกชื่อว่า ชีวกะ(นายบุญรอด) เขาถามว่า “ชื่อชีวกะก็ตายหรือ ?” พวกญาติจึงกล่าวว่า “จะชื่ออะไร ๆ ก็ตายทั้งนั้น ชื่อเป็นเพียงบัญญัติสำหรับเรียกกันเท่านั้น”

บทความที่เกี่ยวข้อง
Advertisement

พอเดินเข้าไปในเมือง พบเห็นพวกนายทุนกำลังจับนางทาสีเฆี่ยนด้วยเชือกอยู่ จึงถามความนั้นทราบว่านางไม่ยอมให้ดอกเบี้ยจึงถูกลงโทษแทน ถามถึงชื่อนางทาสีนั้น ทราบว่าชื่อนางธนปาลี (นางรวย) จึงถามว่า “ชื่อรวย ยังไม่มีเงินดอกเบี้ยหรือ ?” พวกนายทุนจึงตอบว่า “จะชื่อรวยหรือจน เป็นคนยากจนได้ทั้งนั้น ชื่อเป็นเพียงบัญญัติเรียกกันเท่านั้น” เขาเริ่มรู้สึกเฉยๆ ในเรื่องชื่อยิ่งขึ้น

เขาได้เดินทางออกจากเมืองไป ในระหว่างทางพบคนหลงทางคนหนึ่ง จึงถามชื่อ ทราบว่าชื่อ ปันถกะ(นายชำนาญทาง) จึงถามว่า “ขนาดชื่อชำนาญทางยังหลงทางอยู่หรือ ?” คนหลงทางจึงตอบว่า “จะชื่อชำนาญทางหรือไม่ชำนาญทาง ก็มีโอกาสหลงทางได้เท่ากัน เพราะชื่อเป็นบัญญัติสำหรับเรียกกันเท่านั้น”

เขาจึงวางเฉยในเรื่องชื่อ เดินทางกลับไปพบอาจารย์ แล้วเล่าเรื่องที่ตนพบเห็นมาให้ฟัง และขอให้ชื่อนายบาปเช่นเดิม อาจารย์จึงกล่าวคาถานี้ว่า

“เพระเห็นคนชื่อเป็นได้ตายไป หญิงชื่อรวยกลับตกยาก และคนชื่อว่านักเดินทางแต่กลับหลงทางอยู่ในป่า นายปาปกะจึงได้กลับมา”

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า

ชื่อนั้นไม่ใช่สิ่งสำคัญ

Advertisement

Advertisement

Fern A.

สามารถสร้างสรรค์เรื่องราวที่หลากหลาย ทั้งนิทาน นิทานชาดก และนิทานอีสป โดยฉันจะเน้นไปที่การถ่ายทอดเรื่องราวที่สนุกสนานและเต็มไปด้วยข้อคิดสอนใจ เพื่อให้ผู้อ่านได้รับประโยชน์จากเรื่องราวเหล่านั้น เชื่อว่านิทานเป็นสื่อที่ทรงพลัง สามารถปลูกฝังค่านิยมที่ดีให้กับเด็ก ๆ ได้ นิทานสามารถช่วยให้เด็ก ๆ เรียนรู้เกี่ยวกับโลกรอบตัว รู้จักการคิดวิเคราะห์ รู้จักแยกแยะสิ่งดีสิ่งเลว รู้จักแก้ไขปัญหา และรู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่น

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button