วันสำคัญ

วันการบินแห่งชาติ วันที่ 13 มกราคม

วันที่ 13 มกราคม วันการบินแห่งชาติ (ภาษาอังกฤษ: Thailand’s National Aviation Day) ของทุกปี มีความสำคัญและประวัติอย่างไร การบินนั้นมีความสำคัญกับประเทศไทยมาตั้งแต่สมัยอดีตจนถึงปัจจุบัน

ประวัติศาสตร์การบินของไทย

วันการบินแห่งชาติ

ประวัติศาสตร์การบินของไทย

ในปี 2454 ได้มีชาวต่างประเทศนำเครื่องบินแบบอองรีฟาร์มังมาแสดง การบินในประเทศไทย หลังการแสดงการบินของชาวต่างประเทศในปีเดียวกัน จอมพล สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ ภูวนารถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานารถ (เสนาธิการ ทหารบก ) ได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลต่อ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ถึงความจำเป็นและประโยชน์ของเครื่องบิน ที่ต้องมีไว้เพื่อป้องกันประเทศ หลังนำความขึ้น กราบบังคมทูลกระทรวงกลาโหมได้มีคำสั่งให้นายทหารนักบิน จำนวน 3 นาย ได้แก่ นายพันโท หลวงศักดิ์ศัลยาวุธ , นายพันตรี หลวงอาวุธสิธกร และนายร้อยเอกหลวงทยาน พิมาฎ ไปศึกษาวิชาการบิน ณ ประเทศฝรั่งเศส โดยในระหว่างที่นายทหารนักบินศึกษา วิชาการบินอยู่นั้น กระทรวงกลาโหมได้มีคำสั่งซื้อเครื่องบินจำนวน 8 ลำ หลังนายทหาร นักบินทั้ง 3 นาย สำเร็จการศึกษาได้เดินทางกลับประเทศไทยพร้อม เครื่องบินจำนวน 8 ลำ ที่กระทรวงกลาโหมสั่งซื้อ

เมื่อเครื่องบินถึงประเทศไทย นายทหารนักบินทั้ง 3 นาย ได้ ทดลองเครื่องบินครั้งแรกในวันที่ 29 ธันวาคม 2456 หลังจากนั้นในวันที่ 13 มกราคม 2456 (ขณะนั้นประเทศไทยนับ วันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่จนถึงปี 2483) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตร การแสดงการบินครั้งแรกของประเทศ โดยนายทหาร นักบินไทยจำนวน 3 นาย ที่สำเร็จ การศึกษาวิชาการบินจากประเทศฝรั่งเศสและ ใช้เครื่องบินที่เป็นสมบัติของชาติไทยบิน ถวายหน้าพระที่นั่ง ซึ่งขณะนั้นประเทศไทย ได้เริ่มจัดตั้งแผนกการบิน โดยมีสนามบินและ โรงเก็บเครื่องบินที่สนามม้าสระปทุม นับเป็นการริเริ่มกิจการบินของประเทศไทย

จาก เหตุการณ์ดังกล่าวมูลนิธิอนุรักษ์และพัฒนาอากาศยานไทยในพระบรม ราชูปถัมภ์ได้ น้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีต่อ กิจการบินของชาติ จึงได้นำเรื่องเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติคณะรัฐมนตรีได้เห็น ความสำคัญของเหตุการณ์ดังกล่าวและได้มีมติเมื่อ วันที่ 31 พฤษภาคม 2537 กำหนดให้วันที่ 13 มกราคมของทุกปีเป็นวันการบินแห่งชาติ โดยเริ่มตั้งแต่ 2538 เป็นต้นมา เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และในวันนี้ได้มีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนได้ทราบถึงประวัติความเป็นมาของการบินไทย และคุณประโยชน์ของกิจการการบิน

นักบิน

นายทหารนักบินรุ่นแรก

พลอากาศโทพระยาเฉลิมอากาศ (บุพการีทหารอากาศ 1)

เกิดที่จังหวัดสุพรรณบุรี ชื่อเดิมคือ สุนี สุวรรณประทีป สมัยที่ดำรงยศ นายพันตรี หลวงศักดิ์ศัลยาวุธ ได้รับคัดเลือกให้ไปเรียนวิชาการบินที่ประเทศฝรั่งเศส เมื่อปี พ.ศ. 2554 และได้รับพระราชทานเลื่อนยศเป็นนายพันโท ขณะเข้ารับการศึกษาวิชาการบิน เมื่อปี พ.ศ.2456 ถือเป็นคนไทยคนแรกที่เข้าศึกษาวิชาการบินในโรงเรียนการบิน วิลลาคูเบลย์

เมื่อศึกษาวิชาการบินในโรงเรียนจบ ก็ได้เข้าเรียนต่อที่โรงเรียนการบินชั้นสูงของกองทัพบกฝรั่งเศส กระทั่งสามารถสอบได้รับประกาศนียบัตรนักบินรบซึ่งเป็นชั้นสูงสุด หลังสำเร็จการศึกษาแล้วจึงเดินทางกลับประเทศไทย และเข้ารับราชการในกรมจเรทหารช่างโดยรับผิดชอบด้านการบิน ณ สนามม้าสระปทุม

เมื่อกระทรวงกลาโหมได้จัดตั้งกองบินทหารบกขึ้นในปี 2457 นายพันโทหลวงศักดิ์ศัลยาวุธ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้บังคับการกองบินทหารบกคนแรกของประเทศไทย และเป็นผู้ที่นำกำลังพลของไทยไปเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่ประเทศฝรั่งเศส จนได้รับชัยชนะร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร ภายหลังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้ากรมอากาศยานทหารบกคนแรก และได้รับพระราชทานเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น “พระยาเฉลิมอากาศ” ในปี 2463

นาวาอากาศเอก พระยาเวหาสยานศิลปสิทธิ์ (บุพการีทหารอากาศ 2)

เกิดที่จังหวัดกรุงเทพมหานคร ชื่อเดิมคือ หลง สินศุข เป็นบุตรของพระยาภาณุพันธุวรเดช และคุณหญิงภาณุพันธ์ (เพียน) สืบเชื้อสายมาจากพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษ และสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช สมัยที่มียศเป็น นายร้อยเอก หลวงอาวุธสิขิกร รั้งตำแหน่งผู้บังคับกองพันพิเศษ กองพลที่ 5 ได้รับเลือกให้เดินทางไปศึกษาการบินที่ประเทศฝรั่งเศส ก่อนจะได้รับการเลื่อนยศให้เป็น นายพันตรี เมื่อปี พ.ศ.2455 ขณะเข้ารับการศึกษาวิชาการบิน

นายพันตรีหลวงอาวุธสิขิกรได้ศึกษาวิชาการบิน และยังได้เรียนรู้การซ่อมเครื่องบิน กระทั่งในปี 2456 ก็สำเร็จการศึกษาวิชาการบินตามหลักสูตรของสโมสรการบินฝรั่งเศส และเดินทางกลับประเทศไทยในปีเดียวกัน โดยกลับมาเข้ารับราชการในกรมจเรทหารช่าง รับผิดชอบด้านการบิน ณ สนามม้าสระปทุม

เมื่อมีการตั้งกองบินทหารบกขึ้น นายพันตรี หลวงอาวุธสิขิกร ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยบังคับการ จากนั้นอีก 4 ปีให้หลัง ก็ได้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงงานของกรมอากาศยานทหารบกเป็นท่านแรก และได้รับแต่งตั้งให้เป็น นายพันเอก พระยาเวหาสยานศิลปสิทธิ์ ในปี 2467

จากนั้น ในปี 2475 นายพันตรี หลวงอาวุธสิขิกร ได้เข้ารับตำแหน่งเจ้ากรมอากาศยานต่อจากนายพลตรีพระยาเฉลิมอากาศ และได้รับพระราชทานยศและบรรดาศักดิ์เป็น “นาวาอากาศเอกพระยาเวหาสยานศิลปสิทธิ์” เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2491

นาวาอากาศเอก พระยาทะยานพิฆาต (บุพการีทหารอากาศ 3)

เกิดที่จังหวัดกรุงเทพมหานคร ชื่อเดิมคือ ทิพย์ เกตุทัต ได้รับเลือกเป็น 1 ใน 3 นายทหารให้ไปเรียนวิชาการบินที่ประเทศฝรั่งเศสขณะที่มียศเป็นร้อยโท และได้รับพระราชทานเลื่อนยศเป็นนายร้อยเอก ขณะกำลังศึกษา

ทั้งนี้ แม้ว่าในระหว่างเข้ารับการศึกษา นายร้อยเอก ทิพย์ เกตุทัต จะประสบอุบัติเหตุเครื่องบินตกจนได้รับบาดเจ็บ แต่ก็พักรักษาตัวจนสามารถกลับมาศึกษาต่อได้จนสำเร็จวิชาการบิน ก่อนจะเดินทางกลับประเทศไทยในปี 2456 จากนั้น เข้ารับราชการในกรมจเรทหารช่าง โดยรับผิดชอบด้านการบิน ณ สนามม้าสระปทุม (ราชกรีฑาสโมสร)

นายร้อยเอก ทิพย์ เกตุทัต ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยผู้บังคับการกองบินทหารบก ร่วมกับนายพันตรี หลวงอาวุธสิขิกร หลังจากกระทรวงกลาโหมได้ก่อตั้งกองการบินทหารบกขึ้น ต่อมา นายร้อยเอก ทิพย์ เกตุทัต ได้ประดิษฐ์ “หีบเครื่องเขียนใบแจ้งเหตุแบบเกตุทัต พ.ศ.๒๔๕๘” ขึ้น เพื่อไว้ใช้ส่งข่าวจากเครื่องบิน จึงได้รับการยกย่องจากกระทรวงกลาโหม

ในปี 2461 นายร้อยเอก ทิพย์ เกตุทัพ ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บังคับการกองบิน กรมอากาศยานทหารบก และเลื่อนยศเป็นนายพันตรี จากนั้น หน้าที่การงานเจริญก้าวหน้าขึ้นตามลำดับ เป็นผู้บังคับการกองบินทหารบก กองทหารอาสา ในครั้งที่ไปราชการสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่ประเทศฝรั่งเศส ได้รับแต่งตั้งเป็นปลัดกรมอากาศยาน เป็นผู้อำนวยการกองโรงงานอากาศยาน กระทั่งในปี 2479 ได้รับพระราชทานยศและบรรดาศักดิ์เป็นนายนาวาอากาศเอก พระยาทะยานพิฆาต

โดยทั้ง 3 ท่าน ได้รับการยกย่องให้เป็นบุพการีของกองทัพอากาศ ในฐานะที่ได้รับคัดเลือกให้ไปศึกษาวิชาการบินเป็นกลุ่มแรกของประเทศไทย และได้นำวิชาความรู้ที่ได้รับมาช่วยพัฒนากิจการการบินของชาติได้เจริญก้าวหน้าเรื่อยมา

อ่านต่อ

NaniTalk S.

เป็นนักเขียนที่ขยันขันแข็งและมุ่งมั่นที่จะผลิตเนื้อหาที่มีคุณภาพ เรียนรู้และเติบโตอยู่เสมอ เชื่อว่าเนื้อหาที่ดีสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อโลกได้

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button